xs
xsm
sm
md
lg

พบปะการังเกิดใหม่ที่เกาะปลิง หาดในยาง จ.ภูเก็ต รัฐเร่งดูแลหวั่นถูกทำลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เผยปะการัง เขตอุทยานสิรินาถภูเก็ต งอกใหม่แล้ว หลังเสียหายจากเหตุปะการังฟอกขาว แต่ยังต้องเฝ้าระวังป้องกันการทำลายจากทั้งฝีมือคน และธรรมชาติ หน่วยงานรัฐเดินหน้าคุมเข้มห้ามเรือ นักท่องเที่ยวเข้าในพื้นที่รัศมี 10 ไร่ หวั่นตายซ้ำ ตั้งเป้าอนุรักษ์เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว เมื่อปี 2553 ที่เคยส่งผลกระทบต่อแนวปะการังในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน จนสร้างความเสียหายไปทั่ว ทำให้แนวปะการังโดยเฉพาะปะการังน้ำตื้นตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ทั้งจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และรวมถึงที่อื่นๆ ตายไปจำนวนมหาศาล ไม่เว้นแม้แต่แนวปะการังในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต ที่ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากเช่นเดียวกันจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งหลายคนคาดว่า กว่าปะการังจะฟื้นตัวกลับมาคงต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่ก็มีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นต่อแนวปะการังในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ที่ขณะนี้เริ่มงอกใหม่กลับมาแล้ว

จากการสำรวจแนวปะการังในหลายๆ จุดในทะเลอันดามัน ของศูนย์นวัตกรรมอุทยานแห่งชาติและพื้นที่คุ้มครองทางทะเล จังหวัดภูเก็ต พบว่า แนวโน้มของปะการังเกิดใหม่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะแนวปะการังที่บริเวณเกาะปลิง ซึ่งอยู่หน้าบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติสิรินาถ (ภูเก็ต) หรือหาดในยาง จ.ภูเก็ต พบปะการังชนิดต่างๆ กำลังฟื้นตัว และเกิดใหม่จำนวนมาก โดยปะการังดังกล่าวมีอายุประมาณ 3-4 ปี แม้จะยังไม่มีความสมบูรณ์เต็มที่ แต่ปะการังจุดนี้จะทำให้ปะการังในบริเวณใกล้เคียงฟื้นตัวตามมาด้วย เพราะวัยของปะการังกำลังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ที่สามารถปล่อยตัวอ่อนให้ไปเกาะตามจุดต่างๆ ได้แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่แนวปะการังเริ่มกลับมาฟื้นตัวเพราะจะทำให้ทะเลอันดามันกลับมามีความสมบูรณ์อีกครั้ง

ปะการังบริเวณนี้มีประมาณค่อนข้างมาก โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 200-300 เมตร พบมีทั้งปะการังก้อนชนิดต่างๆ และกลุ่มของปะการังกิ่ง ไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด นอกจากนี้ ในบริเวณพื้นที่ของซากปะการังเก่า พบว่า มีปะการังรุ่นใหม่ๆ ลงเกาะเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มปะการังเขากวาง และปะการังกิ่งอีกหลายชนิด ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอายุประมาณตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป พบก้อนปะการังตั้งแต่ขนาดประมาณ 5-20 ซม. ส่วนบริเวณแนวขอบด้านทิศเหนือ จะพบปะการังโขดขนาดใหญ่ที่อาจจะขนาดตั้งแต่ 1-2 เมตร และชนิดปะการังก็หลากหลายกว่าด้านใน แต่ก็พบเศษซากปะการังบนพื้นทราย (rubble) เป็นหย่อมๆ เพียงเล็กน้อย แต่ก็จัดว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการที่จะฟื้นตัวของปะการังได้ดี

