เรื่อง/ภาพ : ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
น้ำท่วมกรุงเทพฯ กลุ่มเมฆก้อนเดียวกันนี้หอบหิ้วพัดพาให้ผมต้องเดินทางเข้า “ทวาย” เป็นครั้งที่ 2 เพื่อไปเก็บข้อมูลบันทึกเรื่องราวความเป็นไปของจังหวัดทวาย หัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาคตะนาวศรีทางภาคใต้ของประเทศพม่า
การเดินทางเข้าจังหวัดทวายต้องผ่านเข้าไปทางด่านพุน้ำร้อน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ตลอดการเดินทางชุ่มฉ่ำไปด้วยกลุ่มฝนที่กินพื้นที่กว้างบนท้องฟ้า คลุมพื้นที่ไปทั่วจากฝั่งไทยไปถึงทวาย เพราะเราห่างกันเพียง 150 กิโลเมตร จากชายแดนไทยถึงจังหวัดทวายของพม่า
การเดินทางครั้งนี้ เทือกเขาตะนาวศรีเขียวชอุ่มสดชื่นกว่าการเดินทางเมื่อครั้งฤดูแล้ง ซึ่งถนนฟุ้งไปด้วยฝุ่นแดงยามที่รถวิ่งสวนทางกัน อากาศสดชื่น บรรยากาศของทะเลภูเขากว้างไกลสุดสายตา ทำให้เราเปิดหน้าต่างรถยนต์โดยสารตลอดการเดินทาง เพื่อรับเอาลมหายใจแห่งขุนเขาตะนาวศรีให้ได้ซึมซับเต็มปอด
ผ่านเข้าไปในเขตของกะเหรี่ยง ซึ่งเสียงปืนสงบลงแล้ว ด้วยเงื่อนไขแห่งการหยุดยิง เพื่อร่วมมือพัฒนาแบ่งปันผลประโยชน์กับรัฐบาลย่างกุ้ง เขตอิทธิพลของกะเหรี่ยงนั้น เราจะเห็นมีการเปลือยผืนป่าแผ้วถางตัดโค่นเพื่อการสร้างบ้านแปลงเมือง
ผู้นำของกองกำลังกะเหรี่ยงมีการเรียกร้องให้ชาวกะเหรี่ยงตามแนวชายแดนไทย หรือที่อาศัยอยู่ฝั่งไทยให้กลับไปสร้างชุมชน โดยมีนโยบายเปิดโอกาสให้ชาวกะเหรี่ยงที่กลับไปจากฝั่งไทย สามารถแผ้วถางผืนป่าจับจองที่ดิน ทางทหารกะเหรี่ยงก็จะให้สิทธิในที่ดิน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ชาวกะเหรี่ยงกลับเข้ามาสร้างชุมชน ขยายเมืองกันบริเวณ 2 ข้างทางของถนนที่ตัดผ่านเทือกเขาตะนาวศรี
น้ำในแม่น้ำใหญ่ที่พาดผ่านหุบเขาในเขตเทือกเขาตะนาวศรี ในช่วงหน้าฝน ช่วงนี้ไม่ได้ใสไหลเย็นเหมือนเมื่อคราวฤดูแล้ง เพราะเมื่อถึงหน้าฝนมาเยือน ลำธาร สายน้ำน้อยใหญ่ก็จะไหลพาตะกอนดินแดงลงสู่ลงแม่น้ำใหญ่ ที่เป็นส่วนของหุบเขาที่อยู่ด้านล่าง
วิถีชีวิตบริเวณแม่น้ำตะนาวศรีที่นี่มีการร่อนทอง ทำทองมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ทองคำจากผิวดินที่ไหลปะปนมากับกรวดทรายมีอยู่ตามลำธาร ซึ่งเป็นทองคำแห่งความมั่งคั่งที่ก่อให้เกิด “กุศล”
เมื่อร่อนทองได้มาก ซึ่งพวกเขาไม่ได้มีการเปิดหน้าดินทำเหมืองสกัดทองด้วยการใช้สารไซยาไนด์ ทองคำที่ได้มากจึงนำมาสร้างเจดีย์เหลืองอร่ามไปทั่วแผ่นดินพม่า เพราะไม่ได้เป็น “ทองคำอกุศล” ที่ผ่านการฆ่า ทำลายมนุษย์ สำรอกมาจากความโลภของทุนนิยม
ชาวพม่าที่ร่อนทองเล่าว่า... “เคยมีบางวันที่โชคดี ร่อนทองหาตามลำน้ำในหุบเขา เคยได้กันบางคราวคนละกิโลสองกิโล”
สิ่งบอกเล่าจากปากชาวพม่า สะท้อนให้เห็นว่า ผิวดินมีความมั่งคั่งเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงมนุษย์ให้มีความสุขได้ โดยไม่ทำลายเบียดเบียนชีวิตคนด้วยสาร “ไซยาไนด์” และ “โลหะหนัก” เหมือนกับเหมืองทองที่เป็นข่าวอยู่ในประเทศไทย
5 ชั่วโมงของการเดินทางผ่านทะเลภูเขาตะนาวศรี เข้าเขตตัวเมืองจังหวัดทวาย เราจะได้เห็น “วิถีเกษตร” ที่เป็นภูมิปัญญา “การทำเกษตรแบบผสมผสาน” หรือที่ภาคใต้เรียกว่า “การทำสวนแบบสมรม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวทวายเขาทำกันมาหลายชั่วอายุคน
“หนี้ครัวเรือนในภาคเกษตร” ของชาวทวายนั้น พวกเขาไม่รู้จักว่ามันคืออะไร!!
หรืออย่างการเกษตรที่มีลมหายใจเข้าก็ “ธ.ก.ส.” ออกก็ “ธ.ก.ส.” แบบที่ประเทศไทยเป็นอยู่เขาก็ไม่คุ้นเคย!!
“ทำนาปีมีหนี้กับซัง ทำนาปรังเหลือซังกับหนี้” คำขวัญแบบนี้ก็ไม่เคยได้ยินในสังคมชาวทวาย!!
“บนดอยหรือภูเขามีแต่ไร่ข้าวโพด” พี่น้องภาคการเกษตรของไทย “ทำงานชาตินี้ หนี้สินตามไปถึงชาติหน้า”!!
ทำไมคนไทยเรากลับเรียกสิ่งนี้ว่า “ความเจริญ” และ “การพัฒนา” อย่างนั้นหรือ?! ?!