xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.เพิ่มศักยภาพด้านการข่าวสร้างเครือข่ายตาสับปะรดแจ้งเบาะแส/ข่าวสาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กอ.รมน.จ.ภูเก็ต เดินหน้าเพิ่มศักยภาพด้านการข่าว พัฒนาเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวังเหตุ ตามโครงการ “ตาสับปะรด” หวังเป็นเครือข่ายสนับสนุนข้อมูลด้านข่าวสาร หรือเบาะแสที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

วันนี้ (15 ก.ย.) ที่ศาลาประชาคม อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาพัฒนาสัมพันธ์ และตรวจสอบข้อมูลเครือข่ายภาคประชาชน เฝ้าระวังเหตุ (ตาสับปะรด) จ.ภูเก็ต ประจำปีงบประมาณ 2559 พ.อ.จิตติ มณี หัวหน้าชุดประสานงานมวลชน กอ.รมน.จ.ภูเก็ต ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวังเหตุ (ตาสับปะรด) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

พ.อ.จิตติ มณี หัวหน้าชุดประสานงานมวลชน กอ.รมน.จ.ภูเก็ต กล่าวถึงความเป็นมาโครงการสัมมนาพัฒนาสัมพันธ์ และตรวจสอบข้อมูลเครือข่ายภาคประชาชน เฝ้าระวังเหตุ (ตาสับปะรด) จ.ภูเก็ต ว่า ตามที่กองทัพภาคที่ 4/กอ.รมน.ภาค 4 โดย พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร อดีตแม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงได้ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ ดำเนินการจัดตั้งอบรมเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวังเหตุ “ตาสับปะรด” จ.ภูเก็ต ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2552 โดยมีการจัดตั้งศูนย์สื่อสาร/จัดหาวิทยุแบบ CB 245 MHZ (เครื่องแดง) และจัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวังเหตุ เพื่อแจ้งข่าวทางวิทยุสื่อสาร จำนวน 14 โซน ครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัดในการเฝ้าระวังป้องกันเหตุร้าย ร่วมกับหน่วยราชการ กอ.รมน. ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว และความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน/ชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน ศูนย์ควบคุมข่ายการสื่อสาร และอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ได้ชำรุด และเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน ทำให้การติดต่อสื่อสาร และการรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นของเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวังเหตุ (ตาสับปะรด) ไม่สามารถติดต่อถึงกันได้อย่างทั่งถึง ครอบคลุม ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความมั่นคงต่างๆ ในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์

อย่างไรก็ตาม หลังจากการสัมมนา และการดำเนินงานตามโครงการฯ ในครั้งนี้เสร็จสิ้น คาดว่าจะสามารถพัฒนาเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวังเหตุ ทั้งเชิงคุณภาพ และปริมาณ เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในการสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร/เบาะแสที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และเสริมสร้างความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงภายใน ตามนโยบายของรัฐบาล และสามารถดำรงการติดต่อสื่อสารระหว่างกันของเครือข่ายภาคประชาชน (ตาสับปะรด) และแก้ไขปัญหาจากภัยทุกคามรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว และความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน/ชุมชน ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น