โดย...ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
------------------------------------------------------------------------------------------
“ชง ครม.ระบายสต๊อกยาง 3.1 แสนตัน ก.เกษตรสารภาพแบกค่าเช่า โกดังไม่ ไหว” หัวข่าว สื่อเว็บไซต์ของไทยรัฐ เมื่อวันอังคารที่ 28 มิ.ย. 2559
“ชงโละส ต๊อกยางเก่า 3.1 แสนตัน เกษตรกร ผู้ส่งออกรุมค้าน” พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 26-29 มิ.ย. 2559
ในเนื้อข่าวยังบอกอีกว่า นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ท่านเป็นอุปนายกสมาคมยางพาราไทย ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไทยรับ เบอร์ ลา เท็คซ์ คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ราคาน้ำยางสดวันที่ 24 มิ.ย.2559 อยู่ที่ 49.50 บาทต่อกิโลกรัม มีแนวโน้มที่จะขยับไปแตะ 50 บาท แต่ถ้ารัฐบาลจะขายยางในสต๊อก หากมีผลทำให้ราคาน้ำยางสดลดลงทุก 1 บาทต่อกิโลกรัมจะทำให้เกษตรกรเสียหายเดือนละ 300 ล้านบาท เพราะปริมาณน้ำยางสดมีผลผลิตประมาณเดือนละ 3 แสนตัน
นี่เป็นความจริงที่เราเห็นว่า ภาคเอกชนพ่อค้าที่เขาอยู่ในวงการยางฝากข้อคิดท้วงติงมายังหน่วยงานรัฐ!
ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอยู่ในตลาดการค้าของโลก เป็นสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์ที่มีราคาขึ้นลงจะสั่นไหวไปตามข่าวสารของกลไก Demand และ Supply
สมมุติว่าหากมีข้อมูลปรากฏออกมาว่า ราคายางในช่วงเดือน มิ.ย.2559 ราคายางรมควันชั้น3 55.43 บาท น้ำยางสด ณ โรงงาน 48.81 บาท เศษยาง 100% 38.90 บาท
ก.ค.2559 ราคายางรมควันชั้น3 41.38 บาท น้ำยางสด ณ โรงงาน 40.18 บาท เศษยาง 100% 32.68 บาท
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เราจะเห็นอะไรบ้างเดือนใน ก.ค.ราคายางรมควันชั้น 3 ตกลงมา 14 บาท เดือน ก.ค.ราคาน้ำยางสด ณ โรงงานตกลงมา 8 บาท ส่วนเศษยาง100% ตกลงมา 6 บาท
ผลผลิตยางแผ่นรมควันต่อเดือน 7 หมื่นตัน เท่ากับ 70 ล้านกิโลต่อเดือน เงิน 980 ล้านบาทหายจากกระเป๋าชาวสวนยาง
ผลผลิตน้ำยางสด 6 หมื่นห้าพันตัน เท่ากับ 65 ล้านกิโลต่อเดือนเงิน 520 ล้านบาทหายไปจากกระเป๋าของคนกรีดยางชาวสวนยาง
ผลผลิตเศษยาง 100% 1 แสนห้าหมื่นตัน 150 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน 900 ล้านบาทหายไปจากกระเป๋าของชาวสวนยางและคนกรีดยาง
ณ ขณะนี้สภาพความเป็นจริงของตลาดยางที่เป็นความจริงของชีวิต ตั้งแต่วันที่ 1-10 ส.ค.
จากข้อมูลราคายางที่ปรากฏความเคลื่อนไหวของราคายางในช่วงต้น ส.ค. ณ ตลาดกลางหาดใหญ่
วันที่ 1 ส.ค.ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 60.33 บาท
วันที่ 10 ส.ค.ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 53.66 บาท
นั่นหมายความยางแผ่นรมควัน เงินหายไปจากกระเป๋าชาวสวนยาง 6.67 ต่อกิโล ผลผลิตประมาณ 70 ล้านกิโลต่อเดือน หากราคาอยู่ในระดับนี้เงินจะหายไปจากชาวกระเป๋าชาวสวนยาง 466 ล้านต่อเดือน
วันที่ 1 ส.ค.ราคายางแผ่นดิบ 59.49 บาท
วันที่ 10 ส.ค.ราคายางแผ่นดิบ 52.90 บาท
นั่นหมายความเงินหาย ไป 6.59 บาทต่อกิโลจากกระเป๋าชาวสวนยาง ประมาณคร่าวๆ ว่าผลผลิตยางแผ่นดิบประมาณ 70 ล้านกิโลต่อเดือน (ยางแผ่นดิบที่มีอยู่ในท้องตลาดน่าจะมีมากกว่านี้) เงินประมาณ 461ล้านต่อเดือนหายไปจากกระเป๋าชาวสวนยางและคนยกรีดยาง
มาดูราคาน้ำยางในท้องถิ่น จากข้อมูลสมาคมน้ำยางข้นไทย
1 ส.ค.ราคาน้ำยางสด 52.50 บาทต่อกิโล
10 ส.ค.ราคาน้ำยางสด 49.00 บาทต่อกิโล
หากราคายืนแบบนี้ เงินหายไปจากกระเป๋าชาวสวนยาง 3.50 บาทต่อกิโล ประเทศไทยผลิตน้ำยางสดเดือนหนึ่ง เราผลิตได้ 65 ล้านกิโล เงินจะหายไปในหนึ่งเดือน 227 ล้านบาท
หากราคายางเดือน ส.ค.นับจากนี้ไปไม่โงหัวขึ้น
เดือน ส.ค.เม็ดเงินประมาณ 1,154 ล้านบาทต้องอันตรธานหายไป นั่นหมายความว่ารองเท้าใหม่ของลูกคนกรีดยางต้องใช้คู่เก่า ปลากระป๋อง ข้าวสาร มาม่าที่มีกินอยู่ตามก๋งซี่บ้านของชาวสวนยาง ก็ต้องน้อยลงไป แน่นอนว่าต้องประหยัดท่ามกลางความขัดสน
สำนึกของความตื่นตัวทางข้อมูล ที่ผู้รับผิดชอบในวงการยางจะต้องประเมินข้อมูล เหตุปัจจัยแห่งเสถียรภาพของราคายาง ผลกระทบต่อชีวิตทางเศรษฐกิจชาวสวนยางเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงอยู่ตลอด!!
เพราะยางเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่อ่อนไหวต่อข่าวสาร
การที่ยางราคาวิ่งลง น่าจะมาจากผลทางจิตวิทยาของข่าวสารสต๊อกยางในโกดังของทางราชการที่มีการให้ข่าวเรื่องของการจะเทออกมาขาย ด้วยเพราะเป็นกังวลค่าเช่าโกดังที่รัฐแบกรับเพียงเดือนละ 30 ล้านบาท
ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ ประเทศไทยปลูกยางพาราประมาณ 20 ล้านไร่ 13 ล้านไร่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ผลผลิตยางพาราต่อปีของประเทศประมาณ 4 ล้านห้าแสนตัน
จากข้อมูลของ International Rubber Industry Report ที่ใช้ในการคาดการณ์ประเมินสถานการณ์ยางของโลก มีรายงานคาดการณ์ไว้ว่า ความต้องการบริโภคยางของโลกในปีนี้อยู่ที่ 12.81 ล้านตัน ขณะที่โลกใบนี้คาดการณ์ในปีนี้ผลิตยางธรรมชาติมีแค่ 12.86 ล้านตัน สต๊อกยางของโลกตกค้างเหลืออยู่น้อย ถือว่าค่อนน้อยเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน
ข้อมูลการคาดการณ์ในเรื่องภาวะยางโลกของ International Rubber Industry Report เป็นฐานข้อมูลให้กับประเทศผู้บริโภคยางใช้เป็นฐานข้อมูลในการคาดการณ์ การซื้อขายยางในโลกใบนี้
ปีที่แล้วภาวะแล้งเกิดภัยแล้งไปทั่วภูมิภาคในเอเชีย สภาวะแล้งลากยาวมาถึงกลางปี 2559 การเปิดกรีดยางล่าช้ากว่าปกติ
สภาวะแล้งครอบคลุมในหลายประเทศของผู้ผลิตยางของโลก ทั้งไทย ลาว พม่า เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย
ซึ่งแน่นอนที่สุด ผลผลิตยางธรรมชาติของโลกที่คาดการณ์ไว้ย่อมต้องลดลงมาก คาดว่าผลผลิตยางโลกลดลงต่ำกว่าที่ International Rubber Industry Report คาดการณ์เอาไว้อีก
สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลเป็นปัจจัยที่จะทำให้ราคายางไม่ควรตกต่ำอีกแล้ว!!!
