อดีต ส.ส.ปชป.ซัดคนต้องการสืบทอดอำนาจ ดันประชามติ-คำถามพ่วงผ่าน ไม่คำนึงผลเสีย ไม่กล้าลงหลังเสือ ชำแหละ 8 ข้อฉุดร่าง รธน.ไม่ผ่าน เชื่อ คสช.อาจเตรียมร่างไว้ประกาศใช้หากไม่ผ่าน ชี้ 2 ปีผ่าน ศก.แย่แต่เป็นปกติของ รบ.รัฐประหาร ความสงบทำได้ดี เสียดายปราบโกงแต่ตัวเล็กๆ ปฏิรูปเหลวมัวแต่เกรงใจ โดยรวมถือว่าสอบตก ย้อนถือ กม.ในมือกลัวทำไมพรรคการเมืองประชุม
วันนี้ (22 พ.ค.) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แนวโน้มการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง คนที่ต้องการมีอำนาจร่วมกับ คสช.ก็หน้ามืดตามัวต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านโดยไม่คำนึงถึงผลเสียใดๆ แต่โดยข้อเท็จจริงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.เขียนเพื่อสืบทอดอำนาจให้ คสช.ได้ยาวนานไม่มีที่สิ้นสุด เพราะถ้าร่างผ่านวุฒิสภา 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของคสช.จะเป็นฐานเสียงอันมั่นคงและมีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก ส่วนที่จะให้รับไปก่อนแล้วแก้ไขทีหลังเป็นไปได้ยากมากที่จะแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เพราะคนที่มีอำนาจไม่ว่าใครก็ตาม เป็นการยากที่จะลงจากหลังเสือ เพราะกลัวเสือจะแว้งกัดเอานั่นเอง
จุดด้อยที่อาจทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่าน ในฐานะเป็นนักกฎหมายและอ่านร่างจบทุกมาตรา ผมเห็นว่าจุดเสียที่ไม่อาจยอมรับได้ คือ 1. เรียนฟรีแค่ ม.3 จบแล้วต้องไปกู้กองทุนเรียนต่อ ควรแก้ให้ถึง ม.6 ดังที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำ การศึกษานั้นรัฐควรดูแลและให้เปล่าเพื่อให้เยาวชนฉลาด ชาติจะเจริญ 2. เบี้ยยังชีพคนชรา นายมีชัยเขียนคุณสมบัติเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าบุคคลที่จะมีสิทธิรับนั้นต้องเป็นผู้ยากไร้ ด้วย หากรัฐธรรมนูญผ่าน คนชราที่ไม่ได้เป็นผู้ยากไร้ก็จะหมดสิทธิรับทั้งประเทศ
3. สิทธิในการรักษาพยาบาล การรักษาฟรีสำหรับคนทั่วไปจะหมดไปใช่หรือไม่ 4. เรื่อง ม.190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เดิม นายมีชัยเขียนบังคับว่าถ้ารัฐสภาไม่ผ่านเรื่องที่รัฐบาลเสนอภายใน 60 วัน ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ ถ้าเราได้รัฐบาลทรราชจะทำอย่างไร 5. วุฒิสภา นายมีชัยริบอำนาจการเลือกตั้งจากประชาชนไปหมดสิ้น มาจากการเลือกตั้งของ คสช.แต่เพียงผู้เดียวทั้ง 250 คน 6. การเลือกตั้ง ส.ส.บังคับให้กาบัตรใบเดียวแล้วเอามานับเป็นคะแนนบุคคลและคะแนนพรรค ไม่มีที่ไหนในโลก 7. ให้ คสช.มีอำนาจไปจนถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าทำหน้าที่ 8. การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ผมคิดว่าทั้ง 8 ประการนี้จะเป็นตัวฉุดร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านได้
เมื่อไม่ผ่าน คสช.ก็สามารถนำร่างรัฐธรรมนูญที่อาจเตรียมไว้แล้วมาประกาศใช้ได้ เพื่อให้มีการเลือกตั้งในปี 60 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศต่อนานาชาติ ท่านก็ไม่เสียสัจจะ แต่ถ้านานกว่านั้นอาจเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้ง่าย ตนคิดว่าระหว่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัย กับร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.นั้น ร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.อาจสมบูรณ์กว่าเพราะอย่างน้อยอาจมีการแก้ไขเรื่องเรียนฟรีถึง ม.6 ตามที่รัฐบาลออกมาแถลง และถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจริงๆ แม้ว่าจะใช้กลไกต่างๆ แล้วก็ตาม รัฐบาลอาจสูญเสียความชอบธรรมแต่ก็สามารถอ้างได้ว่าเป็นเรื่องของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชนก็ได้
แล้วถามว่า 2 ปีของรัฐบาล สอบได้หรือสอบตก ก็ต้องไปฟังเสียงของคนทำมาหากินทั่วประเทศว่าบ่นพึมพำกันหรือไม่ ตั้งแต่นักธุรกิจยันคนถีบสามล้อทุกคนมีแต่ส่ายหน้า ซึ่งไม่ใช่ความผิดของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ประการใด เพราะไม่ว่ารัฐบาลใดหากมาจากคณะรัฐประหารก็ต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจทุกชุด แต่ในเรื่องการรักษาความสงบถือว่าทำได้ดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพราะเกรงกลัวอำนาจเด็ดขาดของทหาร หากไม่เกิดกรณีฆาตกรรมอำพราง พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ เลขาธิการสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ ผลงานด้านนี้จะได้เต็ม 100 คะแนน ส่วนเรื่องการปราบการทุจริตคอร์รัปชันยังคงมีแต่ปลาซิวปลาสร้อยเป็นหลัก ปลาใหญ่ๆหลุดรอด ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก และเรื่องการปฏิรูปประเทศอาจกล่าวได้ว่าสอบตกอย่างสิ้นเชิงเพราะอาจเกรงใจกันเกรงใจกันมาจึงไม่กล้าปฏิรูปให้เด็ดขาด ไม่ว่าการปฏิรูปตำรวจ ระบบข้าราชการหรือการบุกรุกทำลายป่าล้วนแต่เกิดจากข้าราชการและนักการเมืองบางคนทั้งนั้น จับไปตรงไหนก็เจอแต่คนเส้นใหญ่ๆ กฎหมายเลยไม่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้บังคับเฉพาะกับคนจนและคนไม่มีเส้นเท่านั้น
“สรุปว่าผลงานโดยรวมของรัฐบาลสอบตกแบบคนผิดหวังเพราะคาดหวังไว้สูงมากกับรัฐบาลนี้ นักการเมืองไม่ใช่ว่าได้คืบจะเอาศอกตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็รักชาติบ้านเมืองไม่แพ้ทหารคนใด เป็นสิทธิของประชาชนที่มีอยู่แต่เดิม เราเพียงเรียกร้องสิทธิของเราคืนและให้คสช.ผ่อนปรนให้พรรคการเมืองจัดประชุมได้ จะได้ระดมความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ การปรองดองและการปฏิรูปซึ่งจะเป็นการช่วยรัฐบาลไปในตัว ส่วนพรรคการเมืองใดฉวยโอกาสปลุกระดมใส่ร้ายรัฐบาล ท่านมีอำนาจอยู่ในมือจะไปกลัวพวกไม่เคารพกฎหมายทำไม” นายวัชระกล่าว