สตูล - ชาวสตูลส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสิทธิ และกระบวนการลงประชามติร่าง รธน. ขณะที่ กกต.เร่งให้ความรู้ผู้นำศาสนาหวังสร้างความเข้าใจ ส่วนปัญหาร่าง รธน.ปลอมตามกระแสข่าวยังไม่พบในพื้นที่แต่อย่างใด
วันนี้ (11 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพศาล หลีเส็น กรรมการการออกเสียง ประจำเขตออกเสียงจังหวัดสตูล นำคู่มือประชาชนกับการออกเสียงประชามติ ให้แก่ผู้นำศาสนา พร้อมทั้งแนะนำให้ข้อมูลในการออกเสียงประชามติ ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามสตูล อ.เมือง จ.สตูล ในวันเดียวกัน ด้านสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดสตูล (กกต.สตูล) จัดโครงการเสริมสร้างความรู้การออกเสียงประชามติ ในกิจกรรมการอบรมคณะกรรมการศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.)
ทั้งนี้ ตามที่ได้มีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่องกำหนดวันออกเสียงประชามติกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นวันออกเสียงประชามตินั้น การที่จะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงใน จ.สตูล เห็นความสำคัญ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการออกเสียงประชามติ และออกไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างมีคุณภาพ จำเป็นต้องมีสื่อ บุคคลทำหน้าที่ถ่ายทอด และขยายผลความรู้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางในทุกระดับ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
ดังนั้น เพื่อประสิทธิภาพในการถ่ายทอด และมีเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน จึงได้จัดกิจกรรมอบรมกรรมการศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบลทั้ง 36 ตำบลใน จ.สตูล เพื่อให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ขั้นตอน และกระบวนการออกเสียงในครั้งนี้ให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ
นายไพศาล หลีเส็น กรรมการการออกเสียง ประจำเขตออกเสียงจังหวัดสตูล กล่าวว่า สำหรับกรรมการออกเสียงประชามติ มีบทบาทในส่วนของการรณรงค์ชี้แจงในเรื่องของกระบวนการลงคะแนนประชามติ และก็รณรงค์ให้มาใช้สิทธิให้มากที่สุด นี่คือบทบาทที่ชัดเจน ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งก็มีกิจกรรมหลายอย่างมากมาย ไม่ว่าการอบรมนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) ประมาณ 150 คน ใน จ.สตูล เพื่อที่จะให้พวกเขาได้ลงพื้นที่ไปกระจายข่าวต่อไป และยังมีการอบรมคณะครูเพื่อที่จะให้ผู้บริหารโรงเรียน หรือว่าครูได้ลงข้อมูลไปถึงนักเรียน และก็ลงไปถึงผู้ปกครองเพื่อที่จะกระตุ้นเตือนในการที่จะให้ผู้ปกครองญาติพี่น้องที่มีสิทธิเลือกตั้งได้ออกมาใช้สิทธิในการออกเสียงประชามติ
โดยในวันนี้ ก็ได้มีการอบรมในส่วนของอาสาประชาธิปไตยระดับตำบลในเขตของอำเภอเมือง และก็จะมีการกระจายไปแต่ละอำเภอ และในขณะเดียวกัน ก็จะเข้าสู่ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ซึ่งได้ออกไปแล้วในส่วนของอำเภอละงู ประมาณ 200 กว่าคน ในส่วนของอำเภอเมือง ประมาณ 300 กว่าคน หลังจากนี้ ก็จะลงพื้นที่ไปแต่ละอำเภอต่างๆ ทั่วทั้ง จ.สตูล ให้ครบก่อนที่จะถึงวันที่ 7 ส.ค.2559 นี้
ในส่วนของปัญหาก็มีบ้างเล็กน้อยในเรื่องของการทำความเข้าใจถึงกระบวนการออกไปใช้เสียงประชามติว่าต้องทำอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย แน่นอนอยู่แล้วว่า ก่อนที่จะถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเร่งให้ข้อมูล และชี้แจงให้เข้าใจกันอย่างทั่วถึง ส่วนปัญหาร่างรัฐธรรมนูญปลอมตามกระแสข่าวยังไม่พบในพื้นที่ จ.สตูล และได้มีการสอดส่องดูแลเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าว