xs
xsm
sm
md
lg

ร้องรัฐ! ช่วยด่วนผ่าถนนกลางนาทำพิษ ชาวบ้านนาพละเดือดร้อนนานร่วม 10 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ชาวบ้านนาพละ เดือดร้อนมานานกว่า 10 ปี หลังแขวงการทางตรังตัดถนนผ่ากลางที่นา ปิดกั้นทางน้ำ ส่งผลให้ได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร ร้องรัฐบาลช่วยเหลือด่วนก่อนข้าวสูญพันธุ์

วันนี้ (16 ส.ค.) ที่ จ.ตรัง นายสายัณห์ อินทรสมบัติ รองผู้ว่าราชการ จ.ตรัง นายสุพิท จิตรภักดี เกษตรกร จ.ตรัง และ นายสำเริง นิลละออ นายก อบต.นาพละ พร้อมตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ชาวบ้าน ร่วมหารือปัญหาขาดแคลนน้ำทำนาปี หลังจากแขวงการทางตรัง มีการสร้างถนนเลี่ยงเมืองรอบนอกตัดผ่ากลางทุ่งนา ในพื้นที่ ม.4 และ ม.5 ต.นาพละ อ.เมืองตรัง เพื่อ เชื่อมต่อระหว่างอำเภอเมือง-ห้วยยอด-ปะเหลียน สู่จังหวัดรอยต่อนครศรีธรรมราช สงขลา และสตูล ตั้งแต่ปี 2547-2548

โดยส่งผลให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ เนื่องจากบางปีที่มีฝนตกหนักทำให้มีน้ำมากเกินไป และบางปีฝนตกน้อยน้ำไม่เพียงพอต่อการทำนาข้าว ทำให้ชาวนาซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่เดือดร้อน ทำนาไม่ได้ผลเท่าที่ควร จนบางคนถึงขั้นขายที่นาทิ้งเพื่อหนีปัญหา และหันไปประกอบอาชีพอื่น หรือขายแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม โดยปล่อยให้ที่นาซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาตกเป็นของนายทุนเตรียมสร้างบ้านจัดสรร

 

 
แต่ยังมีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ยังยืนหยัด และอยากจะทำนาปลูกข้าวไว้กินเอง หากเหลือก็นำไปขายสร้างรายได้อีกทางให้ครอบครัว แต่ต้องทำนาแบบวัดดวงว่าปีนั้นๆ น้ำที่มาจากธรรมชาติจะพอดีต่อความต้องการหรือไม่ ซึ่งการตัดถนนเลี่ยงเมืองดังกล่าวไม่มีแผนรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ชาวบ้านจึงร่วมตัวกันหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง

นายสัมพันธ์ พิทักษ์ อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3 ม.4 ต.นาพละ อ.เมือง จ.ตรัง กล่าวว่า ตนยึดอาชีพทำนามานานกว่า 50 ปี เมื่อก่อนได้ผลดีมีข้าวไว้ให้ครอบครัวได้กินเพียงพอ แต่ต่อมามีการตัดถนนเลี่ยงเมืองผ่ากลางที่นา ม.4 และ ม.5 ตั้งแต่ปี 2547 ทำให้ปลูกข้าวไม่ได้ผลเท่าที่ควร บางปีขาดน้ำ บางปีน้ำท่วม ทำให้หมดกำลังใจในการทำนาหลายครั้ง แต่ก็อดทนมาตลอด หวังว่าวันหนึ่งปัญหานี้จะได้รับการแก้ไข โดยที่นาที่ติดถนนส่วนใหญ่เป็นของนายทุนไปหมดแล้ว และหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้อาชีพชาวนาคงต้องสูญพันธุ์แน่นอน
 

 
ด้าน นายสายัณห์ อินทรสมบัติ รองผู้ว่าฯ ตรัง กล่าวว่า จากการลงดูพื้นที่พบว่า การก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองดังกล่าวไม่มีการวางแผนรองรับปัญหาเรื่องน้ำที่ชาวบ้านจะต้องใช้ในการทำนา ซึ่งพื้นที่นาพละ อ.เมืองตรัง ปัจจุบันมีที่นาประมาณ 1,000 ไร่ และยังคงมีชาวบ้านทำนาข้าวอยู่ประมาณ 500 ไร่ จากจำนวน 34 ครัวเรือน ชนิดข้าวเปลือก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ขาวเล็บนก สังข์หยด ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่ต้องการของตลาด โดยในแต่ละปีสามารถได้ผลผลิตราว 25,000 กก. และยังมีข้าวพันธุ์ดั้งเดิมที่ชาวบ้านปลูกกินเอง คือ พันธุ์เข็มเพชร เข็มทอง ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่หายากในปัจจุบัน

อีกทั้งที่นี่ยังเคยเป็นพื้นที่นาที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ เนื่องจากมีน้ำหล่อเลี้ยงที่สำคัญถึง 2 สาย คือ คลองน้ำเจ็ด และคลองนางน้อย ตั้งแต่อดีตมาชาวบ้านทำนาได้ผลดี พออยู่พอกินไม่ได้เดือดร้อนมากนัก แต่ปัจจุบันกลับได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของเมืองที่ขาดการศึกษาข้อมูลที่มากพอ ครั้งนี้ตนจึงได้ร่วมหารือกับ อบต.นาพละ และเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมถึงชาวบ้านหาทางออกเรื่องนี้

“โดยอะไรที่ทำได้เฉพาะหน้าก็มอบหมายให้ อบต.นาพละ ดำเนินการไปได้เลย เช่น การทำเหมืองดินชั่วคราวเพื่อให้น้ำสามารถไหลเข้าสู่นาข้าวได้ และหากติดปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นของเอกชนขอให้มีการเจรจาก่อน หากยังมีปัญหาอีกก็อาจจะต้องซื้อคืน และหากไม่ยินยอมก็ต้องย้อนไปดูการออกเอกสารสิทธิว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะที่เอกชนอยู่ด้านนอก ส่วนที่สาธารณะอยู่ด้านใน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะไม่มีปัญหา นอกจากนี้ จะมีการปรึกษากับแขวงการทาง เพื่อหาทางออกเรื่องนี้ร่วมกันอีกครั้ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน และร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่นาของ จ.ตรัง ด้วย” รองผู้ว่าฯ ตรัง กล่าว
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น