ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับที่เสนอเข้า สนช. ด่วนก่อนวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ชี้เนื้อหาของ พ.ร.บ.แร่ นี้มีหลายประเด็นที่มีความเสี่ยงที่จะนำพาไปสู่การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ชุมชน และเปิดทางเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนเหมืองแร่
วันนี้ (1 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ได้ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับที่เสนอเข้า สนช. ด่วนก่อนวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า
เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ติดตามดูสถานการณ์ของบ้านเมืองการต่ออายุสัมปทานเหมืองหินเขาคูหา และปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ชุมชนเรามีความเห็นว่า ขณะนี้มีความเสี่ยงระดับประเทศที่จะเปิดทางเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนเหมืองแร่ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนชุมชน ดังนี้
ประเด็นแรก รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการ สนช.เนื้อหาของ พ.ร.บ.แร่ นี้มีหลายประเด็นที่มีความเสี่ยงที่จะนำพาไปสู่การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ชุมชน และเปิดทางเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนเหมืองแร่
“การกันเขตทรัพยากรแร่” หรือ Mining Zone ซึ่งให้อำนาจการกันเขตพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่น ทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยที่ทำกินของประชาชน พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร พื้นที่ชุ่มน้ำแหล่งอาศัยสำคัญของสัตว์ป่าและพรรณพืชหายาก หรือพื้นที่อ่อนไหวทางระบบนิเวศอื่นๆตั้งแต่พื้นที่บนภูเขาสูง ไปจนถึงที่ราบต่ำ และชายทะเล พื้นที่การเกษตร พื้นที่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ทางโบราณวัตถุโบราณสถาน หรือแหล่งฟอสซิลที่ควรค่าแก่การศึกษา และอนุรักษ์ไว้
ซึ่งเดิมกฎหมายแร่ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน กระทรวงอุตสาหกรรมต้องขออนุญาตต่อหน่วยงานอื่นเจ้าของพื้นที่ทุกหน่วยงาน ทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมศิลปากร ซึ่งจะต้องดำเนินการหลายขั้นตอน ฉบับนี้ไม่ต้อง อีกประเด็นซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก คือ การไม่มีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชนในทุกกระบวนการขั้นตอน ดังนั้น พ.ร.บ.แร่ฉบับนี้ต้องถอนออกมาก่อน
ประเด็นที่สอง ร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับนี้ยังผูกพันกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติเนื่องด้วย หมวดที่ ๓ สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย “มาตรา ๔๓ (๒) ที่ให้บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิในการจัดการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรฯ...ตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ”
หากว่า “ตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ” ก็คือ กฎหมายวิธีการจัดการเหมืองแร่แบบ ร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับนี้ก็เห็นอนาคตชัดเจนว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่สวยหรูนั้น เป็นเพียงกลลวงของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ส่งผลต่อการพิจารณารับ-ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน และชุมชนของเราอย่างแน่นอน ด้วยเหตุที่กล่าวมาพวกเราจึงขอประกาศให้รัฐบาล ทราบว่า (๑) ให้รัฐบาลถอน ร่างพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. ... ออกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)แล้วนำร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย (คปก.) มาเป็นร่างหลักในการพิจารณาเพราะร่าง พ.ร.บ.แร่ ของ คปก. ได้ผ่านกระบวนการศึกษา และมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนมาแล้ว
(๒) หากรัฐบาลไม่ถอน ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ... ฉบับดังกล่าวออกจาก สนช.ก่อนลงประชามติ เป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ที่จะไม่เห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชุมชน พวกเราก็คงต้องพิจารณาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการลงประชามติในวันที่๗สิงหาคม ๒๕๕๙ เพราะเป็นการออกเสียงประชามติมาทำร้ายทำลายชุมชนของเราเอง (๓) ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไรพวกเราจะรวมตัวกับเพื่อนภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังและติดตาม ผลักดันให้ยกเลิกเพิกถอน พ.ร.บ.แร่ ฉบับดังกล่าวต่อไป