พัทลุง - เกษตรกรชาวตะโหมด จ.พัทลุง ใช้เวลาหลังฝนตกลงมาทำให้พื้นดินมีความชุ่มชื้น ร่วมกันลงแขกปลูกข้าวไร่พันธุ์พื้นเมือง อย่างข้าวหอมดอกพะยอม ข้าวเหนียวดำ ที่มีอายุเก็บเกี่ยวนานกว่าปกติ แต่มีราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป
วันนี้ (23 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปลูกข้าวไร่ในพื้นที่ จ.พัทลุง ในอดีตมีการเพาะปลูกกันมาก แต่ในปัจจุบันพบว่า มีน้อยรายที่ทำข้าวไร่เพื่อปลูกข้าวส่งขาย เพราะสภาพพื้นที่ไม่อำนวย แต่ชาวบ้านโหล๊ะบ้า ยังคงยึดอาชีพปลูกข้าวไร่มานาน และต่อเนื่อง หลังจากมีการโค่นล้มสวนยางพาราหมดสภาพเพื่อปลูกทดแทนใหม่ ซึ่งในช่วงที่ต้นยางพาราเล็ก 2-3 ปี ใช้ที่ว่างระหว่างแถวปลูกข้าวไร่ขายเป็นอาชีพเสริม
นายวิชิต ม้งชูเรือง ชาวบ้านโหล๊ะบ้า ต.คลองใหญ่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวว่า การปลูกข้าวไร่ หรือที่ชาวบ้านเรียกกว่า การน่ำข้าวนั้น ขั้นตอนการปลูกจะเริ่มจากการเตรียมดิน แล้วนำไม้ขนาดยาวพอดีมาปักเป็นหลุมเล็กขนาดกว้างยาว 1 ฟุต บนแปลงที่เตรียมไว้ แล้วทำการหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เตรียมไว้ลงหลุมก่อนกลบดินทับเล็กน้อย เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่เมล็ดข้าวที่หยอดลงไป พอข้าวงอกก็กำจัดวัชพืช ทิ้งไว้ 4 เดือนกว่าก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
ขณะที่ นายอาญัติ แหละปานแก้ว อายุ 56 ปี เกษตรกรที่ปลูกข้าวไร่ กล่าวว่า ข้าวไร่จะมีราคาสูงกว่าข้าวในทุ่งนา และได้กำไรกว่าเนื่องจากไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง แถมให้ผลผลิตสูง และการปลูกข้าวไร่นั้นยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในชุมชน ช่วงเพาะปลูกนั้น ญาติๆ และคนในหมู่บ้านจะมาร่วมด้วยช่วยกัน ผลัดกันช่วยในแต่ละราย หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า การลงแขก หรือการออกปากทำข้าวไร่นั่นเอง หลังเสร็จยามเย็นก็จะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน
การน่ำข้าว หรือการปลูกข้าวไร่ เป็นวิถีทางเกษตรอีกทางเลือกหนึ่งของชาวพัทลุง แต่วิถีอาชีพนี้ปัจจุบันไม่เห็นบ่อยนัก เนื่องจากมีวิถีชีวิตสังคมเมือง สังคมของการแข่งขันที่มีสูงขึ้น