พังงา - คลื่นลมแรง ซัดโลมากระโดดเกยหาดที่หน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง พบป่วย เจ้าหน้าที่เร่งให้การช่วยเหลือ
วันนี้ (28 พ.ค.) นายปรารพ แปลงงาน หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จ.ภูเก็ต ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ว่า พบโลมาเกยตื้นบริเวณชายหาดหน้าอุทยานฯ เมื่อมาตรวจสอบยังจุดที่โลมาเกยตื้น พบว่า มีคลื่นลมแรง จึงได้ประสานไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจังหวัดพังงา เพื่อขอนำโลมาเข้าพักฟื้นในบ่อเป็นการชั่วคราว ก่อนจะประสานกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งและป่าชายเลน (ภูเก็ต) เพื่อส่งทีมสัตวแพทย์แพทย์เข้าให้การช่วยเหลือ
จากการตรวจสอบของทีมสัตวแพทย์เบื้องต้น พบว่า เป็นโลมากระโดด (Spinner dolphin) เพศเมีย ความยาวประมาณ 1.6 เมตร น้ำหนัก 25-30 กก. ไม่สามารถประคองตัวได้ มีอาการเกร็งหน้าท้อง หัวใจเต้นเร็ว หายใจติดขัด มีแผลในปากบางส่วนมีกลิ่นออก ผอมเล็กน้อย ผิวหนังบางส่วนเริ่มแห้ง จึงได้ทำการฉีดยารักษาตามอาการ พร้อมตรวจดูอาการ และจดบันทึกเป็นระยะ พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่สลับสับเปลี่ยนกันลงไปช่วยประคองจนกว่าโลมาจะพ้นวิกฤต จึงจะสามารถเริ่มเคลื่อนย้ายไปรักษาต่อที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งและป่าชายเลน (ภูเก็ต) ได้
ส่วนลักษณะการเกยตื้นจะมี 2 แบบใหญ่ๆ คือ การเกยตื้นทั้งฝูง และการเกยตื้นตัวเดียว ซึ่งพบว่าหากโลมาเกยตื้นเป็นฝูงส่วนใหญ่จะเกิดจากจ่าฝูงพามาล่าเหยื่อแล้วน้ำแห้งอย่างรวดเร็ว หรือจ่าฝูงป่วย หรือจ่าฝูงหลงสนามแม่เหล็กโลก จึงเป็นสาเหตุให้โลมาเกยตื้นทั้งฝูง ส่วนสาเหตุของโลมาตัวนี้ จากการตรวจสอบอาการเบื้องต้น น่าจะมีสาเหตุจากอาการป่วยจึงทำให้ไม่มีแรงว่ายน้ำจนเกยตื้นดังกล่าว
โลมากระโดด (Spinner dolphin) จะมีรูปร่างเพรียว ปากค่อนข้างเล็กยาวจึงดูคล้ายมีปากยาวกว่าโลมาชนิดอื่น ลำตัวสีน้ำเงินเข้มด้านหลัง มีแนวแบ่งสีจางข้างลำตัวแถบสีเข้ม พาดจากตาไปจดครีบข้าง ขนาดโตเต็มที่ยาว 2.1 เมตร ปากเล็กยาว มีฟัน 45-65 คู่ บนขากรรไกรแต่ละข้าง ขนาดโตถึงวัยผสมพันธุ์ได้ความยาวประมาณ 1.7 เมตร ใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 10 เดือน ลูกโลมาแรกเกิดความยาว 70-85 เซนติเมตร ในประเทศไทยพบมากทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน