xs
xsm
sm
md
lg

มรภ.สุราษฎร์ฯ สร้าง “ไกด์ทะเลชายฝั่ง” แก้ปัญหาไกด์เถื่อน ขานรับยุทธศาสตร์ท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มรภ.สุราษฎร์ฯ จัดอบรมไกด์ทะเลชายฝั่ง หวังสร้างมัคคุเทศก์คุณภาพรองรับนักท่องเที่ยวพื้นที่ชายฝั่งทะเล พร้อมแก้ปัญหาไกด์เถื่อน ขานรับยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวของ จ.สุราษฎร์ฯ รองคณบดีชี้ไกด์ทะเลต้องรอบรู้ครบเครื่องเพื่อสามารถช่วยเหลือนักท่องเที่ยวได้

วันนี้ (1 ก.ย.) นายธนาวิทย์ บัวฝ้าย รองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว ได้จัดอบรมเรื่อง “ไกด์ทะเลชายฝั่ง” ให้แก่มัคคุเทศก์ และผู้สนใจประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ จำนวน 40 คน ณ โรงแรมแบนไดรฟ์วิ่ง รีสอร์ต อ.เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อสร้างมัคคุเทศก์ทะเลชายฝั่งที่มีคุณภาพรองรับนักท่องเที่ยว และแก้ปัญหาไกด์เถื่อน เป็นการขานรับยุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยว จ.สุราษฎร์ธานี ปี 2560
 

 
รองคณบดีฯ กล่าวต่อไปว่า การอบรมใช้เวลาทั้งสิ้น 10 วัน เหตุที่ต้องใช้เวลาหลายวันเพราะต้องอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านมัคคุเทศก์จากภาครัฐ และภาคเอกชน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก จ.สุราษฎร์ธานี และได้รับการอนุมัติหลักสูตรอบรมมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ (ทะเลชายฝั่ง) จากกรมการท่องเที่ยวโดยตรง

“การอบรมทั้งหมดต้องผ่านมาตรฐาน และกระบวนการตรวจสอบทุกขั้นตอน เพราะไกด์ทางทะเลต้องมีความสามารถในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวได้ในหลายๆ ด้าน เช่น การว่ายน้ำตัวเปล่า การปฐมพยาบาล การช่วยเหลือนักท่องเที่ยว การขับเรือ นอกจากนี้ ยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของคลื่นลมในทะเลด้วย กระบวนการในการจัดอบรมจึงต้องเข้มข้นเพื่อให้ได้ไกด์ทะเลชายฝั่งที่มีคุณภาพ และครบเครื่องจริงๆ” นายธนาวิทย์ กล่าว
 

 
ด้าน นางณัฏฐ์สุดา นันทนิ นักพัฒนาการท่องเที่ยวชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจนำเที่ยว หนึ่งในวิทยากร กล่าวว่า ปัจจุบันรายได้หลักของประเทศมาจากการท่องเที่ยว เนื่องจากไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมากมาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เหล่านี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยกว่า 10 ล้านคนต่อปี และทำให้มัคคุเทศก์เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ และก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างสูงในการท่องเที่ยว

“ปัจจุบันมีมัคคุเทศก์ขึ้นทะเบียนประมาณ 60,000 คน แต่ที่ปฏิบัติงานจริงมีน้อยกว่านั้นมาก ทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนไกด์ และเกิดปัญหาไกด์เถื่อนตามมา ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ ไกด์บางส่วนออกไปทำงานนอกพื้นที่ซึ่งอาจมีรายได้ดีกว่า ทำให้กรมการท่องเที่ยว ต้องเข้ามาบริหารจัดการให้แต่ละพื้นที่มีไกด์เพียงพอต่อความต้องการ โดยการขึ้นทะเบียน และจัดอบรมไกด์เฉพาะพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว” นางณัฏฐ์สุดา กล่าว
 



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น