xs
xsm
sm
md
lg

“ยะใส” ชี้ปล่อยร่างรัฐธรรมนูญปลอมคล้าย “ขบวนการล้มเจ้า” แผนสงครามชิงมวลชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา (ภาพจากแฟ้ม)
“สุริยะใส กตะศิลา” ชี้ขบวนการปล่อยร่างรัฐธรรมนูญปลอม สร้างความสับสน ฝีมือกลุ่มอำนาจเก่าช่วงชิงมวลชน คล้ายขบวนการล้มเจ้า โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ อดีต ส.ส.บางคนลงทุนหนักสร้างผลงานหวังชิงเก้าอี้ ส.ส. อัด กรธ.เน้นตั้งรับมากเกินไป แถมคนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจและไม่รู้เรื่องวันลงประชามติ

วันนี้ (10 ก.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า ตนเห็นว่าคลิปและเอกสารบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญปลอม ที่แพร่หลายอยู่ในขณะนี้ สะท้อนขบวนการต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยกลุ่มอำนาจเก่าที่พยายามใช้กระบวนการประชามติและวันลงประชามติ 7 ส.ค. เป็นแค่เครื่องมือจัดตั้งทางการเมืองเพื่อช่วงชิงมวลชน จัดตั้ง และเตรียมการต่อสู้เคลื่อนไหวหลังลงประชามติ เพื่อเป้าหมายบางอย่างทางการเมือง

ขบวนการนี้คล้ายขบวนการล้มเจ้าที่ปล่อยคลิปและเอกสารบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตรย์ และน่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน หรือแนวร่วมเดียวกัน คนกลุ่มนี้จะไม่หวังว่าผลประชามติจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าประชามติไม่ผ่านก็เข้าทาง ถ้าผ่านก็จะโยงสู่เรื่องอื่น เพื่อปั่นหัวมวลชนว่านี่แหละป็นยุทธศาสตร์ของอำมาตย์ ต้องการเล่นงานใครบางคน สงครามชิงมวลชนรอบนี้จะบ่งบอกทิศทางการเมืองช่วงก่อนเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งได้มากทีเดียว อดีต ส.ส.บางพรรคบางคนอาจต้องลงทุนหนัก เพื่อให้ผลโหวตในพื้นที่ตัวเองออกมาทางใดทางหนึ่งให้เด็ดขาด เพราะนั่นหมายถึงการได้อำนาจต่อรองหรือได้สิทธิลงสมัคร ส.ส.ต่อไปด้วย

นายสุริยะใสกล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตั้งรับมากเกินไป คือ ไปแก้โจทย์ที่อีกฝ่ายวางกับดักไว้ และการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญเนื้อหายังเน้นการเมืองระดับโครงสร้าง แต่ให้ความสำคัญกับการเมืองระดับชาวบ้าน หรือปากทัองประชาชนน้อยไป ซึ่ง กรธ.ควรจะย่อยออกมาให้ชัดว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ชีวิตความเป็นอยู่ชาวบ้านจะปรับเปลี่ยนไปในทางทีดีขึ้นอย่างไรบ้าง และที่น่าห่วงคือผู้มีสิทธิลงประชามติที่เป็นคนหนุ่มสาวอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นจำนวนเสียงที่มีจำนวนมากกว่าแต่ก่อน กลับเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่เข้าใจและไม่รู้ว่ามีประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ คนกลุ่มนี้เข้าถึงสื่อออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียมาก แต่การประชาสัมพันธ์ของ กรธ.กับ กกต.ยังใช้ประโยชน์จากสื่อโซเชียลมีเดียน้อยเกินไป


กำลังโหลดความคิดเห็น