xs
xsm
sm
md
lg

หนูน้อยวัย 4-12 ปีชาวสตูล แห่เรียน “มโนราห์” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแดนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - เด็กๆ ในวัย 4-12 ปีชาวสตูล แห่เรียน “มโนราห์” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแดนใต้ เพื่ออนุรักษ์การร่ายรำมโนราห์ และยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในช่วงปิดภาคเรียน

วันนี้ (28 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนูน้อยวัย 4-12 ปี ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมภาคฤดูร้อน หรือรำมโนราห์ ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลคลองขุด หมู่ที่ 2 ซ.ราชการ 2 ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้การสนับสนุนของเทศบาลตำบลคลองขุด เนื่องจากทางเทศบาลฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยของภาคใต้ จึงได้จัดกิจกรรมรำมโนราห์ขึ้น เพื่อจะส่งเสริมให้เยาวชนได้อนุรักษ์วัฒนธรรมการร่ายรำมโนราห์ และยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในช่วงปิดภาคเรียน

นางกัญญาณัฐ ใจตื่น (ครูไก่) ครูผู้ช่วย กล่าวว่า โครงการกิจกรรมภาคฤดูร้อนของเทศบาลตำบลคลองขุด ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว สำหรับรับกิจกรรมมโนราห์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมโนราห์รุ่นเล็ก เพราะว่าทางเราได้เปิดรับการเรียนการสอนมโนราห์อย่างกว้างขวางให้แก่ผู้ที่สนใจได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้
 

 
ทางด้าน นายยม แก้วอำพร (ครูยม) ครูสอนรำมโนราห์ มองว่า ความยากง่ายในการสอนมโนราห์เป็นสิ่งที่ยากอยู่แล้ว จนบางครั้งทำให้ใครหลายคนที่มารำรู้สึกเบื่อ แต่สำหรับมโนราห์รุ่นนี้ น่ารักมาก และเด็กๆ เองก็มีความตั้งใจอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยทำให้เป็นอุปสรรคในการสอน และอีกอย่างที่ทางครูเองได้มอบให้แก่เด็กๆ เหล่านี้คือ การปลูกฝังให้เด็กๆ ได้อนุรักษ์ในศิลปวัฒนธรรมไทยให้มากขึ้น โดยการถ่ายทอดผ่านการรำมโนราห์ที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถสื่อได้ถึงความเป็นศิลปะได้อย่างชัดเจนที่สุด สำหรับท่ารำที่สอนน้องๆ ในวันนี้จะเป็นท่าที่ไม่ค่อยยาก เนื่องจากว่ามีระยะเวลาในการสอนเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น

ทั้งนี้ ด.ช.อนัญลักษณ์ สุขเสนา เผยว่า ชอบการรำมโนราห์มาก และท่าที่ชอบรำเป็นพิเศษคือ ท่าสอดสร้อยมาลา เป็นท่าที่มีความสวยงาม และรำง่ายกว่าท่าอื่นๆ และในตอนนี้ก็เรียนได้ถึงระยะเวลา 3 สัปดาห์แล้ว

สำหรับกิจกรรมรำมโนราห์ก็จะเปิดสอนในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.00-09.00 น. และสำหรับวันเสาร์-อาทิตย์ ในเวลา 09.00-11.00 น. หากใครที่สนใจอยากจะนำลูกหลานมาเรียนการรำมโนราห์ ก็สามารถนำมาเรียนได้โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
 

 
มโนราห์ หรือมโนห์รา หรือเรียกโดยย่อว่า โนรา เป็นชื่อศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีแม่บทท่ารำอย่างเดียวกับละครชาตรี โนราเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เป็นที่นิยมของคนในภาคใต้ องค์ประกอบหลักในการแสดงโนรา คือ เครื่องแต่งกาย และเครื่องดนตรี เครื่องแต่งกายประกอบด้วย เทริด เป็นเครื่องประดับศีรษะของตัวนายโรง หรือโนราใหญ่ หรือตัวยืนเครื่อง เครื่องลูกปัดร้อยด้วยลูกปัดสีเป็นลายมีดอกดวง ใช้สำหรับสวมลำตัวท่อนบนแทนเสื้อ ปีกนกแอ่น หรือปีกเหน่ง ทับทรวงปีก หรือหางหงส์ ผ้านุ่ง สนับเพลา ผ้าห้อยหน้า ผ้าห้อยข้างกำไลต้นแขน-ปลายแขน และเล็บ ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องแต่งกายของโนราใหญ่ หรือโนรายืนเครื่อง
 

 
ส่วนเครื่องแต่งกายของตัวนาง หรือนางรำเรียกว่า “เครื่องนาง” ไม่มีกำไลต้นแขนทับทรวง และปีกนกแอ่น เครื่องดนตรีของโนรา ส่วนใหญ่เป็นเครื่องตีให้จังหวะ ประกอบด้วย ทับ (โทน หรือทับโนรา) มี 2 ใบ เสียงต่างกันเล็กน้อย ใช้คนตีเพียงคนเดียว เป็นเครื่องตีที่สำคัญที่สุด เพราะทำหน้าที่คุมจังหวะ และเป็นตัวนำในการเปลี่ยนจังหวะทำนองตามผู้รำ กลองทำหน้าที่เสริมเน้นจังหวะ และล้อเสียงทับ ปี่ โหม่ง หรือฆ้องคู่ ฉิ่ง และแตระ โนรามีการแสดง 2 รูปแบบ คือ โนราประกอบพิธีกรรม (โนราโรงครู) และโนราเพื่อความบันเทิง ซึ่งมีความแตกต่างกัน ดังนี้

โนราประกอบพิธีกรรม หรือโนราโรงครู เป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญในวงการโนราเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นพิธีกรรมเพื่อเชิญครู หรือบรรพบุรุษของโนรามายังโรงพิธีเพื่อไหว้ครู หรือไหว้ตายายโนรา เพื่อรับของแก้บน และเพื่อครอบเทริด หรือผูกผ้าแก่ผู้แสดงโนรารุ่นใหม่ นอกจากนี้ ก็มีโนราเพื่อความบันเทิง
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น