คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
ขณะนี้หน่วยงานของรัฐบาลได้พยายามอย่างมากที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ด้วยข้ออ้างต่างๆ นานา เช่น มีต้นทุนต่ำ และเป็น “โรงไฟฟ้าหลัก” เป็นต้น ทั้งๆ ที่จะต้องนำเข้าถ่านหินจากประเทศออสเตรเลียซึ่งอยู่ห่างไปนับหมื่นกิโลเมตร แต่ปรากฏว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินในรัฐออสเตรเลียใต้ซึ่งอยู่ห่างจากเหมืองเพียง 280 กิโลเมตร เพิ่งได้ปิดตัวเองไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2559 ด้วยเหตุผลเพราะขาดทุนปีละ 100 ล้านดอลลาร์ ติดต่อกัน 4 ปี และได้ปิดหมดทั้งรัฐออสเตรเลียใต้ซึ่งมีประชากร 1.7 ล้านคน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 นี้เองครับ
บทความนี้จะนำเสนออย่างง่ายๆ พร้อมกับแหล่งอ้างอิงที่สามารถตรวจสอบได้ ดังต่อไปนี้ครับ
หนึ่ง ดูการผลิตไฟฟ้าในแต่ละรัฐของออสเตรเลียแบบสดๆ
ขณะที่ผมเขียนบทความถึงบรรทัดนี้เป็นเวลา 14.00 น. ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2559 ปรากฏว่า รัฐออสเตรเลียใต้มีกำลังผลิตรวมกัน 715 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติ 250 เมกะวัตต์ กังหันลม 159 เมกะวัตต์ และโซลาร์รูฟ 306 เมกะวัตต์ ไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะเรียกว่าอะไรคือ “โรงไฟฟ้าหลัก” (ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีคำนิยาม) และคาดว่าในช่วงบ่ายแก่ๆ กังหันลมน่าจะเพิ่มขึ้นมากเพราะลมแรง ขณะเดียวกัน การผลิตจากแสงแดดก็จะลดลง
ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปดูสดๆ ได้ที่ http://reneweconomy.com.au/nem-watch (หมายเหตุ เวลา 18.30 น. การผลิตไฟฟ้ารวม 1,160 เมกะวัตต์ เป็นก๊าซ 1,130 เมกะวัตต์)
เมื่อพิจารณาตลอดช่วง 24 ชั่วโมง เราจะพบว่า การใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาจะสามารถลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในตอนกลางวันได้เป็นจำนวนมาก (ดังภาพข้างล่าง)
สอง เปรียบเทียบการใช้และการผลิตไฟฟ้าในรัฐออสเตรเลียใต้ ปี 2000 กับปี 2015
เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐออสเตรเลียใต้ (ซึ่งบริหารโดยพรรคแรงงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปัจจุบัน) ผมได้นำข้อมูลความต้องการใช้ และการผลิตไฟฟ้าในฤดูร้อน (ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่าฤดูอื่น) ของปี 2000 กับปี 2015 มาเปรียบเทียบกัน ดังภาพพร้อมแหล่งที่มา
จากภาพข้างล่างนี้ โปรดสังเกตในเบื้องต้นว่า (1) ในปี 2000 ยังไม่มีการใช้กังหันลม และโซลาร์เซลล์ และ (2) ในปี 2015 ได้มีการติดตั้งกังหันลมประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ และโซลาร์เซลล์บนหลังคา 500 เมกะวัตต์ และ (3) ข้อมูลปี 2015 เป็นของเดือนกุมภาพันธ์ 2015 แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินได้ถูกปิดทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม 2016
อนึ่ง Giles Parkinson ที่ผมได้อ้างถึงในเอกสารชิ้นนี้คือ ผู้ก่อตั้ง และบรรณาธิการ Reneweconomy.com.au ซึ่งเคยเป็นรองบรรณาธิการ The Australian Financial Review และคอลัมนิสต์ The Australian
จากรูปข้างต้นนี้ มีข้อสังเกตที่สำคัญมาก 4 ประการ คือ
(1) การใช้ถ่านหินได้ลดลงจากประมาณ 500 เมกะวัตต์ ในปี 2000 มาเหลือประมาณ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2015 คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ลดลงไปประมาณ 4.8 ล้านหน่วยต่อวัน ถ้าคิดทั้งปีจะเป็นเท่าใด
(2) วิธีการจัดการผลิตในปี 2015 เขาจะให้พลังงานลม และแสงแดดผลิตได้ก่อนให้เต็มศักยภาพ คือ ผลิตได้เท่าใดก็ผลิตให้เต็มที่ได้ก่อน (แบบเดียวกับที่ประเทศเยอรมนี) เมื่อไม่พอต่อความต้องการจึงให้ผลิตจากก๊าซ และถ่านหิน รวมทั้งการนำเข้าจากรัฐที่อยู่ติดกัน
