xs
xsm
sm
md
lg

ตัวแทนกรมเจ้าท่ายันโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อแผนพัฒนาภาคใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ตัวแทนกรมเจ้าท่าชี้ชัดโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ไม่มีการเชื่อมโยงโครงการท่าเรือสงขลา 2, โครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล และโครงการอื่นๆ ด้านฝ่ายเห็นต่างค้าน ผลการศึกษาพบเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาภาคใต้สู่ศูนย์กลางพลังงานโลก วอนหน่วยงานรัฐให้คำนึงสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ

วันนี้ (19 ก.ย.) ณ ห้องประชุม FMS ชั้น 2 อาคารวิจัยและพัฒนาองค์การความรู้เพื่อการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการจัดเสวนาท้องถิ่นใต้ : วิทยาลัยวันศุกร์ ครั้งที่ 10 ในประเด็น สิทธิชุมชนสองฝั่งทะเล (แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล) : การพัฒนา ความขัดแย้ง และทางออก โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณกว่า 200 คน
 

  
โดยในการเสวนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมนำเสนอมุมมอง และความคิดเห็นต่อโครงการพัฒนา “โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย” โดย คุณนาวี พรหมทรัพย์ กลุ่มรู้ทันท่าเรือน้ำลึกปากบารา และคุณสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และมีผู้ดำเนินรายการ คือ ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์

ในการนำเสนอครั้งนี้มีด้วยกัน 2 มุมมอง มุมมองแรกคือ สนับสนุนให้มีการสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา แต่ไม่เห็นด้วยในสิ่งที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเสนอทางเลือกที่มีประโยชน์แก่ชาวบ้านในพื้นที่ และในมุมมองที่สอง คือ ไม่สนับสนุนเพราะได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากในอนาคตนั้นไม่มีใครสามารถรับรองได้ว่า จะมีแค่การพัฒนาการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เพียงอย่างเดียว อาจจะพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมได้
 

จากนั้นได้มีการเสวนาท้องถิ่นใต้ในเรื่อง “สิทธิชุมชนสองฝั่งทะเล (แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล) : การพัฒนา ความขัดแย้ง และทางออก” โดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการมนุษยชนแห่งชาติ อาจารย์หุดดีน อุสมา คณะทำงานขับเคลื่อนปากน้ำน่าอยู่ (คคปน.) นายวิรัช องค์ประเสริฐ วิศวกรบริษัทที่ปรึกษา บริษัทเอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด/ตัวแทนกรมเจ้าท่า และ ดร.อาภา หวังเกียรติ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ดำเนินรายการโดย คุณบัญชร วิเชียรศรี สถานีวิทยุ ม.อ.88

โดยเริ่มแรกนั้นได้มีการพูดถึงในประเด็นเรื่องการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา มีการออกแบบที่ลดผลกระทบ และสร้างผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ ยังคงมีปัญหาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดนั้น คือ การประมง เพราะมีการนำหิน และทรายมาถมพื้นที่ทะเลเป็นจำนวนกว่า 290 ไร่ ส่วนปัญหาด้านอื่นๆ มีการจัดการปัญหาที่สามารถรับมือได้ และมีการออกแบบเพียงเพื่อการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น และไม่มีการเชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือสงขลา 2 โครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ซึ่งเป็นเพียงแค่สัญญาลมปาก และเอกสารที่ไม่เป็นจริง
 

 
แต่ในฝ่ายที่เห็นต่างได้มีการศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ แล้วพบว่า การสร้างท่าเรือน้ำลึก รถไฟรางคู่ โรงไฟฟ้าจะนะ และโครงการอื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาภาคใต้ เพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์กลางพลังงานโลก โดยในช่วงนี้เป็นเพียงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น หากรัฐจะนำภาษีประชาชนไปพัฒนาโครงการใหญ่ต่างๆ ลองหันกลับมามองถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ควรเป็นการพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่เดิมนั่นก็คือ การท่องเที่ยว การเกษตร และการประมง ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐต้องคำนึงสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและการตัดสินใจ เพื่อให้ชุมชนเกิดการพัฒนาที่มั่นคง ยั่งยืน และเป็นธรรม

สุดท้ายแล้วประชาชนเองก็เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องมีความกระตือรือร้นในการลุกขึ้นมาเพื่อปกป้อง และสร้างสิทธิให้กับตนเอง มิใช่เพียงแค่การคัดค้านอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องนำเสนอถึงสิ่งที่ต้องการได้รับการพัฒนาซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง และสามารถดำเนินการได้ ท้ายนี้ได้ขอทิ้งทวนด้วยบทกลอนที่แต่งขึ้นโดย อาจารย์หุดดีน อุสมา : โอบกอดอัลเลาะห์ไว้ในห้วงจิต โอบกอดทุกชีวิตด้วยคุณค่า โอบกอดแผ่นดินพ่อแม่ให้มา โอบกอดปากบาราไว้ชนรุ่นต่อไป
 




 

กำลังโหลดความคิดเห็น