xs
xsm
sm
md
lg

สุดอนาถ! โลมาลายแถบเกยตื้นที่ภูเก็ต ผ่าแล้วพบกำลังตั้งท้อง ติดเชื้อรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผลผ่าพิสูจน์โลมาลายแถบเกยตื้นชายหาดปากบาง ต.ราไวย์ สุดอนาถ! พบตายทั้งกลม น้ำคร่ำผิดปกติ ขณะที่ภายในร่างกายพบมีอาการอักเสบทั้งระบบ ส่วนโลมาที่เกยตื้นเกาะลันตา จ.กระบี่ หลังนำมาอนุบาลพบอาการดีขึ้น

จากกรณีเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ราไวย์ เจ้าหน้าที่จากกลุ่มสัตว์ทะเลหายากให้การช่วยเหลือโลมาลายแถบขนาดใหญ่ว่ายน้ำเข้ามาเกยตื้นที่หาดปากบาง ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ในสภาพร่างกายอ่อนแอ และตายในขณะนำส่งกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งและป่าชายเลน (ภูเก็ต)

โดยล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า หลังจากรับซากโลมาตัวดังกล่าวมา ทางเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายากได้ทำการผ่าพิสูจน์เพื่อหาสาเหตุของการตายแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยโลมาดังกล่าวเป็นโลมาลายแถบ เพศเมีย อายุประมาณ 15-20 ปี ยาว 2.29 เมตร น้ำหนัก 86.3 กิโลกรัม และจากการตรวจสอบพบว่า โลมาที่ตายกำลังตั้งท้องอายุครรภ์ประมาณ 6-9 เดือน โดยมีลูกอยู่ในระบบสืบพันธุ์จำนวน 1 ตัว ส่วนน้ำคร่ำพบสีผิดปกติ ทางเจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างเพื่อส่งไปตรวจสอบ

นอกจากนั้น จากการตรวจสอบระบบอวัยวะภายในเกือบทั้งหมดมีอาการอักเสบ ทั้งตับ ม้าม ทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ กระเพาะอาหารมีแผล มีอาการปวดบวม ส่วนไตมีก้อนเนื้อคล้ายซี้ด มดลูกมีการอักเสบ โดยในเบื้องต้น เชื่อว่าสาเหตุการตายน่าจะเกิดจากการติดเชื้ออย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบว่า ในช่วง 2 เดือน ซึ่งเป็นช่วงมรสุมมีโลมาถูกคลื่นซัดเข้าเกยตื้นแล้ว จำนวน 4 ตัว ทั้งในพื้นที่ภูเก็ต พังงา และกระบี่ โดยตายแล้ว 3 ตัว และขณะนี้ยังมีโลมา 1 ตัว ที่กำลังอยู่ระหว่างการรักษาซึ่งเป็นโลมาที่พบในพื้นที่เกาะลันตา จ.กระบี่ โดยโลมาดังกล่าวเป็นโลมาลายแถบ เพศเมีย อายุประมาณ 10 ปี ความยาว 1.95 เมตร น้ำหนักประมาณ 55 กก.พบว่า อาการดีขึ้นแต่เจ้าหน้าที่ยังต้องเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้โลมาติดเชื้อ โดยอนุบาลไว้ที่หน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเลทัพเรือเกาะลันตาน้อย ทัพเรือภาคที่ 3 ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่

นาวาตรีพีรภัทร พัฒนโสภณ ผู้บังคับหน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเลกองทัพเรือ เกาะลันตาน้อย กล่าวว่า จากการเฝ้าติดตามดูอาการพบว่า โลมาตัวดังกล่าวมีอาการดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังให้สารน้ำเกลือ และให้ยาทางหลอดเลือด เนื่องจากถูกคลื่นเกยติดชายหาดเป็นเวลานานจนร่างกายอ่อนเพลีย ยังไม่สามารถกินอาหารเองได้ และต้องจัดเวรยามคอยเฝ้าดูอาการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อ ซึ่งเมื่อรางกายเริ่มแข็งแรงดีขึ้น เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยก็จะทำการเคลื่อนย้ายไปที่ศูนย์วิจัยฯ ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น