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้แนวปะการังดังกล่าวถูกทำลายจากน้ำมือมนุษย์ เช่นเดียวกับแนวปะการังในพื้นที่ต่างๆ ในฝั่งทะเลอันดามันถูกทำลายอีกครั้ง เนื่องจากฝีมือของมนุษย์ที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่รู้จักคำว่าเพียงพอ ทางอุทยานแห่งชาติสิรินาถ (ภูเก็ต) และศูนย์นวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่คุ้มครองทางทะเล จังหวัดภูเก็ต จึงได้ออกมาตรการล้อมคอกแนวปะการังดังกล่าวขึ้นเพื่อรักษาสภาพให้แนวปะการังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ต่อไป โดยการวางทุ่นเป็นแนวเพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวลงไปเล่นน้ำ รวมถึงเรือประมง และเรืออื่นๆ ไม่ให้จอด หรือแล่นผ่านบริเวณดังกล่าวในรัศมีกว่า 10 ไร่

ขณะที่มาตรการระยะยาว ทางอุทยาสิรินาถ ได้ของบประมาณไปยังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอสนับสนุนเพิ่มกำลังพลในการใช้ลาดตระเวนในพื้นที่รับผิดชอบทั้งทางบก และทางน้ำ ซึ่งกำลังพลกลุ่มนี้จะต้องดูแลบริเวณพื้นที่ของปะการังงอกใหม่เป็นพิเศษ พร้อมทั้งขอให้ทางกรมอุทยานฯ ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสำรวจกำหนดจุด และรูปแบบการวางทุ่นจอดเรือซึ่งเป็นทุ่นขนาดใหญ่เพื่ออนุรักษ์แนวปะการังอย่างถาวร ในอนาคตเมื่อปะการังเหล่านี้แข็งแรงเติบโตเต็มที่ก็จะใช้เป็นจุดดำน้ำชมปะการังเพื่อถ่ายเทนักท่องเที่ยวที่แออัดมาจากจุดอื่นๆ ทั้งในพื้นที่ภูเก็ต และใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจแนวปะการังบริเวณอุทยานแห่งชาติสิรินาถภูเก็ต ไม่ได้มีการสำรวจเพียงแค่จุดที่เกาะปลิงเท่านั้น แต่มีการสำรวจในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย เช่น ปะการังที่อยู่ถัดออกไปทางด้านนอกของเกาะปลิง บริเวณนี้จัดว่ามีสัดส่วนของปะการังมีชีวิตประมาณ 30-50% และมีแนวต่อเนื่องกับพื้นที่แนวปะการังด้านหน้าสนามบิน อยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 300-600 เมตร พบทั้งส่วนของปะการังโขด ปะการังก้อน ปะการังกิ่ง และปะการังเคลือบชนิดต่างๆ ประมาณ 30-40 ชนิด และบริเวณนี้มีพื้นที่ของซากปะการังเก่า จากการสำรวจพบว่า มีก้อนปะการังใหม่ๆ เกิดขึ้นมากทั้งในกลุ่มปะการังก้อน ปะการังกิ่ง และปะการังเคลือบ

