ศูนย์ข่าวภาคใต้ - มรภ.สุราษฎร์ธานี จับมือ อบต.ท่าชนะ สำรวจแนวปะการังในอ่าวท่าชนะ หลังพบเป็นแนวปะการังขนาดใหญ่กว่า 100 ไร่ แต่กลับเกิดการฟอกขาวจำนวนมากจากภาวะโลกร้อน เตรียมประสานกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเยียวยา หวังฤดูฝนช่วยแนวปะการังฟื้นตัว
วานนี้ (24 พ.ค.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมกับ อบต.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี และผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางไปสำรวจแนวปะการังแห่งใหม่ที่เพิ่งค้นพบบริเวณอ่าวท่าชนะ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี โดยพบว่า เป็นแนวปะการังขนาดใหญ่ กินพื้นที่ร่วม 100 ไร่ จาก อ.ท่าชนะ ไปจนถึง อ.ละแม จ.ชุมพร แต่เกิดปะการังฟอกขาวจำนวนมากเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน
นายธรรมรัตน์ วาจาสัตย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปะการังฟอกขาวเป็นผลจากภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนปะการังไม่สามารถปรับตัวได้ ส่งผลให้ปะการังเหล่านี้มีสีซีดลง
“ปะการังจะดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกับสาหร่ายเซลล์เดียวขนาดเล็ก โดยสาหร่ายจะอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อชั้นในของปะการัง ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง สร้างพลังงาน และมีรงควัตถุ สร้างสีสันให้แก่ปะการังที่มันอาศัยอยู่ เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ปะการังจึงปรับตัวโดยการขับสาหร่ายออกมา ทำให้ปะการังสูญเสียรงควัตถุที่จะสร้างสีสัน” นายธรรมรัตน์ กล่าว
นายณัฐพล เมฆแดง หน.สาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มรภ.สุราษฎร์ธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าอุณหภูมิที่สูงขึ้นกินระยะเวลานานปะการังอาจตายได้ แต่ถ้าอุณหภูมิกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ปะการังบริเวณนี้ก็จะฟื้นตัวกลับมามีสาหร่ายเกาะ และจะค่อยๆ มีสีสันขึ้นมาได้อีกใน 1-2 สัปดาห์ อาทิตย์ที่ผ่านมา เข้าสู่ฤดูมรสุม มีฝนตกแทบทุกวัน อุณหภูมิน้ำทะเลเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ จึงหวังว่าปะการังฟอกขาวจะไม่ขยายวงออกไปมากกว่าเดิม แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน
“ขณะนี้ มรภ.สุราษฎร์ธานี ได้ประสานกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาแล้ว ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการความร่วมมือจากคนในพื้นที่ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นด้วย พื้นที่ดังกล่าวมีแนวโน้มจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในอนาคต ต้องมีการจัดการอย่างรัดกุมเพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ แต่ก่อนอื่นต้องช่วยกันทำให้แนวปะการังดังกล่าวพ้นภาวะวิกฤตนี้ไปให้ได้เสียก่อน” นายณัฐพล กล่าว
ด้าน นายถาวร ไม้โภคา นายก อบต.ท่าชนะ กล่าวว่า แนวปะการังดังกล่าวเคยมีความสมบูรณ์มาก เป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ หากจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ต้องเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือ มีการให้ความรู้เชิงอนุรักษ์แก่นักท่องเที่ยวด้วย ต้องเป็นการท่องเที่ยวที่กระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการรักษา ไม่ใช่การทำลาย