ปัตตานี - พบแล้วบุคคลในภาพแห่งความทรงจำถวายงาน “ในหลวง” ภาพที่ 2 เป็นศิลปินพื้นบ้านโนราห์ ที่ จ.ปัตตานี ยันขอถ่ายทอดความรู้เรื่องโนราห์ไม่ให้สูญหาย ตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ดำเนินโครงการตามหาบุคคลในภาพแห่งความทรงจำ รวม 7 ภาพ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ เพื่อเผยแพร่ถึงความภาคภูมิใจ ถ่ายทอดความรู้สึก และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีโอกาสถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทตามพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เด็ก และเยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนทั่วไปได้รับรู้พระจริยวัตรของพระองค์
โดย 1 ใน 7 ภาพ ก็คือ นายเฉลิม แก้วพิมพ์ อายุ 76 ปี ศิลปินพื้นบ้านโนราห์ ชาวปัตตานี เป็นบุคคลในภาพที่ 2 ในภาพความทรงจำ ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยัง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2520
ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดปัตตานี ได้สืบเสาะหาบุคคลตามภาพดังกล่าวจนทราบที่อยู่ จึงเดินทางไปยังบ้านเลขที่ 147/401 ซ.โรงเหล้าสาย ข 7 ต.รูสะมีแล อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อไปถึงพบ นายเฉลิม แก้วพิมพ์ อายุ 76 ปี โดย นายเฉลิม ยอมรับว่า บุคคลตามภาพนั้นเป็นภาพตนเองจริงๆ พร้อมทั้งได้เล่าถึงความเป็นมาของภาพประทับใจดังกล่าว
นายเฉลิม เปิดเผยว่า ในวันนั้นตนยังจำได้ เป็นวันงานยกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2520 ในขณะนั้นตนอายุ 37 ปี เป็นหัวหน้าคณะมโนราห์เฉลิมประภา ซึ่งได้รับการติดต่อให้มาแสดงต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตนรู้สึกดีใจ และปลาบปลื้มเป็นอย่างมากที่จะได้มีโอกาสแสดงต่อหน้าพระพักตร์เป็นครั้งแรกในชีวิต
ในวันนั้น ก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จมา ผู้เข้ารับเสด็จ รวมถึงคณะมโนราห์ต่างอยู่อย่างสงบนิ่ง แต่เมื่อมีคนตะโกนว่า ในหลวงเสด็จแล้ว วงดนตรีของคณะมโนราห์ก็กระหึ่มขึ้นทันที่ มโนราห์ ก็ร่ายรำขึ้นมาโดยไม่ได้นัดหมาย และท่ารำแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่ก็สัมพันธ์กับท่ารำของแต่ละคน จนเป็นที่น่าสงสัยต่อพระองค์ท่าน และได้เสด็จมานั่งยองๆ ดังรูปภาพที่เห็น
พร้อมทั้งตรัสถามว่า รำอะไร เพราะท่ารำไม่เหมือนมโนราห์ทั่วไป และทรงถามว่า ทำมานานแล้วยัง ตนจึงได้กราบทูลว่า รำมโนราห์ตั้งแต่อายุ 13-14 ปี แล้วทรงถามต่อว่า คนแก่ และเด็กรำได้ไม่ ตนก็ตอบไปว่า รำได้ครับ พระองค์ท่านก็ถามต่อไปว่า แล้วพระเทพฯ รำได้ไม่ พระองค์ท่านทรงอยากให้ถ่ายทอดการรำให้แก่สมเด็จพระเทพฯ ด้วย
จากนั้นพระองค์ท่านทรงถามถึงเครื่องดนตรีมโนราห์ ทุกชนิด ซึ่งพระองค์ทรงทราบเครื่องดนตรีทุกชนิด และได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ตนด้วยความใกล้ชิด ตนรู้สึกดีใจ และตื่นเต้นอย่างมาก ซึ่งเมื่อพระองค์ท่านจะลุกขึ้นยืนตนได้นำมือลูบฝ่าพระบาทของพระองค์ท่าน แล้วนำมาลูบที่หัวของตน พระองค์ท่านก็แย้มพระสรวล สร้างความปลาบปลื้ม และซาบซึ้งแก่ตนเองเป็นอย่างมาก เพราะไม่คาดคิดว่าจะได้มีโอกาสได้ลูบพระบาทของในหลวงอย่างใกล้ชิด
ทุกวันนี้ ตนยังคงปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ได้ตรัสไว้แก่ตนว่า อย่าให้มโนราห์ หายไป ให้รักษาไว้ อย่าให้สูญหาย ตนจึงได้ถ่ายทอดให้แก่เด็กๆ เพื่อไม่ให้สูญหายตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน ทำมาหลายปี จนถึงปัจจุบันก็ยังทำอยู่ แต่ส่วนมากจะเป็นผู้ใหญ่ ไม่เหมือนแต่ก่อนที่มีเด็กๆ และนักศึกษาของ ม.อ. และตนก็จะทำต่อไปตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน ขอให้พระองค์ท่านทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน