xs
xsm
sm
md
lg

ขยะรีไซเคิลได้ถูกเผาทิ้งเพียบ สร้างสารพิษอื้อ ฮิตเผาที่บ้าน - ที่โล่ง เสี่ยงโรคหัวใจ ทำลายระบบประสาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมอนามัย ชี้ ขยะรีไซเคิลกว่า 3 ใน 4 ไม่ถูกนำไปใช้ใหม่ เผยชาวบ้านนิยมเผาในที่โล่ง และบริเวณบ้าน สร้างสารพิษส่งผลต่อสุขภาพ มีผลต่อดวงตา ระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มเสี่ยงโรคหัวใจ ทางเดินหายใจ หอบหืด ผิวหนัง กระทบสิ่งแวดล้อม แนะคัดแยกขยะ นำไปใช้ใหม่

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะเกิดขึ้นกว่า 15 ล้านตันต่อปี โดยเกิดขึ้นใน กทม. ประมาณ 8,766 ตัน เขตเทศบาลเมืองและเมืองพัทยาประมาณ 16,620 ตัน และนอกเขตเทศบาล 16,146 ตัน ขยะที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นเศษอาหารและอินทรีย์สารร้อยละ 64 รองลงมาคือ ขยะมูลฝอยที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ร้อยละ 30 ซึ่งจำนวนนี้ถูกนำไปรีไซเคิลเพียง 3.91 ล้านตัน หรือแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น และที่สำคัญ ยังมีการกำจัดขยะแบบไม่ถูกต้อง เช่น เทกองกลางแจ้ง เผาในที่โล่ง ถึงร้อยละ 81 โดยการเผาขยะในบริเวณบ้านเป็นวิธีการกำจัดขยะที่ค่อนข้างพบมากในพื้นที่ชนบท ขยะที่นำมาเผาส่วนใหญ่เป็นกระดาษ เศษกิ่งไม้ใบไม้ และพลาสติก เมื่อเผาแล้วจะปล่อยสารหลายชนิดออกมาโดยไม่มีกระบวนการบำบัด ทำให้มลพิษแพร่กระจายเข้าไปในบ้านและบรรยากาศ นำไปสู่การปนเปื้อนแหล่งน้ำและดิน ซึ่งประชาชนจะได้รับสารพิษผ่านการสูดดม ดื่มน้ำ และรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน

สารพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะประเภทแก้วโฟม หรือถ้วยโฟม โฟมกันกระแทก กล่องโฟมบรรจุอาหาร จะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซสไตรีน (Styrene) ซึ่งสามารถถูกดูดซึมผ่านผิวหนังและปอดได้ หากได้รับในระดับที่สูงจะทำอันตรายต่อตา และถ้าได้รับสไตรีนในระยะยาวจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ปวดหัว อ่อนเพลีย อ่อนแอ และเกิดภาวะซึมเศร้าส่วนการเผาไหม้พลาสติกประเภทพีวีซีทำให้เกิด การปล่อยก๊าซไดออกซิน ซึ่งเป็นสารพิษต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายของคน เป็นสารก่อมะเร็ง และรบกวนการทำงานของระบบฮอร์โมน สามารถสะสมในร่างกายและถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูกได้ผ่านทางรก” นพ.พรเทพ กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวว่า การเผาขยะและพลาสติกในบริเวณบ้านเป็นวิธีที่ง่าย แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มวลสารที่เกิดขึ้นจากการเผาสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหอบหืด การเกิดผื่น มีอาการคลื่นไส้ ปวดหัว ทำลายระบบประสาท ตับ ไต ระบบสืบพันธุ์ ดังนั้น ประชาชนควรลดการปล่อยมลพิษโดย 1. ห้ามเผาพลาสติกและขยะภายในบ้าน 2. คัดแยกขยะ โดยเฉพาะขยะประเภทพลาสติก และขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ออกจากขยะที่ต้องนำไปกำจัด โดยอาจนำไปขายให้กับผู้ที่รับซื้อหรือนำไปใช้ใหม่ 3. ลดการใช้ถุงพลาสติก ไม่ใช้ภาชนะบรรจุอาหารประเภทกล่องโฟม 4. ซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และ 5. ขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้น เช่น เศษอาหาร เศษกิ่งไม้สามารถนำมาหมักทำปุ๋ย เพื่อลดการกำจัดด้วยการเผาในบริเวณบ้าน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น