xs
xsm
sm
md
lg

เผยชีวิตชายชราวัย 70 สืบสานงานศิลปหัตกรรมพื้นบ้านอยู่คู่ชุมชนปัตตานีโบราณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - เผยชีวิต! ชายชราวัย 70 ปีชาวปัตตานี ไม่ยอมเกษียณตัวเองต่อการสืบสานงานศิลปหัตกรรมพื้นบ้าน เพื่อให้คงอยู่ควบคู่กับชุมชนปัตตานีโบราณ วอนหน่วยงานรัฐสนับสนุนเครื่องมือทุ่นแรง

วันนี้ (21 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จ.ปัตตานี ในอดีตเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ มีความเจริญเกือบทุกด้าน เป็นเมืองท่าที่ใหญ่อีกแห่งในหมู่เกาะแหลมมลายู ในราวยุคสมัยอยุธยาต้อนต้น จึงทำให้มีชาวต่างชาตินำสินค้าผลิตภัณฑ์เข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก โดยมีทั้งเครื่องใช้ ประเภทถ้วยชาม จานเคลือบเงาสวยงามเป็นจำนวนมาก ที่มาจากจีน และแถบยุโรป เป็นต้น ในส่วนเครื่องหัตกรรมที่ทำจากพื้นที่ส่วนใหญ่ทำมาจากทองเหลือง ไม้ เป็นต้น จึงไม่แปลกในพื้นที่ที่ตั้งเขตชุมชนเมืองปัตตานีโบราณ จะยังคงมีปราชญ์ที่ฝังลึกด้วยถูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งนิยมบรรจงสร้างเครื่องใช้โบราณร่วมสมัย เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ความเป็นมาในอดีต

ที่บ้านไม้ใต้ร่มเงาสวนมะพร้าวเลขที่ 114 ม.2 บ้านปาเระ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นชั้นเดียวยกพื้น มีสภาพที่ทรุดโทรม ตั้งอยู่บริเวณปลายของชุมชนบาราโหม ติดกับแม่น้ำปาเปรีย์ (คูวังอิสตานานีลัม หรือราชวังนิล) ซึ่งเป็นบ้านของ นายอาลี มาหะ วัย 70 ปี ซึ่งภายในบ้านเต็มไปด้วยไม้แกะสลักที่เป็นเครื่องใช้โบราณ เช่น กระต่ายขูดมะพร้าว ที่บรรจงแกะลวดลายอย่างสวยงาม โต๊ะวางพระคัมภีร์อัลกุรอาน (ฆาฮา) ภาชนะใส่กับข้าวของชาวประมงยามนั่งเรือออกทะเล (จือปู) เป็นต้น
 

 
นอกจากนั้น นายอาลี มาหะ ยังมีความคิดสร้างสรรค์แกะไม้ตุงกัตอาลี ทำเป็นถ้วย หรือแก้วน้ำเพื่อสุขภาพ เนื่องจากรากไม้ตุงกัตอาลี มีสรรพคุณเป็นยาโบราณ โดยเฉพาะสำหรับท่านชายที่มีปัญหาสมรรถภาพทางเพศ จึงเป็นที่นิยมมีการสั่งซื้อกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพี่น้องต่างจังหวัด และในประเทศมาเลเซียที่ทราบข่าว เป็นต้น โดยจะขายถ้วยตุงกัตในราคาใบละประมาณ 200-500 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของถ้วย

ซึ่งรายได้จากงานศิลปหัตกรรม และถ้วยตุงกัตอาลีนั้น ไม่ได้มากมายอะไรเพราะเป็นลูกค้าเฉพาะส่วนที่จะสั่งทำ และบางช่วงก็จะมีออกงานบ้าง จึงทำให้ไม่สามารถระบุเป็นรายได้ที่แน่นอน โดยขายกระต่ายขูดมะพร้าว ตัวละ 2,000-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับเนื้องาน และขนาด ส่วนรากไม้ตุงกัตอาลี ไม่ใช่หาได้ง่าย เพราะไม้ตุงกัตอาลีเป็นพืชสมุนไพรที่หาได้ยาก และมีความต้องการสูง ปัจจุบันมีการบดผสมกับเครื่องดื่ม เช่น ผสมเป็นกาแฟตุงกัตอาลี ชาตุงกัตอาลี เป็นต้น เพื่อเพิ่มสรรพคุณของเครื่องดื่มดังกล่าวให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

แต่ด้วยความรักษ์ในงานศิลปหัตกรรมโบราณ เครื่องใช้โบราณ จึงพยายามบรรจงสร้างโดยไม่ได้คำนึงถึงรายได้มากนัก เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่คู่กับชุมชนปัตตานีโบราณแห่งนี้สืบไป ให้สมดังคำขวัญที่ว่า “ปัตตานีเมืองโบราณ เมืองรวยอารยธรรม”
 

 
นายอาลี เผยว่า สาเหตุที่นำรากไม้ตุงกัตอาลี มาเป็นถ้วยเพื่อสุขภาพนั้นเนื่องจากรากไม้ตุงกัตอาลี เป็นสมุนไพรโบราณที่มีสรรพคุณหลายอย่าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเลือดลม การผ่อนคลายเส้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะท่านชายที่มีปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศ ก็จะนิยมนำเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง ด้วยเหตุนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการที่จะดื่มน้ำตุงกัตอาลี เพียงแค่เทน้ำร้อนเดือดลงในถ้วย เมื่อน้ำในถ้วยเริ่มเย็นลงก็สามารถดื่มได้ทันที โดยจะมีรสขม และขมมาก หากท่านใดที่สนใจสามารถสั่งทำได้ทางเบอร์โทรศัพท์หมายเลข 08-7289-6104

“ในส่วนของงานศิลปหัตกรรมพื้นบ้านนั้น ได้พยายามถ่ายทอดให้แก่เยาวชนในพื้นที่มาหัดทำ หัดแกะ โดยใช้สิ่ว เลื่อยมือ ขวาน กบมือ และสว่าน เป็นต้น จึงอยากได้เครื่องมือที่สามารถทุ่นแรง เช่น กบไฟฟ้า เครื่องเจาะไฟฟ้า เลื่อยไฟฟ้า เครื่องมือขัดเงา เป็นต้น เพราะจะได้ประหยัดเวลา และเบาแรง จึงวอนขอจากหน่วยงานของรัฐ หรือผู้รักษ์ในงานศิลปหัตกรรมโบราณ ได้ร่วมมาบริจาคเครื่องมือดังกล่าว และจะขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง” นายอาลี มาหะ กล่าว
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น