xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม!? กฟผ.ดันทุรังเอาถ่านหิน “ประสิทธิชัย” แฉ ผลประโยชน์ตกที่ใครเมื่อ “รัฐวิสาหกิจ” แปลงร่างเป็นบริษัท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(ภาพ : กรีนพีช)
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เขียนบทความแฉต่อถึงเหตุผลที่ กฟผ.ผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินเอาเป็นเอาตาย เผยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นในธุรกิจฟอสซิล จึงมุ่งแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ไม่คำนึงหายนะสิ่งแวดล้อม ระบุเครือข่ายชักใยทุกรัฐบาล

วันนี้ (25 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายว่า นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้เขียนบทความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “ใครอยู่เบื้องหลังฆาตกรเงียบที่ชื่อถ่านหิน ตอนที่ 3” โดยระบุว่า

เราได้เห็นพฤติกรรมของ กฟผ.ในทางสังคมมามากมายที่ใช้หลากหลายวิธีการในการผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยไม่คำนึงถึงความเป็นอารยะใดๆ ทั้งสิ้น พฤติกรรมในโลกโซเชียล และในพื้นที่ล้วนมีพฤติกรรมสอดคล้องกัน

คำถามที่สำคัญคือ โลกได้ประกาศว่าถ่านหินเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายประเทศทั่วโลกได้ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นไปตามการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุด ที่ปารีส เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทย ได้ประกาศลดคาร์บอนท่ามกลางผู้นำกว่าร้อยประเทศ เหตุใด กฟผ.ยังผลักดันถ่านหิน

พบว่าบริษัทในเครือของ กฟผ. 3 ใน 5 บริษัทเกี่ยวข้องต่อกิจการถ่านหิน นั่นคือ บริษัทเอ๊กโก บริษัทราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัท กฟผ.อินเตอร์ เมื่อมีบริษัทในเครือเกี่ยวข้องกับถ่านหิน จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้สร้างถ่านหินแบบสวนกระแสโลก ไม่สนใจงานวิจัยมลพิษถ่านหิน ไม่สนใจผลกระทบต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์บริษัทอยู่เหนือชีวิตความเป็นตายของประชาชนในชาติ

คำถามต่อไปมีว่า กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่มีลักษณะการแปรไปสู่การมีบริษัทในเครือ 5 บริษัท และบริษัทในเครือ กฟผ.อย่างราชบุรีโฮลดิ้ง และเอ๊กโก ยังมีบริษัทในเครือของตัวเองอีกมากมาย กลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหลายชั้นที่ส่งแรงผลักดันให้การกำหนดทิศทางการพัฒนาพลังงานของประเทศผิดเพี้ยนไป

เราจึงเห็นว่าในขณะที่ทั้งโลกประกาศว่าโรงไฟฟ้าฟอสซิลต้องลดลง ประเทศไทยกลับมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และถ่านหิน ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนถูกคุมกำเนิดไม่ให้โตด้วยมาตรการที่ไม่เอื้อของรัฐ ทั้งที่ในต่างประเทศเรื่องพลังงานหมุนเวียนก้าวไปไกลแล้ว

ทั้งนี้ เพราะว่าพลังงานฟอสซิลอยู่ในมือกลุ่มทุน เขาจึงต้องรักษาอย่างเต็มที่ แต่พลังงานหมุนเวียนซึ่งสามารถกระจายไปสู่บุคคลอันหลากหลายกลับถูกคุมกำเนิดไม่ให้โต เรื่องถ่านหินที่ยังคงอยู่ในแผนพีดีพี จึงไม่ใช่สาเหตุอื่น นอกจากกลุ่มทุนรักษาประโยชน์ของตัวเองบนความตายของคนในพื้นที่

แล้วทำไมรัฐบาลจึงไม่ตัดสินใจไปในแนวทางที่ถูกต้อง หากลองพิจารณาตอนที่ 1 และ 2 จะพบว่า กลุ่มทุนที่ถือหุ้นในกิจการถ่านหินนั้นคือ กลุ่มทุนใหญ่ที่ถักทอกันจนกลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือนโยบายรัฐ แผนพีดีพีจึงบิดเบี้ยว

ภัยของการพัฒนาประเทศให้เดินไปในทางที่ถูกต้องอันดับแรกคือ อิทธิพลของกลุ่มทุน ส่วนรัฐบาลกลายเป็นผู้ถูกกำกับในการออกนโยบาย เราจึงเห็นว่านโยบายหลายเรื่องกลายเป็นการสนองกลุ่มทุนมากกว่าประชาชน
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น