xs
xsm
sm
md
lg

10 ข้อเสนอพัฒนา “บัตรทอง” สธ.- สปสช.ต้องไว้ใจกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด สปสช. จัดประชุมระดมสมองพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพฯ ได้ 10 ข้อเสนอแนวทางพัฒนาบัตรทอง ปรับทัศนคติองค์กร ส. ไม่ใช่เจ้าของระบบสุขภาพ สธ.- สปสช. ต้องไว้วางใจกัน กระจายการจัดการสุขภาพลงพื้นที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัญจร เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี บอร์ด สปสช. ได้ร่วมกับคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข จัดประชุมระดมสมองเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย ในวันที่ 3 - 4 ก.ย. ที่ผ่านมา 2559 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 70 คน แบ่งกลุ่มกันระดมความคิดเห็น ซึ่งพบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1. สังคมยังคงมีความเหลื่อมล้ำมาก เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ องค์กร ส. ทั้งหลายไม่ใช่เจ้าของระบบสุขภาพ ต้องทำงานร่วมกัน และเน้นหลักการบูรณาการกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง

2. ต้องสร้างความเป็นเจ้าของระบบสุขภาพ โดยกระจายการจัดการสุขภาพลงไปยังพื้นที่ให้มากที่สุด

3. เข็มมุ่งเพื่อความยั่งยืนในการบริบาลสุขภาพ คือ สร้างความเข้มแข็งให้การส่งเสริมป้องกันโรค

4. ประเด็นท้าทาย คือ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่าง สธ. และ สปสช.

5. ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษา Unit Cost รายโรค เพื่อหาต้นทุนบริการที่แท้จริง

6. ต้องปฏิรูประบบสุขภาพ เช่น รพ. ใดที่ตั้งในที่ไม่เหมาะสม หรือมีจำนวนผู้ป่วยไม่มากพอ ควรต้องเปลี่ยนบทบาทไปทำหน้าทีอื่นให้เหมาะสม

7. บทบาทสำคัญของ สปสช. คือ การสร้างสมดุลในทุกภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ห้วงเวลาที่ผ่านมา สปสช. ประสบความสำเร็จในการสร้างการรวมตัวของภาคประชาสังคม สร้างช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาระบบ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้าใจว่า ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล เป็นการลงทุน มิใช่ภาระ และยังอาจทำงานกับกลุ่มผู้ให้บริการไม่มากพอที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ ทำให้กลไกทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้ 

8. 15 ปี ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เดินอย่างมียุทธศาสตร์และทำอย่างต่อเนื่อง จุดเด่นอยู่ที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและต้องพัฒนาให้มั่นคงให้มากขึ้นต่อไป

9. นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นนโยบายสาธารณะที่ประสบความสำเร็จมาก สิ่งนี้ถือเป็นโอกาสเพื่อการพัฒนา

และ 10. 15 ปีที่ผ่านมา ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประสบความเร็จในเชิง “เป้าหมาย” คือ ทำให้คนไม่ล้มละลาย ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการพัฒนาระบบสุขภาพมาอย่างยาวนาน และประสบความสำเร็จในการทำให้ประชาชนตระหนัก และรับรู้ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ สิทธิตามกฎหมาย ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของและเฝ้าระแวดระวังหากมีภัยคุกคามที่จะกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความท้าทายที่สำคัญอยู่ที่ จะทำอย่างไรให้ “คุณภาพ” บริการเพิ่มขึ้น และเน้นไปยังการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยให้ อปท. เข้ามามีบทบาทหลักร่วมกับประชาชนในพื้นที ภายใต้การกระจายอำนาจอย่างแท้จริง


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น