นครศรีธรรมราช - “รับน้องสร้างสรรค์ประมง” ม.วลัยลัยลักษณ์ ลงเรียนรู้วิถีประมงพื้นบ้าน ร่วมสร้างบ้านปลา ฟื้นฟูการอนุรักษ์ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม สร้างสรรค์การรับน้องรูปแบบใหม่
วันนี้ (21 ก.ค.) รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แนะกิจกรรมรับน้องควรสร้างสรรค์ และเป็นต้นแบบให้สังคมโดยรวม สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร สาขาประมง ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ได้ร่วมกันสร้างสรรค์การรับน้องรูปแบบใหม่ ที่ให้นักศึกษาร่วมเรียนรู้ และรับฟังปัญหาของชาวประมง และร่วมกันแก้ไขปัญหา เบื้องต้น ได้ร่วมกันสร้างบ้านปลา ในแนวเขตอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งฟื้นฟู และอนุบาลสัตว์น้ำร่วมกัน
ดร.นพวรรณ ฉิ้มสังข์ รักษาการคณบดีเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า การรับน้องในปัจจุบันค่อนข้างเป็นปัญหา และมีการร้องเรียนบ่อยครั้ง ปีนี้ทางสำนักวิชา จึงได้ทำโครงการเป็นปีแรกในการให้นักศึกษาในสาขาต่างๆ ได้ร่วมกันทุกชั้นปี ในการลงพื้นที่จริงไปรับรู้ และเรียนรู้วิถีของชาวบ้าน ของชุมชน และเข้าไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชาวบ้าน โดยเอาปัญหา และความรู้ทางวิชาการเข้าไปหนุนเสริม เพราะนักศึกษาเมื่อจบไปแล้วต้องเข้าใจปัญหาโจทย์ของชุมชนได้ถูกต้อง อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาจิตอาสาทางสังคม ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งการนำปัญหาชาวบ้านมาวิเคราะห์ และเรียนรู้ ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่จะติดตัวนักศึกษา และนำไปประยุกต์ใช้การการเรียนในอนาคต
กิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่นักศึกษาวิชาประมง จะเน้นจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ขึ้นอยู่กับสาขาวิชาวิชา และสำนักวิชา แต่ในปีนี้มีนโนบายใหม่ที่ต้องจัดกิจกรรมที่สามารถทำให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และต้องเป็นกิจกรรมที่สามารถกระทำได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี เป็นการเรียนรู้และพัฒนาควบคู่กับการเรียน
นายสุพร โต๊ะเส็น นายกสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา กล่าวว่า รุ่นพี่นักศึกษาลงมาประสานพื้นที่ในการเตรียมความพร้อม และขอให้ทางสมาคมเป็นเจ้าภาพร่วมกันในการเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามาเรียนรู้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการจริง ที่ผ่านมา ก็จะมีนักศึกษา และชุมชนต่างๆ เข้ามาเรียนรู้เสมอๆ แต่ครั้งนี้จะมีความแตกต่างตรงที่นักศึกษาเป็นกลุ่มที่ตรงสาขาต่อการเรียนมากที่สุด ตอนนี้ทางสมาคมมีกิจกรรมที่เป็นฐานการเรียนรู้ให้นักศึกษาเรียนรู้ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารปูม้าไข่นอกกระดอง การแปรรูปสัตว์น้ำ การสร้างบ้านปลา รวมทั้งนโยบายต่างๆ ทางการประมง ปีที่ผ่านมา ก็มีรุ่นพี่มาช่วยอยู่เป็นระยะในนามอาสาสมัคร แต่ครั้งนี้มีการนำนักศึกษาทั้งสาขาวิชามาลงพื้นที่ตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ทางชุมชนเองก็พร้อมในทุกโอกาสในการเป็นแหล่งเรียนรู้ และพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และพร้อมสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในสาขาอื่นๆ ทุกชั้นปี และทุกๆ มหาวิทยาลัย
นายนิธิวัฒน์ รักษ์เดช นักศึกษาสาขาประมงชั้นปีที่ 3 กล่าวว่า ได้เข้ามาร่วมกับเครือข่ายประมงมาตั้งแต่ต้น และรู้จักกับคนทำงาน และนักอนุรักษ์ที่ทำงานแถบนี้ เห็นการเรียนรู้ และการพัฒนาของชุมชนแล้วรู้สึกประทับใจ จึงชวนเพื่อนๆ และรุ่นพี่ให้ลงมาสัมผัสกับของจริงมากขึ้น อีกทั้งได้แรงสนับสนุนจากคณบดี และอาจารย์ในสาขาวิชา โดยมี ผศ.ดร.สถาพร ดิเรกบุษราคม มาเป็นกำลังหลักในการสนับสนุน จึงสามารถทำเป็นกิจกรรมที่มีความต่อเนื่อง ต้องขอบคุณชุมชนที่ให้โอกาสพวกเราเข้ามาเรียนรู้ นักศึกษาบางคนเพิ่งลงทะเลเป็นครั้งแรกแต่ก็ประทับใจ และจะรวมกลุ่มเพื่อนในเวลาว่างจะลงมาทำกิจกรรมอื่นๆ ให้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี
หลังจากนักศึกษาทุกชั้นปีได้ลงเรียนรู้วิถีชุมชน และกิจกรรมต่างๆ ที่ชุมชนกำลังดำเนินการได้ลงเรือไปปักไม้ไผ่ และลงทางมะพร้าว ที่ผูกติดกับกระสอบทรายและผูกทุ่นให้อยู่ในแนวเขตไม้ไผ่ เพื่อทำเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ หรือที่เรียกว่า “โป๊ะ” หรือ “ซั้ง”
ดร.เลิศชาย ศิริชัย รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ซึ่งได้ลงพื้นที่ และทำกิจกรรมร่วมกันตลอดทั้งวัน รวมทั้งเป็นประธานในการมอบเสื้อชอปให้นักศึกษาในครั้งนี้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายที่สำคัญคือ ให้ชุมชนเป็นพื้นที่เรียนรู้ และปฏิบัติการจริงของนักศึกษา รวมทั้งการเป็นอาสาสมัครทางสังคม เป็นกิจกรรมที่เปิดความคิด เน้นทักษะทางสังคมที่ดีที่สุด ก่อนที่จะเรียนจบ และออกไปทำงาน และเน้นย้ำว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเอื้อต่อการทำกิจกรรมเหล่านี้ และเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ชุมชน ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านจึงเป็นภารกิจที่สำคัญของอาจารย์ ที่จะร่วมกันนำพาความรู้และนักศึกษาลงไปสนับสนุนให้เกิดผลมากที่สุด เราต้องปลูกฝังในความเป็นรุ่นพี่ ให้สืบทอดกิจกรรมดีดีไปสู่รุ่นน้อง รวมทั้งช่วยสนับสนุนรุ่นน้อง ทั้งในเรื่องการเรียน และการใช้ชีวิตที่ร่วมกันรับรู้ปัญหาของสังคม
การรับน้องในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีตั้งแต่การรับนักศึกษาเข้าใหม่ที่เป็นรุ่นน้องถูกแบ่งเป็นกลุ่มสัมพันธ์ที่รวมกันทุกคณะ ทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง จนถึงเวลาเปิดเทอม หลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ก็จะมีการรับน้องอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการรับน้องในแต่ละสาขาวิชา ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สร้างสรรค์ในทุกด้าน และออกแบบให้ทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกระดับ เพื่อเป็นต้นแบบให้รุ่นต่อๆ ไป และภาพรวมของทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