xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อน้องเล็กควงพี่ใหญ่-พี่กลาง-เฮียกวง “ทัวร์ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” ก่อนลงประชามติ หวังดับไฟใต้ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะใหญ่ลุยจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 25 ก,ค,ที่ผ่านมา
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
ในรอบสัปดาห์นี้มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องติดตามความคืบหน้า เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ 3 เรื่องด้วยกัน
 
เรื่องที่ 1 คือ เรื่องการเดินทางมามอบตัวของ 3 นักสิทธิมนุษยชน” จาก “มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” จากสาเหตุของการจัดทำรายงานการซ้อมทรมานผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง และถูก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาท ทางคอมพิวเตอร์
 
เรื่องที่ 2 คือ เรื่องการจัดเวทีเสวนาของ “นักการเมืองชายแดนใต้” ที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อแสดงความคิดเห็นในการ “ดับไฟใต้โดยมี “สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล” เข้าร่วมรับฟังการเสวนาในครั้งนี้
 
และเรื่องที่ 3 คือ ปรากฏการณ์ “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่นำคณะ “พี่ใหญ่” และ “พี่กลาง” แห่ง “บูรพาพยัคฆ์” และมือเศรษฐกิจอย่าง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฝ่ายเศรษฐกิจ เหยียบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการ “เหยียบครั้งแรก” นับตั้งแต่ยึดอำนาจเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ
 
อันเป็นการ “เหยียบแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงจังหวะที่ “กองทัพ มีความเชื่อมั่นว่า ขณะนี้สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กองทัพสามารถที่จะ “ควบคุมให้อยู่ในวงที่ “จำกัดโดยเชื่อว่า “แนวร่วม ไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวเพื่อก่อการร้ายในหัวเมืองเศรษฐกิจอย่างเมื่อก่อน
 
รวมทั้ง “กองทัพและหมายรวมถึง “รัฐบาลมั่นใจว่าที่ผ่านมา 2 ปีของรัฐบาลที่ใช้โครงการ “ประชารัฐ ในการแก้ปัญหาความไม่สงบโดการบูรณาการทุกภาคส่วน อันหมายถึง “รัฐและ “ประชาชนมีมรรคมีผลที่จับต้องได้ และเป็นที่ “พึงใจ ของประชาชนที่เป็นคนในพื้นที่
 
และเป็นการเดินทางมาเยือน “พื้นที่ขัดแย้ง ในช่วงก่อนที่จะมีการลง “ประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ พร้อมทั้งนำเสนอ “โครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งเป็นแผนการขับเคลื่อนการพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายการขับเคลื่อนภาคธุรกิจเอกชนภายใต้แนวทาง “สานพลังประชารัฐ”
 
ซึ่งรัฐบาล และ คสช.เชื่อว่า ถึงเวลาที่จะใช้แนวทางการพัฒนา หรือแนวทางการสร้างเสริมเศรษฐกิจแนวใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อที่จะ “สยบการใช้ความรุนแรงของ “บีอาร์เอ็น ซึ่งขณะนี้เริ่มไม่เป็นที่ “ตอบรับ ของกลุ่มคนในพื้นที่ ยกเว้นกลุ่มสุดโต่ง และกลุ่มคนบางกลุ่มที่ยังฝันถึงการมี “เอกราชและการแยกประเทศ ซึ่งล้วนเป็นความเป็นไปไม่ได้สำหรับประเทศไทย
 
การหยิบเอานโยบายสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องที่คนในพื้นที่เคยนำเสนอ เพียงแต่รัฐบาลที่ผ่านมาจะให้ความสนใจต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะที่ “เป็นฝ่ายค้านเท่านั้น แต่เมื่อ “เป็นรัฐบาล ปัญหาจะถูกเก็บใส่ลิ้นชัก เหมือนกับว่าเป็น “เผือกร้อน ที่ไม่มีรัฐบาลไหนอยากจะจับต้องให้ลวกมือ
 

 
สำหรับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น อาจจะ “ผอกแผก” จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะจะเสนออะไร อย่างไหนก็ไม่มีใคร “กล้าคัดค้าน” จะผิด จะถูกก็เป็นเรื่องของรัฐบาล หรือของ คสช. ซึ่งในครั้งนี้ประเด็นหลักๆ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หยิบยื่นให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะที่ 1-2
 
ระยะที่ 1 (พ.ศ.2560-2561) โดย 1.ให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่พิเศษ” ทำหน้าที่ในการบูรณาการการทำงานที่เกี่ยวข้องทั้งระบบเป็นวันสตอป เซอร์วิส ปรับปรุงกฎหมาย อำนวยความสะดวก การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  2.ตั้ง “กองทุนส่งเสริมนักธุรกิจรุ่นใหม่” จังหวัดละ 100 ล้านบาท 3.ปรับปรุง “ท่าเรือปัตตานี” ให้รับเรือขนาด 5,000 ตันกอรสได้  4.รัฐจัดหา “พื้นที่กลาง” เพื่อการลงทุน เช่น การทำคลังสินค้า การสร้างโรงงานขนาดเล็กเพื่อนักธุรกิจรุ่นใหม่ ฯลฯ
 
ส่วนระยะที่ 2 (พ.ศ.2562-2563 ) เป็นการ “วางระบบโครงสร้างพื้นฐาน” โดยเฉพาะการขนส่งเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง 3 เมือง และเชื่อมต่อไปยังประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนนานาชาติ
 