สต๊อกยางในประเทศสามแสนตัน ก่อนนี้มีการเสนอให้เป็น Dead Stock เพื่อไม่ให้เป็นลูกตุ้มถ่วงกดทับการทะยานของกลไกราคายางของโลกการค้ายาง
ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านได้ส่งสัญญาณทางยุทธศาสตร์มาอย่างถูกต้องแล้วก่อนหน้านี้ หรือเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่า ประเทศไทยจะนำยางในประเทศมาใช้ทำถนน ทำทางหลวงในประเทศ ทำสนามกีฬา ทำหมอนรองรถไฟรางคู่ ทำโน่นนี่นั่นสารพัด
สัญญาณนี้ถือที่เป็นนโยบายที่มีผลเชิงบวกมาโดยตลอดว่า ยางพาราในสตอกของหลวงประเทศไทยเราจะนำมาใช้บริโภคให้พร่องลง เพื่อการพัฒนาทำโครงสร้างพื้นฐานของประเทศครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
การค้ายางของโลกเหมือนกับการทำสงคราม!
นายกรัฐมนตรีได้ลั่นกระสุนปืนใหญ่ออกไปแล้ว เพื่อรุกคืบ เป้าหมายทางยุทธศาสตร์คือ การแก้ปัญหา
เพื่อขับดันกลไกของราคายาง
แต่ก็ไม่เข้าใจว่า กลไกของราชการไพร่พลที่ต้องรุกคืบต่อ เพื่อยึดพื้นที่กำชัยชนะ ทำไมจึงลั่นกระสุนกันมั่วอย่างมองไม่เห็นทิศทาง?
สัญญาณเชิงบวกที่นายกรัฐมนตรีลั่นกระสุนปืนใหญ่ออกไป เป็นนโยบายของชาติที่คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์และเป็นผลดีต่อกลไกราคา
การส่งสัญญาณเชิงบวกบอกไปยังโลกทางการค้ายางว่า รัฐมีเป้าหมายเด่นชัดในการแก้ปัญหาสต๊อกในประเทศอีกไม่นานมันจะพร่องลงอย่างรวดเร็ว เพราะการใช้ในประเทศมีแผนรองรับการให้หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล กระทรวงสร้างทางหลวง กระทรวงกีฬาก็จะนำไปทำสนามกีฬา มีข่าวออกมาตลอดทั้งปี เมื่อปีที่แล้วว่าจะนำยางในสตอกหลวงไปใช้อย่างจริงจัง
สต๊อกยางสามแสนกว่าตัน นับจากนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยที่เป็นตุ้มถ่วงของกลไกราคายางโลกอีกต่อไป!!
เมื่อราคายางดีขึ้น เงินอยู่ในกระเป๋าชาวสวนยางมากขึ้น
การจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น เด็กๆ ลูกชาวสวนยางคนกรีดยางมีรองเท้าใหม่ไปโรงเรียน อาหารการกินของลูกๆ ชาวสวนยางที่มีไม่สมบรูณ์มาตลอดสองปีที่ผ่านมา ข้าวสารที่จะใช้หุงกินตามสวนยางจะได้มีกินอิ่มท้องกับเขาบ้าง
การทำงานและการดำรงอยู่ของหน่วยงานรัฐ..เป้าหมายคือ ผลประโยชน์ชาติความผาสุกของประชาชน
ผมเชื่อว่าหากข้อมูล องค์ความรู้ เรื่องการค้ายางเหล่านี้มีอยู่ในความเข้าใจของผู้มีอำนาจตัดสินในระดับนโยบายของรัฐบาล บวกกับการมีสำนึกที่เท่าทันต่อกลไกราคายางที่อ่อนไหว
การพูดเรื่องเทขายสตอกยางในโกดังหลวง ควรเป็นเรื่องที่ต้องยั้งคิด คิดทบทวน ไตร่ตรองกันหลายตลบ และควรมีความรู้ที่เท่าทันในเรื่องนี้!
ชาวสวนยาง คนกรีดยาง ทุกข์ยากมานานสองสามปีแห่งความอัตคัดขัดสน
เราควรร่วมใจ ทุ่มเทตั้งใจทำเพื่อเขาหน่อยดีไหมครับ.. “ท่านประธาน คสช.” ที่เคารพ!!