ปัตตานี - คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน หารือร่วม กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต.เกี่ยวกับสถานการณ์การใช้สื่อออนไลน์ต่อการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงในพื้นที่ 3 จชต. เผยเตรียมพิจารณากฎหมายเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ในการเรียกข้อมูลโดยตรง
วันนี้ (26 พ.ค.) ที่ห้องประชุม ค่ายสิรินธร จังหวัดปัตตานี มีการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้สื่อออนไลน์ต่อการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พล.อ.คณิต หมื่นสุวรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พล.ท.เรืองศักดิ์ สุวรรณนาคะ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า นายสัมพันธ์ มูซอดี ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมเจ้าหน้าที่ทหาร และหน่วยงานราชการในพื้นที่เข้าร่วมหารือด้วย
โดย พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. กล่าวถึงสถานการณ์การใช้สื่อออนไลน์ต่อการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงว่า เป็นสิ่งใหม่ และยังไม่มีกฎหมายรองรับ แม้จะมีกฎหมายบางมาตราที่ใช้ได้ก็ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการมากพอ โดยเฉพาะผู้เห็นต่างจากรัฐใช้เครื่องมือสื่อสารหลากหลาย จากเมื่อก่อนใช้เพียงการโทร.เข้าออก พัฒนาสู่การใช้อินเทอร์เน็ต และสื่อโซเชียลมีเดียในการปลุกระดม เพราะสะดวก ค่าใช้จ่ายน้อย ปกปิดตัวเอง และเข้าถึงได้ยาก
สปท.จึงศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อปฏิรูปการใช้สื่อออนไลน์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี 2 ประเภท คือ ภาพรวมการใช้เครื่องมือแบบเดิม และการบูรณาการการใช้ความรู้เชิงสอบสวนเพื่อยับยั้งการปลุกระดม และการก่อความไม่สงบในพื้นที่ อีกทั้ง สปท.เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยใช้กฎหมายในการกำกับดูแล ซึ่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่จะช่วยการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยเพิ่มอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่ในการเรียกข้อมูลโดยตรงเมื่อสงสัยว่าเกิดการกระทำความผิด โดยไม่ต้องผ่านกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อสามารถยับยั้ง และแก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ที่ผู้เห็นต่างใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องติดต่อสื่อสารได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความคิดเห็นว่า โลกปัจจุบันนั้นสื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อประชาชน เนื่องจากใช้ประโยชน์ได้ง่าย ต้นทุนต่ำ และสามารถเข้าถึงตัวบุคคลได้ทุกเวลา และทุกสถานการณ์ ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จะต้องทำให้สื่อออนไลน์เป็นจุดเด่นของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ให้ได้