ที่น่าสนใจในแผนการพัฒนาครั้งนี้คือ การหยิบยกเอา 3 เมืองหลักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “เมืองต้นแบบ ของการพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน
 
อย่าง “เมืองเบตง” เป็นเมืองต้นแบบการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยการหยิบเอาอัตลักษณ์ของเมืองที่ในชีวิตจะต้องไปเยือนให้ได้ ซึ่งจะเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และอื่นๆ ซึ่งต้องมีความพร้อมด้านพลังงาน เพราะเบตงเป็นอำเภอที่ใช้ไฟฟ้าเป็นอันดับ 1 ของ จ.ยะลา ความพร้อมด้านอาหาร และความพร้อมด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเบตง จะมีสนามบินในอีก 2 ปีข้างหน้า
 
เมืองที่ 2 ที่ถูกนำมาเป็นเมืองแห่งต้นแบบคือ “เมืองสุไหงโก-ลก” จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นเมืองชายแดนที่ต่อติดกับมาเลเซีย เช่นเดียวกับเมืองเบตง โดยเมืองแห่งนี้จะเป็นโมเดลเมืองต้นแบบการค้าชายแดนนานาชาติ จะสร้างให้เป็น “ประตูสู่อาเซียน” เป็นต้นทางของลอจิสติกส์ทั้งใน และนอกประเทศ รวมถึงธุรกิจการบริการ นันทนาการและอื่นๆ เพื่อเป็นการรองรับธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจท้องถิ่น ธุรกิจรุ่นใหม่ และวิสาหกิจชุมชน ฯลฯ
 
และเมืองที่ 3 ที่ถูกหยิบขึ้นมาเป็นต้นแบบของการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาการก่อการร้ายในครั้งนี้คือ “เมืองหนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นเมืองที่เคยเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ในอดีตกาล แต่ปัจจุบันคือ “เมืองแห่งการก่อการร้าย” ซึ่งต้องยอมรับว่า ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา เมืองอื่น หรืออำเภออื่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้เหตุร้ายลดลง สถานการณ์ดีขึ้น ยกเว้น อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่แม้จะเป็นที่ตั้งของค่ายอิงคยุทธบริหาร เป็นที่ตั้งของมณทลทหารบกที่ 46 และเป็นที่ตั้งของกองพล 15 แต่รอบๆ บริเวณค่ายทหารยังเต็มไปด้วยความรุนแรง
 
การหยิบเอาเมืองหนองจิกเป็นเมืองต้นแบบ “เกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าและครบวงจร” จึงเป็นเรื่องที่น่าลอง และน่าสนใจ เพราะหนองจิกมีพื้นที่เกษตรที่ปล่อยร้างเป็นจำนวนมาก มีพื้นที่ติดกับชายทะเล ซึ่งแผนใน “ระยะต้นน้ำ” คือ ส่งเสริมการทำการเกษตรให้แก่คนในพื้นที่ ใน “ระยะกลางน้ำ คือ การส่งเสริมโรงงานแปรรูอาหารสุขภาพ อาหารฮาลาล และใน “ระยะปลายน้ำ” คือ ตลาดการค้าอาหารสด-แช่แข็ง-แปรรูป ทั้งในการค้าภายในประเทศ และต่างประเทศ
 
หลายคนที่อ่านแล้ว หรือได้ยินมาอาจจะเข้าใจว่า “ฝันไป” แต่ความจริงถ้ารัฐบาลตั้งใจที่จะทำให้ได้ ก็ไม่น่าจะใช่เป็นเพียง “ความฝัน หรือเป็น “ยาหอม” ก่อนที่จะไปลงประชามติ เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ อย่างเช่นวันนี้เมืองหนองจิก มีโรงงานปาล์มน้ำมัน แต่กลับต้องซื้อผลปาล์มจากนอกพื้นที่ 70% เพื่อป้อนเข้าสู่โรงงาน ทั้งที่ อ.หนองจิก มีที่ดินรกร้างสุดลูกหูลูกตา
 
มีสิ่งหนึ่งที่ต้องตั้งขอสังเกตคือ ที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาล หรือหน่วยงานในพื้นที่อย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ประกาศให้พื้นที่ไหนเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” หรือเป็น “อำเภอสันติสุข” เมื่อไหร่ เมื่อนั้นบีอาร์เอ็นก็จะทำให้เป็น“พื้นที่กระสุนตก” ในทันที
 
ดังนั้น หวังว่าการประกาศให้ 3 เมืองดังกล่าวเป็นเมืองต้นแบบของการพัฒนา กองกำลังในพื้นที่จะสามารถ“ป้องกัน” โดยเฉพาะอย่างให้ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ได้ และเป็นภาระแก่ประชาชน
 
ที่น่าสนใจคือ ในการมาเพื่อสร้างสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของผู้นำประเทศในครั้งนี้ ไม่ได้หยิบยก หรือกล่าวถึง “โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ขนาดใหญ่ที่ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี แต่อย่างใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คสช.และรัฐบาลเข้าใจสถานการณ์ และต้องการที่จะลด “ความขัดแย้ง” ในพื้นที่อย่างแท้จริง
 
ดังนี้แล้วก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีต่อคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในขณะเดียวกัน ก็เป็น “งานหนัก” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. ในฐานะ “กองหน้า” ในการทำหน้าที่บุกเบิกให้เป็นไปตามความต้องการของรัฐบาล
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น