xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่สร้างทางกลับรถต่างระดับที่เกาะแก้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินสั่งทำข้อมูลเปรียบเทียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เลขาธิการสำนักงานตรวจการแผ่นดิน ให้เวลา 3 สัปดาห์กรมทางหลวง ทำรูปแบบเปรียบเทียบโครงการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างทางกลับรถต่างระดับ หรือโครงการเกือกม้าเกาะแก้ว หลังมีการเรียกร้องให้ปรับโครงการ ชี้การดำเนินการต้องเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (28 ก.ย.) ที่ห้องประชุมแขวงการทาง จ.ภูเก็ต นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย นายปรีดา เวทยาวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 3 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะร่วมประชุมกับ นายปฏิเวชวุฒิศักดิ์ สุขขี ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงภูเก็ต หัวหน้าโครงการ/ผู้แทนสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง นายสมพร รัตนบุรี ผอ.กองกลุ่มออกแบบกรมทางหลวง วิศวกร และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทางกลับรถต่างระดับบนทางหลวงหมายเลข 402 หรือถนนเทพกระษัตรี หรือทางเกือกม้า บริเวณหน้าบ้านหยี่เต้ง ต. ศรีสุนทร อ.เมือง จ.ภูเก็ต หลังได้รับการร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินโครงการดังกล่าวถึงความไม่เป็นธรรมในการจัดรับฟังความคิดเห็น และความไม่ได้รับรู้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในช่วงที่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจราชการแผ่นดิน กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อมาติดตามใน 2 เรื่อง คือ ความล่าช้าของการสร้างอุโมงค์ทางลอดช่องสามกอง ซึ่งเรื่องนี้ได้ลงไปตรวจสอบ และติดตามปัญหามาแล้ว ซึ่งขณะนี้ทางผู้รับเหมากำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ และรับว่าทางลอดดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้ทางผู้รับเหมาก็ถูกปรับในส่วนของการส่งมอบงานช้าอยู่แล้ววันละ 200 ล้านบาท และอีกเรื่องคือ การสร้างทางกลับรถต่างระดับ บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 402 ซึ่งในส่วนของจังหวัดภูเก็ต จะมีการดำเนินการการก่อสร้าง 2 จุด คือ ที่บริเวณแยกมุดดอกขาว ใกล้กับทางเข้าสนามบินภูเก็ต และบริเวณเกาะแก้ว ใกล้กับบ้านหยี่เต้ง ซึ่งทางสำนักงานตรวจการแผ่นดินได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านจึงได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

โดยทางผู้แทนจากกรมทางหลวงได้ชี้แจงถึงความเป็นมาของโครงการก่อสร้างทางกลับรถต่างระดับ ว่า มีการก่อสร้าง 2 จุด คือ ที่บริเวณแยกมุดดอกขาว และบริเวณ ต.เกาะแก้ว ใกล้กับบ้านหยี่เต้ง ซึ่งการก่อสร้างจะต้องมีการเวนคืนพื้นที่บริเวณก่อสร้างเข้าไปในที่ดินของประชาชนด้านละ 10 เมตร ใช้งบประมาณในการดำเนินการจุดละ 200 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้มีการเซ็นสัญญาในการก่อสร้างไปกับทางผู้รับเหมาแล้ว สาเหตุที่ต้องมีการดำเนินโครงการดังกล่าวเนื่องจากภูเก็ตมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจำนวนมาก และมีจุดกลับรถจำนวนหลายจุด จึงต้องมีการดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการจราจร เรื่องของการลดอุบัติเหตุ โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการแจ้งผู้ที่ได้รับผลกระทบในการเข้าไปสำรวจทรัพย์สินเพื่อเวนคืนที่ดิน

ขณะที่ นายสุวิทย์ เสงี่ยมกุล หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างทางกลับรถระดับบนทางหลวงหมายเลข 402 หรือถนนเทพกระษัตรี หรือทางเกือกม้า บริเวณหน้าบ้านหยี่เต้ง ต.ศรีสุนทร อ.เมือง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบยินดีที่จะให้ทางกรมทางหลวงทำเป็นทางกลับรถ แต่ขอให้เปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินการ อาจจะทำเป็นอุโมงค์ หรือทางกลับรถบนทางเรียบ ซึ่งยินดีที่จะให้มีการเวนคืนที่ดิน แต่ไม่เห็นด้วยที่จะมีการสร้างเป็นทางยกระดับ ซึ่งในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ยอมรับผลกระทบในจุดนี้อยู่แล้ว แต่ก็ยินดีที่จะสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และทำให้บ้านเมืองสวยงามขึ้น ภูเก็ตเป็นเมืองค้าขาย เรื่องของฮวงจุ้ยถือเป็นเรื่องสำคัญ การมีอะไรมาขวางทางเข้าถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี เมื่อมีอะไรมาขวางปากทางเข้า จะกินก็ลำบาก ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร เพราะฉะนั้นการดำเนินการจะต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกันจะมีการเวนคืนบ้างก็ไม่มีปัญหา

เช่นเดียวกับ นายจรัญ แก้วน้อย กล่าวว่า ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นตนเคยเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาการสร้างทางกลับรถต่างระดับไปแล้วว่าควรที่จะทำเป็นอุโมงค์ หรือทางกลับรถทางเรียบโดยการขยายพื้นที่ของถนนให้กว้างขึ้น ซึ่งทางเจ้าของที่ดินเองก็พร้อมที่จะเสียสละในจุดนี้ แต่ก็ไม่เข้าใจทำไมถึงไม่เลือกแนวทางอื่นในการดำเนินการ ซึ่งเมื่อสร้างแล้วไม่มีปัญหาเรื่องของการทำลายทัศนียภาพ และกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด เพียงแต่จะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการที่สูงขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากรับฟังการนำเสนอจากทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และในส่วนของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจราชการแผ่นดิน ได้สรุปแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ให้กรมทางหลวงกลับไปทำข้อมูลเปรียบเทียบในการดำเนินโครงการดังกล่าวในรูปแบบต่างๆ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และจะต้องเกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยให้เวลาในส่วนของหน่วยงานรัฐจัดทำข้อมูล 3 สัปดาห์ หลังจากนั้น จะกลับมาพิจารณากันอีกครั้งถึงแนวทางการดำเนินโครงการว่าจะเดินหน้าไปอย่างไรในการแก้ไขปัญหาการจราจรในจุดดังกล่าว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น