นอกจากนั้น จากการสำรวจในพื้นที่ใกล้เคียงพบว่า มีบางจุด เช่น พื้นที่บริเวณด้านหน้าของชายหาดในยาง สภาพของปะการังส่วนใหญ่ตายเกือบหมด เหลือแบบก้อนเพียงเล็กน้อยมาก เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้จะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลบริเวณปากคลองในช่วงหน้าฝนเป็นจำนวนมาก และปริมาณตะกอนทรายที่โดนคลื่นลมพัดพาไปทับถม และถัดจากจุดดังกล่าวไปประมาณ 100 เมตร พบปะการังส่วนใหญ่ตายเกือบหมด แต่พบว่า จะมีส่วนของโคโลนีที่รอดชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นปะการังก้อน และพบก้อนปะการังเขากวางขนาดตั้งแต่ 3-5 ซม. ถึงขนาดประมาณ 20-25 ซม. กระจายอยู่ทั่วไปบนพื้นทะเลที่เป็นลักษณะเศษซากปะการังบนพื้นทราย (rubble) ในปริมาณที่ไม่มากนัก โดยประชากรปะการังกลุ่มนี้น่าจะมาจากการฟื้นตัวของปะการังหลังการฟอกขาว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มของปะการังในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติจะดีขึ้น แต่ก็ต้องเร่งกำหนดมาตรการในการจัดการพื้นที่บริเวณหาดในยางเพื่อป้องกันไม่ให้แนวปะการังเสื่อมโทรม และกลับมาสมบูรณ์ดังที่ทุกคนหวังไว้ ซึ่งประกอบด้วย 1.ปัญหาการไหลลงของน้ำจืดบริเวณปากคลอง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำโดยตรงที่เกิดขึ้นต่อแนวปะการัง ทั้งบริเวณที่ 1 และบริเวณที่ 2 ทำให้ปะการังตายจนเกิดการกัดเซาะ และพัดพามวลทรายโดยกระแสน้ำไปกองอยู่บริเวณหน้าหาด (แนวสันทรายขนาดใหญ่) ส่วนน้ำจืดที่ไหลลงบริเวณจุดสีแดงที่ 1 ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังทั้ง 4 บริเวณน้อยมาก แต่อาจจะมีผลกระทบบริเวณเกาะกระทะ

2.ปัญหาคุณภาพน้ำทิ้งจากบริเวณแหล่งชุมชนที่ไหลมากับน้ำจืดจากปากคลองที่ไหลลงทะเลทั้ง 2 บริเวณ อาจจะมีการปล่อยน้ำทิ้งจากแหล่งชุมชนด้านหลัง ซึ่งอาจจะไม่ได้บำบัดคุณภาพน้ำก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้แนวปะการังด้านนอกทั้งบริเวณที่ 1-2 พบว่า มีสาหร่ายขนาดใหญ่เจริญเติบโตเป็นจำนวนมาก และจะมีผลแย่งพื้นที่ลงเกาะของตัวอ่อนปะการังในอนาคต และหากมีการตรวจคุณภาพน้ำทะเลอาจจะพบเชื้อบางชนิดในน้ำทะเลได้ (ควรมีการตรวจสอบเชื้อ E.coli และ coliform)

3.ปัญหาเรื่องเศษซากอวนเก่าที่ติดอยู่ตามก้อนปะการัง พบมากทั้ง 3 บริเวณด้านนอก ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปะการังด้านนอกเสื่อมโทรมจากการทับถมของเศษอวน และ 4.ปัญหาการเดินเหยียบย่ำของชาวประมงขนาดเล็ก (กลุ่มที่ตกปลาทราย) หรือกลุ่มที่เข้ามาหาหอยบริเวณแนวปะการัง และนักท่องเที่ยวที่เดินเข้าไปบริเวณแนวปะการังในช่วงเวลาน้ำลง เพราะจะทำให้ปะการังแตกหักได้ รวมถึงปะการังที่ลงเกาะใหม่ๆ

แต่อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามแหล่งข่าวรายหนึ่งทราบว่า ปัญหาสำคัญในการทำลายแนวปะการัง นอกจากจากฝีมือมนุษย์แล้ว ยังมีเรื่องของธรรมชาติซึ่งเป็นภัยคุกคามที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะเรื่องของอุณหภูมิของน้ำทะเล ซึ่งจากการสำรวจพบว่า เริ่มมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยขณะนี้อุณหภูมิน้ำทะเลบางจุดอยู่ที่ประมาณ 29 องศา ถ้าเมื่อไหร่น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นไปถึง 3 องศา ระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่วันก็จะเกิดปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นอีกครั้ง ถ้าหากเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นมาอีกแนวปะการังในฝั่งทะเลอันดามันก็จะกลับไปอยู่ในสภาวะวิกฤตอย่างหนัก เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่า แนวปะการังกำลังถูกคุกคามในทุกรูปแบบและทุกพื้นที่ จนกลายเป็นกระแสวิจารณ์กันอยู่ในโลกโซเชียลขณะนี้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น