xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยตำนาน “เพื่อนไม่มีชนชั้น” และวลีดัง “ผมไหว้นายกรัฐมนตรี แต่ถ้าเป็นนายเปรมผมไม่ไหว้” หลังสิ้น “ลุงข้วย” เพื่อนซี้ป๋า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ตามรอยเส้นทางชีวิตเพื่อนรักประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ “ลุงข้วย พุทธปาน” ผู้ก่อตำนาน “เพื่อนไม่มีชนชั้น” ที่ยังเล่าขานกันไม่จบ และเจ้าของวลีดัง “ผมไหว้นายกรัฐมนตรี แต่ถ้าเป็นนายเปรมผมไม่ไหว้” เผยเป็นเพื่อนซี้กันตั้งแต่ 7 ขวบ แม้จะแตกต่าง แต่ไม่เคยทอดทิ้ง และช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาทั้งชีวิต
 

 
จากกรณี นายข้วย พุทธปาน หรือ “ลุงข้วย” เพื่อนรัก และเพื่อนสนิทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้เสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 97 ปี ตามรายงานข่าวที่นำเสนอไปแล้วนั้น
 
วันนี้ (16 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.สงขลา ว่า ขณะนี้ญาติๆ ได้นำศพของลุงข้วยไปตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่ ณ วัดสระเกษ อ.เมือง จ.สงขลา โดยลุงข้วย ได้เสียชีวิตอย่างสงบที่โรงพยาบาลสงขลาเมื่อเวลา 16.15 น. ของวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ด้วยอาการปอดติดเชื้อ หลังจากที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 26 วัน และจะมีพิธีฌาปนกิจเวลา 14.00 น. ในวันที่ 18 ส.ค.ที่จะถึงนี้ ณ เมรุวัดสระเกษ เช่นกัน ซึ่งระหว่างนี้ได้มีหัวหน้าส่วนราชการ รวมถึงบุคคลทั้งภาครัฐสำคัญ และเอกชนจำนวนมาก ทั้งนำพวงหรีด และเดินทางไปร่วมบำเพ็ญกุศลศพ เช่น นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม เป็นต้น
 
น.ส.กรชลี พุทธปาน อายุ 55 ปี ลูกสาวคนเดียวของลุงข้วย บอกเล่าว่า ในช่วงที่ลุงข้วย ล้มป่วยอยู่นั้น พล.อ.เปรม เพื่อนรักได้แสดงความห่วงใย โดยได้มอบหมายให้ นายบัญญัติ จันทน์เสนะ ประธานมูลนิธิเรารักสงขลาเฉลิมพระเกียรติ คอยช่วยเหลือดูแล ตลอดทั้งขณะที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และเรื่องของครอบครัว และหลังจากที่เสียชีวิตก็ได้ช่วยเหลือในเรื่องของการพำเพ็ญกุศลศพเป็นอย่างดี ไม่มีขาดตกบกพร่อง ซึ่งครอบครัวต่างซาบซึ้งในความมีเมตตาของป๋าเปรม ที่ดูแลพ่อมาตลอดตั้งแต่ยังมีชีวิต จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
 

 
สำหรับเรื่องราวความเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ของลุงข้วย กับ พล.อ.เปรม นั้น ทั้ง 2 เกิดในปีเดียวกัน และเริ่มรู้จักกันตอนอายุประมาณ 7 ขวบ เพราะมีบ้านอยู่ติดกันในย่านถนนจะนะ เขตเทศบาลนครสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา โดยได้วิ่งเล่นด้วยกันแทบจะทุกวัน และลุงข้วย เคยปั่นรถจักรยานไปส่ง พล.อ.เปรม ที่โรงเรียนด้วย
 
แต่เส้นทางชีวิตที่ต้องห่างกันเริ่มขึ้นเมื่อ พล.อ.เปรม ต้องขึ้นไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ แล้วความแตกต่างกันก็ค่อยๆ ปรากฏอันเป็นไปตามวิถีของแต่ละบุคคล โดย พล.อ.เปรม เจริญเติบโตในหน้าที่การงาน จนวันหนึ่งได้นั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนลุงข้วย ยังคงอยู่บ้านทำงานรับจ้างทั่วไป และถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมเวลา 7 ปี ก่อนปลดประจำการ แล้วหันไปยึดอาชีพถีบสามล้อรับจ้างในตลาดเมืองสงขลา
 
กว่า 50 ปีที่บุคคลทั้ง 2 ไม่ได้พบกัน หรือนับตั้งแต่ปี 2478 เรื่อยมา จนถึงปี 2528 ลุงข้วย จึงได้มีโอกาสพบกับ พล.อ.เปรม และทุกครั้งที่ได้พบกันฝ่ายหลังก็ยังคงพูดคุยด้วยตามประสาเพื่อน รวมถึงให้เงินทองของฝากของใช้ทุกครั้ง โดยยังพูดจาหยอกล้อกันด้วยภาษาปักษ์ใต้เหมือนเมื่อตอนเด็กๆ
 
และเมื่อมีโอกาสลุงข้วย ก็จะถีบรถสามล้อให้ พล.อ.เปรม นั่งเสมอๆ เมื่อเดินทางมาสงขลา พร้อมพูดคุยสอบถามสารทุกข์สุกดิบกันตามประสาเพื่อนอย่างไม่เคยขาดปาก 
 

 
สำหรับเหตุการณ์ที่เป็นนิยามของคำว่า “เพื่อนไม่มีชนชั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ.เปรม เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และลงมาปฏิบัติภารกิจที่วัดดอนรัก อ.เมือง จ.สงขลา ลุงข้วย ก็ไปยืนรอรับเหมือนกับชาวบ้านทั่วไป เมื่อ พล.อ.เปรม เดินผ่านมา และเห็นก็ตรงเข้าไปหา พร้อมพูดทักทายด้วยภาษาปักษ์ใต้ ซึ่งครั้งนั้นลุงข้วย ได้ยกมือไหว้เพื่อนที่มีตำแหน่งเป็นถึงผู้นำบ้านเมือง แต่ปรากฏว่า พล.อ.เปรม พูดจาตอบกลับด้วยในทันทีว่า
 
“ข้วยไหว้เราทำไม เราเป็นเพื่อนกันนะ
 
ณ เวลานั้น ลุงข้วย จึงตอบกลับไปว่า
 
“ผมไหว้นายกรัฐมนตรี แต่ถ้าเป็นนายเปรมผมไม่ไหว้” 
 
แล้วจากนั้นทั้ง 2 คนจะจึงสวมกอดกันด้วยรอยยิ้ม ท่ามกลางความปลาบปลื้มของผู้คนจำนวนมากที่ไปรอต้อนรับกันทั้งวัด ซึ่งได้กลายเป็นเรื่องราวความประทับใจที่มีการเล่าขานติดต่อกันมา โดยเฉพาะทุกครั้งเป็นการพูดถึงเรื่องราวของความเป็นเพื่อนระหว่าง ลุงข้วย กับ พล.อ.เปรม
 

 
ส่วนรถจักรยานที่นำไปแต่งเป็นสามล้อถีบของลุงข้วย หลังจากที่เลิกอาชีพถีบสามล้อแล้วก็ได้ยกให้ พล.อ.เปรม ผู้เป็นเพื่อน โดยถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่ ณ สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สงขลา หรือสวนป๋าเปรม เพื่อเป็นอนุสรณ์ทั้งอาชีพถีบสามล้อที่อยู่คู่กับเมืองสงขลา และกับคำว่า “เพื่อน” ที่ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น หรือยศถาบรรดาศักดิ์ 
 



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น