(3) การใช้ไฟฟ้าในปี 2015 ได้ลดลงเล็กน้อย (เมื่อประเมินด้วยสายตา) เมื่อเทียบกับ 15 ปีก่อน ทั้งนี้ เพราะนโยบายการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency)
(4) โปรดสังเกตว่า ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซ และโรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถ “เร่งเครื่อง” ได้อย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้า และความแปรผันของพลังงานลม และแสงแดด
สาม การปิดตัวของโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายในรัฐออสเตรเลียใต้
โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ชื่อว่า Northern Power Station ขนาด 520 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในอ่าวทางตอนใต้ของรัฐ (ดูภาพประกอบ) อยู่ห่างจากเหมืองถ่านหินประมาณ 280 กิโลเมตร เปิดดำเนินการในปี 1985 ซึ่งโดยปกติจะสามารถใช้งานไปได้อย่างน้อยถึงปี 2030 แต่ต้องมาปิดตัวเองลงอย่างถาวรในเดือนพฤษภาคม 2016
สาเหตุของการปิดตัวเองเพราะว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งรัฐไม่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2000 นอกจากนี้ ยังถูกไฟฟ้าจากพลังงานลม และพลังงานจากโซลาร์รูฟเข้ามาแทนที่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้บริษัทเจ้าของโรงไฟฟ้าต้องขาดทุนปีละ 100 ล้านดอลลาร์ ติดต่อกัน 4 ปี โดยในปีก่อนหน้านั้น สามารถเดินเครื่องได้เพียงประมาณ 50% ของกำลังการผลิตเท่านั้น
ในด้านสิ่งแวดล้อม จากข้อมูลใน Wikepedia พบว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ปล่อยน้ำหล่อเย็นที่มีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิของแหล่งน้ำธรรมชาติถึง 7 องศาเซลเซียส จำนวนวันละ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 3.62 ล้านตัน
สี่ “โรงไฟฟ้าหลัก” คือวาทกรรมเก่าที่ล้าสมัย
นักอนาคต (Futurist) บางคนพูดว่า “โลกเรานี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก อีก 20 ปีข้างหน้าโลกเราจะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าเมื่อ 300 ปีที่ผ่านมา” พร้อมกับขยายความว่า เด็กที่เกิดในปีนี้โตขึ้นจะขับรถยนต์ไม่เป็น เพราะต่อไปรถยนต์จะไม่มีคนขับ ธนาคารจะไม่ได้อยู่ตามอาคารที่เราคุ้นเคย เป็นต้น
ที่เป็นเช่นนี้เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียุคควอนตัม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนกับเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้โลกมีเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันหมด และมีแนวโน้มจะแน่นแฟ้นมากขึ้น เครือข่ายจึงมีความสำคัญ และกลายเป็น “ออกซิเจน” ของสังคม แบบเดียวกับออกซิเจนของชีวิต
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผู้ประกอบการรถโดยสารทั่วไทย ได้ให้ข้อมูลแก่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า “รถยนต์โดยสารประจำทางของบริษัทหนึ่งต้องจอดเฉยๆ ประมาณ 50% เพราะโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ทำให้สนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสารแน่นกว่าสถานีขนส่งหมอชิต” ผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทางเพิ่งได้ลืมตาอ้าปากเนื่องจากการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว แต่พอระเบิดลง 7 จังหวัดภาคใต้ ผู้โดยสารก็ยกเลิกเกือบหมด นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของผลกระทบในระบบเครือข่ายของโลก
