xs
xsm
sm
md
lg

ไม่รื้อแล้ว! ตึกเก่าวชิระภูเก็ต บูรณะขึ้นทะเบียนทำพิพิธภัณฑ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รองอธิบดีกรมศิลปากรเข้าตรวจสอบพื้นที่ตึกเก่าโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต หลังกระแสข่าวกระหึ่มโซเชียลรื้อทิ้งสร้างใหม่ ได้ข้อสรุปชัดเจนบูรณะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เล่าเรื่องราวโรงพยาบาล และอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ทรงคุณค่า รวมทั้งให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนไข้ และญาติ

ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวคัดค้านการรื้อตึกเก่าภายในโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต คือ ตึกบุญพัฒน์ และตึก ณ ระนอง เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวมาก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใหม่ขนาด 298 เตียง ด้วยงบประมาณปี 2560 นั้น ล่าสุด เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ (27 ส.ค.) นายขจร มุกมีค่า รองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วย น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ หัวหน้าพิพิธภัณฑ์ถลาง จ.ภูเก็ต สถาปนิก ภูมิสถาปนิก กรมศิลปากร ได้เดินทางมาตรวจสอบสภาพตึกเก่า และพื้นที่ใกล้เคียง หลังมีกระแสข่าวคัดค้านผ่านทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆ รวมถึงสื่อโซเชียล โดยมี นายสมบูรณ์ หวังแต่ธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นำตรวจสอบสภาพตึกเก่าทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย ตึกบุญพัฒน์ ตึก ณ ระนอง และตึกศรีพัชรินทรานุสร โดยตึกเก่าทั้งหมดนี้ เป็นกลุ่มอาคารที่ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้ยื่นขอจดทะเบียนโบราณสถานต่อทางกรมศิลปากรไปก่อนหน้านี้แล้ว

นายขจร มุกมีค่า รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่อธิบดีกรมศิลปากรได้รับทราบข้อมูลผ่านทางสื่อมวลชน และสื่อโซเชียลถึงการออกมาคัดค้านการรื้อตึกเก่าของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อสร้างอาคารผู้ป่วยใหม่ จึงได้มอบหมายให้ตนพร้อมเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และตรวจสอบสภาพอาคาร และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งจากการหารือร่วมกับผู้บริหารของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า ทางโรงพยาบาลวชิระจะไม่รื้อตึกเก่าทิ้งเพื่อสร้างอาคารผู้ป่วยอีกแล้ว อาคารผู้ป่วยจะยังคงสร้างในจุดเดิมที่อยู่ไม่ห่างกันมากนัก โดยจะนำตึกเต่าทั้ง 3 ตึก คือ ตึกบุญพัฒน์ ตึก ณ ระนอง และตึกศรีพัชรินทรานุสร ไว้เพื่อการอนุรักษ์อาคารเก่า ที่ก่อนหน้านี้ ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ยื่นเรื่องของขึ้นทะเบียนต่อทางกรมศิลปากรไว้แล้ว

โดยหลังจากนี้ ทางกรมศิลปากรจะร่วมกับทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต วางแผนงานในการบูรณะกลุ่มตึกเก่าของโรงพยาบาลต่อไป โดยสามารถที่จะขึ้นทะเบียนด้วยการประกาศชื่อที่สามารถดำเนินการได้เลย เนื่องจากเป็นอำนาจของอธิบดีกรมศิลปากร หลังจากนั้นค่อยดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่มีขั้นตอนการดำเนินการที่มากกว่า เพราะการที่จะขึ้นทะเบียนตึกเก่าเพื่อการอนุรักษ์ และโบราณสถานนั้นจะต้องหารือกันในหลายๆ ฝ่าย ทั้งเจ้าของตึก และผู้ที่จะได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อขึ้นทะเบียนแล้วจะมีระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการใช้อาคาร

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตึกเก่าดังกลางเมื่อบูรณะแล้วเสร็จสามารถที่จะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเรื่องราวของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทรงคุณค่า ส่วนบริเวณรอบตึกเก่าก็สามารถจัดเป็นสวนเพื่อให้ผู้ป่วย และญาติใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้ สำหรับงบประมาณดำเนินการนั้นไม่สามารถระบุได้ในขณะนี้ จะต้องทำการสำรวจว่าส่วนไหนที่มีความเสียหาย และส่วนไหนที่จะต้องซ่อมแซม และซ่อมแซมแบบไหนอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และกรมศิลปากรก็พร้อมที่จะเข้ามาดำเนินการซ่อมแซมตึกเก่าอยู่แล้ว

นายขจร กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนในส่วนของตึกเก่าทั้ง 3 ตึก ไปยังกรมศิลปากรแล้ว โดยขณะนี้ทางกรมศิลปากรได้ทำการออกแบบการซ่อมแซมบูรณะอาคารศรีพัชรินทรานุสร อยู่ในขั้นตอนการนำเสนออธิบดีกรมศิลปากร เพื่อขอความเห็นชอบ ใช้งบประมาณบูรณะประมาณ 3.6 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการบูรณะเป็นตึกแรกหลังเมื่อมีงบประมาณดำเนินการ ส่วนอีก 2 ตึก จะต้องทำการออกแบบรายละเอียดการบูรณะต่อไป

ด้าน นายสมบูรณ์ หวังแต่ธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า จากการหารือรวมกันของคณะทำงานที่ทางโรงพยาบาลแต่งตั้ง ซึ่งประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร และฝ่ายที่คัดค้านการรื้อตึกดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่าจะไม่มีการรื้อตึกเก่าดังกล่าวแต่อย่างใด และทางกองแบบและแผน กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งวิศวกร และสถาปนิกลงมาดูพื้นที่ และได้สรุปแล้วว่า จะก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใหม่ในจุดเดิมตามที่ได้ออกแบบไว้แล้ว จะไม่มีการรื้อทิ้งตึกเก่าอีกแล้ว โดยตึกเก่านี้จะดำเนินการบูรณะเป็นอาคารเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป และจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องราวของโรงพยาบาล รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เช่น เครื่องเอกซเรย์เครื่องแรกที่นำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ มีอายุเกือบ 100 ปี ตู้บริจาคเลือด รวมถึงเครื่องมือทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลได้เก็บรักษาไว้ เป็นต้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น