xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายหลักประกันสุขภาพฯ ภาคใต้ แถลงไม่ร่วมจ่าย ณ จุดบริการ ชี้เลขาฯ สปสช.ใหม่ต้องไม่ถูกครอบงำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายหลักประกันสุขภาพและศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ 7 จังหวัดแถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยร่วมจ่าย ณ จุดบริการ เสนอให้ปฏิรูป สปสช.โดยทุกภาคส่วนร่วมให้ความเห็น ห่วงเลขาธิการ สปสช.คนใหม่จะไม่อิสระ กระทบกลไกการมีส่วนร่วมที่เป็นจุดเด่นในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพมายาวนานกว่า 15 ปี

วันนี้ (6 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายหลักประกันสุขภาพและศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ 7 จังหวัดแถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยร่วมจ่าย ณ จุดบริการ เสนอให้มีการปฏิรูป สปสช.โดยทุกภาคส่วนร่วมให้ความเห็น พร้อมแสดงความกังวลว่าเลขาธิการ สปสช.คนใหม่จะไม่อิสระ กระทบต่อกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เป็นจุดเด่นในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพมายาวนานกว่า 15 ปี

เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า ทั้งนี้ ก่อนและหลังการรับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 ที่ผ่านมา มีความอึมครึมต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือระบบบัตรทอง ได้แก่ ประเด็นกระแสข่าวเหมือนโยนหินถามทางเป็นระยะ จากคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการสาธารณสุขว่ากำลังพิจารณาประเด็นร่วมจ่ายถึง 30% และประเด็นความขัดแย้งในการเลือกเลขาธิการ สปสช.ที่เป็นชนวนให้ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปยื่นฟ้องคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กรณีมีมติเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2559 ไม่รับรอง นพ.ประทีป เป็นเลขาธิการ สปสช. โดยขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกมติบอร์ด สปสช.ดังกล่าว

โดยวันที่ 5 ก.ย.2559 เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ เครือข่ายศูนย์ประสานงานภาคประชาชน 7 จังหวัดใต้ล่าง จึงได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญใหม่ และการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ

ซึ่ง นายพิทักษ์ บำรุงชาติ เครือข่ายคนพิการ กล่าวด้วยความกังวลว่า อาจเกิดการแบ่งแยกประชาชนทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพกลายเป็นระบบสงเคราะห์ โดยมีคำว่าผู้ยากไร้ในมาตรา 47 ในรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงการร่วมจ่ายที่อาจสูงถึง 30% จะทำให้กลับสู่ภาวะครอบครัวล้มละลายได้เช่นเดียวกับตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อ น.ส.ดารุณี เป็นห่วงว่า ระบบหลักประกันสุขภาพที่ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของจะลดคุณค่าการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขที่เป็นหลักคิดสำคัญ

สอดคล้องต่อผู้ประสานงานกลไกศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ นางกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง ที่เป็นห่วงว่า การร่วมจ่าย ณ จุดบริการจะทำให้มาตรฐานของการรักษาใน รพ.รัฐถูกเปรียบเทียบกับรพ.เอกชน เพราะคนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งพร้อมจะจ่ายในการรับบริการที่ดีกว่า นั่นจะยิ่งซ้ำเติมระบบสุขภาพโดยรวมเพราะอาจเกิดสมองไหลไป รพ.เอกชนได้ง่ายขึ้น

โดย นางกัลยา เอี่ยวสกุล ผู้ประสานงานจังหวัดปัตตานีให้ความเห็นว่า ภาคประชาชนก็มีความกังวลต่อคำว่า รพ.รัฐขาดทุน และได้เสนอทางออกมาตลอด ทั้งประเด็นการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น ภาษีกิจกรรมธุรกิจอุตสาหกรรมที่ทำร้ายสุขภาพ โดยหากมีการควบรวมองค์กรท้องถิ่น และการกระจายอำนาจให้มีการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพในพื้นที่ร่วมกับหน่วยบริการ ก็จะเป็นแนวทางปฏิรูประบบสุขภาพให้ตรงปัญหาพื้นที่มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

ซึ่ง น.ส.จุฑา สังขชาติ ผู้ประสานเครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ ได้ย้ำประเด็นที่ระบบหลักประกันสุขภาพได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก รวมถึงนานาประเทศอย่างกว้างขวางเป็นเวลากว่า 15 ปี ก็อาจต้องทบทวนประเมินว่าควรปรับปรุงอย่างไร และไม่ควรเป็นการแก้ไขจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะ สปท.ที่เร่งรัดแนวทางการร่วมจ่ายตลอดมา จึงเสนอให้มีการรับฟัง และระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วนต่อการปฏิรูปองค์กร สปสช.อย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาเครือข่ายฯ นางชโลม เกตุจินดา ได้เสนอแนวทางการเคลื่อนต่อของเครือข่ายฯ ที่จะประสานกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายหลักประกันสุขภาพทุกภูมิภาค ชมรมแพทย์ชนบท ให้ร่วมกันแสดงออกถึงจุดยืนร่วมกันในการไม่ร่วมจ่าย ณ จุดบริการ แต่พร้อมร่วมจ่ายก่อนรับบริการผ่านระบบภาษี รวมถึงข้อห่วงใยความอิสระของเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ที่จะต้องทำหน้าที่จัดซื้อบริการสุขภาพให้ได้มาตรฐาน สร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ มิใช่ทำให้ สปสช.กลายเป็นสาธารณสุขที่เป็นหน่วยบริการ

ช่วงท้ายเครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ ได้ร่วมกันแสดงพลังเพื่อยืนยันว่าจะติดตาม และเกาะติดการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงการปฏิบัติงานของเลขาธิการ สปสช.คนใหม่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นนโยบายรัฐที่จัดเป็นสวัสดิการให้ประชาชนอย่างทั่วถึง และมั่นคง ไม่ซ้ำเติมให้กลายเป็นคนยากไร้ล้มละลาย
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น