การผลิตไฟฟ้าในรัฐออสเตรเลียใต้ได้เปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงเวลาเพียง 15 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ และกังหันลม จนทำให้บริษัทไฟฟ้า Alinta Energy ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศออสเตรเลียต้องขาดทุน และปิดตัวเอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะ (1) การคาดการณ์การใช้พลังงานในอนาคตผิดพลาด และ (2) ถูกรุกไล่ล่าด้วยเทคโนโลยีใหม่
ความคิดเรื่อง “โรงไฟฟ้าหลัก” เป็นความคิดที่เกิดขึ้นเมื่อยังไม่มีพลังงานหมุนเวียน หรือมีก็มีน้อย จึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าในระดับต่ำสุดของช่วงเวลา 24 ชั่วโมง
แน่นอนว่า แนวคิดดังกล่าวทำให้การบริหารจัดการได้ง่าย มีความเสี่ยงต่ำ แต่ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ก็ไม่สามารถยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังที่เกิดขึ้นแล้วในรัฐออสเตรเลียใต้
แล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่เข้าแถวรอคิวมากถึง 7,400 เมกะวัตต์ ในช่วงแผนพีดีพี 20 ปีข้างหน้า ยิ่งกว่านั้นต้องลงทุนขนถ่านหินข้ามน้ำข้ามทะเลนับหมื่นกิโลเมตร จะไม่รู้สึก “เสียว” บ้างเลยหรือ
แน่นอนว่า ภายใต้ระเบียบของทางราชการที่ประเทศไทยมีอยู่ จะสามารถบีบบังคับให้คนไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากถ่านหิน แต่ใครจะรู้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเราอาจจะเป็นแบบรัฐออสเตรเลียใต้ คือ นอกจากไม่ได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังกลับลดลงอีกด้วย
และใครจะรู้ว่า “กองโจรโซลาร์” จะไม่เกิดขึ้นเหมือนกับหลายๆ ประเทศที่ได้เกิดขึ้นแล้ว
ปัจจุบันนี้ ไม่มี “โรงไฟฟ้าหลัก” อีกต่อไปแล้ว เพราะพลังงานหมุนเวียนก็สามารถผลิตได้มากกว่าพลังงานฟอสซิล จึงมีแต่ “โรงไฟฟ้าที่สามารถยืดหยุ่นได้ (Flexible)” เพื่อปรับให้สามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าทั้งระยะสั้นที่นับเป็นวัน และระยะยาวที่นับเป็นสิบถึงยี่สิบปีได้
ปัจจุบันอย่างน้อย 2 รัฐในประเทศเยอรมนี สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ 100% และจากคำบรรยายของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเดนมาร์ก (คุณ Peter Jorgensen รองประธาน International Relations in the Danish energy sector) พบว่า ในปี 2015 ประเทศเดนมาร์กใช้พลังงานลมถึง 51% และแทบจะไม่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เกิน 10 เมกะวัตต์เลย
ห้า สรุป
ผมอยากจะสรุปสถานการณ์ไฟฟ้าของประเทศไทยด้วยข้อคิดของ ปีเตอร์ เฟอร์ดินานด์ ดรักเกอร์ นักเขียนชาวอังกฤษได้กล่าวไว้ว่า “ในช่วงเวลาที่มีวิกฤต สิ่งที่อันตรายที่สุดไม่ใช่ตัววิกฤตเอง แต่มันคือการปฏิบัติที่ใช้ตรรกะของเมื่อวันวาน (The greatest danger in times of turbulence is not the turbulence, it is to act with yesterday’s logic.)”
ถ้าเปรียบเทียบกับบริษัท Alinta Energy ของออสเตรเลีย เขาเป็นบริษัทเอกชน ขาดทุนก็เป็นเงินของเอกชน แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินของประเทศไทยเป็นการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ใช้เงินของประชาชน หากเกิดขาดทุน หรือต้องปิดกิจการ ประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบ มันต่างกันตรงนี้ครับ
สุดท้ายจริงๆ ครับ ผมว่าประเทศไทยเรามีโอกาสที่ดีมากๆ ที่เรามายืนอยู่ตรงจุดที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของเทคโนโลยีที่กำลังก้าวหน้า พร้อมๆ กับมีตัวอย่างทั้งความสำเร็จ และความผิดพลาดของประเทศอื่นๆ ให้ได้ศึกษาเป็นแบบอย่าง ถ้าเรายังจะเดินไปแบบหลงทิศผิดทางอีกต่อไป ก็ไม่รู้ว่าจะตอบคนรุ่นลูกรุ่นหลานว่าอย่างไร
ทั้งรู้สึกอาย และทั้งเสียดายโอกาสจริงๆ ประชาชนต้องไม่ยอมแพ้นะครับ