xs
xsm
sm
md
lg

เจ๋ง! นักศึกษา ม.อ.ตรังคว้าแชมป์โครงการลุ่มน้ำโขงระดับเยาวชนปี 2016 ที่ประเทศจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - สุดเจ๋ง! 3 นักศึกษา ม.อ.ตรัง คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 และรองชนะเลิศอันดับที่ 3 จาก 14 ทีมของเอเชีย ในโครงการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงระดับเยาวชน ประจำปี 2016 ที่มณฑลชิงไห่ สาธารณรัฐประชาชนจีน

วันนี้ (22 ก.ย.) นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตตรัง ซึ่งประกอบไปด้วย นายพีรณัฐ ช่างทองเครือ น.ส.ปิยฉัตร หมาดสตูล และ น.ส.สุนิดา รัตนพันธ์ ได้เข้าร่วมแข่งขันออกแบบโครงการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงระดับเยาวชน ประจำปี 2016 The Youth Innovation Competition on Lantsang-Mekong Region's Governance and Development หรือ YICMG 2016 ที่มณฑลชิงไห่ สาธารณรัฐประชาชนจีน

โดย น.ส.สุนิดา รัตนพันธ์ ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ประเภท The Best Multinational Team จากผลงานชื่อ Floating water wave power generation device และนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้ง 3 คน ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 จาก 14 ทีมของเอเชีย จากผลงานชื่อ Cross Cultural of Mekong river Crisis
 

 
สำหรับการแข่งขันออกแบบโครงการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงระดับเยาวชน หรือ YICMG 2016 เป็นกิจกรรมสำหรับเยาวชนในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อต้องการที่จะทราบวิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมของแต่ละประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง และเป็นกลไกการทำงานให้แก่ผู้ประกอบการต่อไปด้วย

โดย 3 นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ได้เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าว และเข้ารอบไปแข่งขันในระดับนานาชาติ จนสามารถคว้ารางวัลในฐานะตัวแทนประเทศไทยมาได้ในครั้งนี้ นับเป็นกลุ่มเยาวชนที่มีความพยายามสร้างสรรค์ผลงานจนน่ายกยกย่อง เนื่องในสัปดาห์วันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2559
 

 
เนื่องจากแม่น้ำโขง มีความสำคัญมากต่อประเทศไทย แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โครงการ Cross Cultural of Mekong river Crisis จึงมุ่งเน้นการแก้ปัญหาในการบำบัดน้ำเสีย ที่อาศัยธรรมชาติช่วยเหลือธรรมชาติด้วยกันเอง เริ่มตั้งแต่การใช้ทฤษฎีตามหลักโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องของการปลูกพืชผสมผสาน หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในบริเวณของต้นน้ำ เพื่อแก้ปัญหาดินเสื่อม และปนเปื้อนสารพิษที่ไหลมากับน้ำ

โดยการใช้ต้นธูปฤาษี และผักตบชวาช่วยบำบัดน้ำเสียในขั้นต้น แล้วผ่านชั้นกรอง gabion wall ที่ประกอบไปด้วยหิน ถ่าน และโพลีเอสเธอร์ ก่อนถูกส่งไปยังบ่อเก็บน้ำดีหมู่บ้านในการนำไปใช้สอยประโยชน์ และสามารถปล่อยลงสู่แม่น้ำโขงได้ โดยขณะนี้มีโมเดลจำลองชุมชนตามโครงการนี้แล้วที่บริเวณแม่น้ำฮวย อ.เชียงคาน จ.เลย และสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกชุมชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น