xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์พันธุ์เมล็ดข้าวสุราษฎร์ฯ จัดกิจกรรม “วันกินข้าวหอมไชยา” โด่งดังเรื่องความหอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - ศูนย์พันธุ์เมล็ดข้าวสุราษฎร์ธานี จัดกิจกรรม “วันกินข้าวหอมไชยา” ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่โด่งดังในเรื่องความอร่อยและกลิ่นหอม โดยนำข้าวหอมไชยามาแปรรูปเป็นอาหาร และขนมหลายชนิด ได้รับความสนใจมีผู้ร่วมงานกันอย่างคึกคัก และสาธิตการดำนา

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (28 มิ.ย.) ทางศูนย์พันธุ์เมล็ดข้าวสุราษฎร์ธานี จัดกิจกรรมวันกินข้าวหอมไชยา ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี โดยมี นายวินัย ชมพูแก้ว ผู้อำนวยการกองเมล็ดพันธุข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน โดยมีการเปิดหม้อข้าวไชยาที่หุงด้วยหม้อดินมีกลิ่นหอมกระจายไปทั่วทุ่ง ซึ่งข้าวหอมไชยา มีจุดเด่นตรงที่ว่าเมื่อข้าวออกรวงกลิ่นหอมไปทั่วทุ่ง เมื่อหุงหอมไปทั่วบ้าน ได้รับความสนใจจากชาวนาหลายจังหวัดของภาคใต้เข้าร่วมงานอย่างคึกคัก

โดยในช่วงเช้าได้มีพิธีสมโภชแม่พระโพสพ และทำขวัญข้าวตามความเชื่อของชาวนาที่บูชาพระแม่โพสพตามประเพณี พร้อมกันนี้ เกษตรกรได้นำข้าวหอมไชยา มาแปรรูปเป็นอาหารหลากหลายทั้งไอศกรีม ขนมครก ขนมลา ขนมจาก มาแจกจ่ายให้แก่ผู้ร่วมงานได้ลิ้มลองถึงความอร่อยแ ละมีคุณค่าทางอาหารตามหลักโภชนาการ ซึ่งทุกคนต่างบอกว่ามีกลิ่นหอม รสชาติอร่อยไม่เหมือนกับข้าวหอมอื่นๆ

ต่อจากนั้น นายวินัย ชมพูแก้ว ผู้อำนวยการกองเมล็ดพันธุข้าว พร้อมคณะได้สาธิตการดำนาใช้ต้นกล้าพันธุ์ข้าวหอมไชยาในแปลงสาธิต ก่อนที่จะปลูกข้าวไร่แบบวิธีดั้งเดิม หรือภาษาภาคใต้เรียกว่าหนำข้าว หรือแทงศักดิ์ โดยใช้ไม้กลมๆ ยาวประมาณ 2 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. ยืนแถวหน้ากระดานปักเป็นหลุมเล็กๆ โดยมีผู้นำเมล็ดข้าวหอมหยอดเมล็ดข้าวลงไปในหลุมดังกล่าว และปล่อยให้ข้าวเจริญเติบโตจนกออกรวงโดยที่ไม่ต้องดูแลมาก

ด้านนายสน ฉิมพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินงานโครงโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมกิจกรรมพัฒนาการผลิตข้าวหอมไชยาตั้งแต่ปี 2544 โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นอนุรักษ์ และส่งเสริมการผลิตข้าวหอมไชยาที่กำลังจะสูญหายให้เป็นที่รู้จัก และเพิ่มพื้นที่ปลูกให้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับข้าวหอมไชยา เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ปลูกเฉพาะถิ่นในพื้นที่อำเภอไชยา ที่ปลูกมานานกว่า 80 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2468 ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ปลูกข้าวได้งอกงาม เนื่องจากมีน้ำท่าจากคลองไชยา ไหลผ่านตลอดปี มีลักษณะเด่นคือ หอมไปทั่วทุ่ง แตกต่างจากข้าวทั่วไปจนเป็นที่เล่าขานกันว่า “เวลาออกรวงหอมไปทั่วทุ่ง เวลาหุงหอมไปทั่วบ้าน” แต่ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกข้าวหอมไชยากลับลดลง ข้าวหอมไชยาแท้กำลังจะสูญหายเพราะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม เมล็ดพันธุ์ข้าวมีไม่เพียงพอในการปลูก จึงต้องมีการอนุรักษ์เพื่อขยายพันธุ์ให้แก่เกษตรกรที่สนใจ และพัฒนาการผลิตข้าวหอมไชยาให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ควบคู่ไปกับโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวตลาดเฉพาะ (Niche Maket) เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ฯ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น