ระยอง - ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ระยอง จัดงานวันทะเลโลก (Word Ocean Day)
วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่บริเวณลานอเนกประสงค์ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเทศบาลตำบลเพ อ.เมืองระยอง นายทรรศนะ วิชัยธนพัฒน์ รองผู้ว่าราชการจะงหวัดระยอง เป็นประธานเปิดงานวันทะเลโลก (Word Ocean Day) จัดโดย นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผอ.ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 มีนายวรพจน์ ทรัพย์เกิด ผอ.สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายไพรัตน์ อรุณเวสสะเศรษฐ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเพ นายสุรพล อิทธิ์ประเสริฐ นายกเทศมนตรีตำบลแกลง-กะเฉด นายวีระพล พวงพิทยาวุฒิ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง นายชมพล จันทร์อุไร กรรมการผู้จัดการบริษัทในเครือ เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) ฝ่ายปฏิบัติการท่าเรือ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ผู้แทนบริษัท โกลว์ จำกัด และบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยเทคนิคระยอง ระยองวิทยาคม นิคมอุตสาหกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยี่พาณิชยการสัตหีบ ร่วมในพิธี
นายประสาน แสงไพบูลย์ ประธานมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ กล่าวในตอนหนึ่งว่า ความสำเร็จในการดูแลท้องทะเล โดยเฉพาะระบบนิเวศที่เป็นความสำคัญคือ แนวปะการังอยู่ร่วมกับสาหร่าย อยู่ในน้ำที่ไม่ลึกเกินไป และมีแสงที่พอเพียง และต้องอยู่ในอุณหภูมิน้ำที่เหมาะไม่ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส และไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส บริเวณประเทศไทยซึ่งอยู่ในเหนือเส้นศูนย์สูตรขึ้นมาเป็นบริเวณหนึ่งของโลกที่มีแหล่งปะการังที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง จากข้อมูลที่มีการสำรวจเราเคยมีปะการังถึง 46 %แต่เกิดวิกฤตปะการังฟอกขาวเมื่อปี 53 เหลือ 23% และใน 5 ปีที่ผ่านมาวันนี้จะเหลือไม่ถึง 20% แล้ว
นายประสาน ประธานมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่าพีวีซีที่นำมาปลูกปะการังได้ โดยบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯช่วยผลักดันโครงการปลูกปะการังด้วยท่อพีวีซี จำนวน 10,000 ต้น สำเร็จ ทำให้เกิดพลังจากหลายหน่วยงาน ประชาชนในพื้นที่ และเยาวชนเข้าไปฟื้นฟูมีการปลูกปะการังด้วยท่อพีวีซี ที่เกาะเสม็ด จ.ระยอง เกาะหวาย จ.ตราด และเกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต่อมา ได้ทำโครงการร่วมกับบริษัท วีนิไทย คือ โครงการวีนิไทยร่วมใจปลูกปะการัง จำนวน 80,000 กิ่ง
ดำเนินการมาครึ่งโครงการได้เกิดวิกฤตภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตแนวปะการัง และเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาว ทำให้ปะการังตาย จึงต้องเริ่มฟื้นฟูกันขึ้นมาใหม่ ปัจจุบันนี้ปะการังได้เริ่มเติบโตขึ้นมาเป็นจุดแรกในอ่าวไทย โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้ามาร่วมฟื้นฟู และผลักดันพร้อมงานวิจัยปลูกปะการังได้หลากหลายสายพันธุ์ ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เขากวางชนิดเดียว วันนี้ถือเป็นวันแรกโดยนำกิ่งปะการังที่เลี้ยงไว้ไม่เกิน 1 ปีเข้าไปติดตั้งเข้าสู่ใต้ทะเล คาดว่าภายในระยะเวลา 1 ปี จะเกิดความกลมกลืนและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบนิเวศมีความหลากหลาย โดยเฉพาะสายพันธุ์ปะการังที่นำเข้าไปฟื้นฟู
ด้านนายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผอ.ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลแลชายฝั่ง กล่าวว่า วันทะเลโลก เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2535 โดยความร่วมมือของกลุ่มประชาคมโลก เผยแพร่ความรู้ไปยังประชาชนทั่วโลก และมีการประชุมกันที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล กำหนดให้วันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันทะเลโลก เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของท้องทะเล ใส่ใจต่อการอนุรักษ์ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล
โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการศึกษาวิจัย สงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู คุ้มครองป้องกันและบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มอบให้ศูนย์อนุรักษ์และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 จัดกิจกรรมวันทะเลโลกปี 2558 ภายใต้ชื่อ “Healthy oceans healthy Planet ชายหาดสวยสะอาด โลกสวยสดใส” วัตถุปะสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญ และร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และในวันนี้จะมีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 251,000 ตัว ปูทะเล 300 ตัว หอยหวาน 20,000 ตัว หมึกหอม 10,000 ตัว ปลูกปะการัง จำนวน 200 กิ่ง และร่วมกันเก็บขยะทำความสะอาดบริเวณชายหาด