ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ทหารยกพลขึ้นเกาะหลีเป๊ะ ที่สตูล รุกคืบจัดระเบียบความเรียบร้อยชายหาดเพื่อการท่องเที่ยวแล้ว เผยลุยผูกทุ่นกันพื้นที่ดำน้ำดูปะการัง ขณะเดียวกัน ก็กำหนดแหล่งจอดเรือตามใจชอบ แถมตัดเชือกผูกเรือหางยาวจนส่งผลกระทบต่อชาวเล จนผู้ประกอบการเรือเล็กนำเที่ยวบ่นอุบว่าเอาใจแต่นายทุน
นางพิมพ์มาดา ใจบิดา เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล เปิดเผยว่า เมื่อเย็นวานนี้ (22 พ.ค.) เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าไปผูกทุ่นในทะเลบริเวณเกาะหลีเป๊ะ ฝั่งใกล้ด้านโรงเรียนบ้านอาดัง และโรงแรมหลีเป๊ะบีช รีสอร์ท (ฝั่งตะวันออกของเกาะ) เพื่อกั้นพื้นให้นักท่องเที่ยวดำน้ำ และป้องกันไม่ให้เรือหางยาวเข้าจอด ส่งผลให้เรือหางยาวของชาวบ้านที่เคยจอดไว้ในพื้นที่ดังกล่าวกว่า 10 ลำ ไม่สามารถเข้าจอดได้ตามเดิม โดยที่เจ้าของเรือไม่ทราบถึงเหตุผลในการออกมาผูกทุ่นอย่างเร่งด่วนในครั้งนี้ ทราบแต่เพียงว่า ในเรื่องนโยบายการจัดระเบียบเรือนั้นมีมานานแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (23 พ.ค.) ทหารแจ้งชาวบ้านในพื้นที่ว่า อาจจะเข้ามาดูสภาพการจอดเรืออีกครั้งช่วงเย็น เพราะต้องการจัดระเบียบการจอดเรือใหม่ เพื่อไม่ให้ไปขวางทัศนียภาพการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนตัวคาดว่าน่าจะมีเรือหลายลำบนเกาะหลีเป๊ะได้รับผลกระทบ
“คือเท่าที่รู้ชาวเลไม่เคยได้เสนอเรื่องพื้นที่จอดเรือด้วยซ้ำ การเจรจา การประชุมเรื่องนโยบายการจัดระเบียบเรือไม่ได้เป็นไปแบบเชิงการปรึกษาชาวบ้าน แต่ทหารก็เข้ามาจัดระเบียบแบบที่ตนเองมองว่าเหมาะสมเท่านั้น ไม่ได้สนใจว่าชาวเล หรือชาวเกาะที่เขามีเรือหางยาวนั้น เขาอยู่กับทะเลมากี่ปีแล้ว เขามีวิธีจอดเรืออย่างไร แต่การบุกเข้ามาผูกทุ่น มาตัดเชือกแบบนี้ น่าสงสารเจ้าของเรือนะ เขาอยู่มาก่อนทำไมเขาไม่มีสิทธิผูกเรือในทะเลที่เขาเกิดมา การทำแบบนี้เหมือนไล่คนท้องถิ่นออกจากเกาะเรื่อยๆ เพราะทุ่นกั้นพื้นที่ดำน้ำมีการขยายแทบทุกปี” นางพิมพ์มาดา กล่าว
ด้าน นางละออง หาญทะเล ชาวเลเกาะหลีเป๊ะที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ กับโรงเรียนบ้านอาดัง กล่าวว่า จากการตรวจสอบดูเรือของครอบครัวของตนล่าสุดเมื่อเช้านี้ เชือกผูกเรือยังอยู่ในสภาพดี แต่ต้องเฝ้าระวังต่อไป โดยเมื่อทราบข่าวว่า ทหารจะลงมาจัดระเบียบในพื้นที่ใด ชาวเลจะเปลี่ยนที่จอดเรือชั่วคราว แล้ววันหลังค่อยกลับมาจอดที่เดิม
แต่นโยบายกั้นพื้นที่ดำน้ำตื้นดูปะการังเพื่อนักท่องเที่ยว นับวันก็ขยับเข้าใกล้กับฝั่งมากขึ้นทุกที เจ้าของเรือหางยาวกว่า 300 ลำ ซึ่งเป็นชาวเลส่วนมากไม่เห็นด้วยต่อนโยบายนี้ เพราะเรือหางยาวเป็นเรือสำหรับประกอบอาชีพรับจ้างนักท่องเที่ยว เป็นพาหนะเดียวที่ชาวเลสามารถหารายได้ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวได้ดี และหน้ามรสุมส่วนมากชาวเลจะนำเรือไปทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งหากจอดไกลจากบ้านมากๆ จะลำบากต่อการออกมาดูเรือยามกลางคืน ทุกวันนี้ชาวเลบนเกาะจึงแทบไม่ได้นอนบ้าน เพราะบางคนจอดเรือไว้ไกลต้องออกไปนอนหน้าหาดเฝ้าเรือ
“บางคนกลัวนายทุนแอบตัด บางคนกลัวเรือถูกลมพัดไป เราก็เฝ้าไปตามประสา แต่ถ้าจัดระเบียบจริงจังเมื่อไหร่เราจะแย่แน่ เพราะเรือเรามีกันเยอะ เราใช้เรือเป็นหลักนะบนเกาะ ไม่ให้ที่เราผูกเรือจะให้เราใช้อะไรออกทะเล” นางละออง กล่าวและว่า
เรื่องเรือนี้มีความเชื่อมโยงต่อปะการังมาก เพราะมีกลุ่มนักอนุรักษ์ปะการังบางกลุ่มพยายามป้อนข้อมูลให้นักท่องเที่ยวว่า ปะการังน้ำตื้นที่เสียหายส่วนหนึ่งเกิดจากการเดินเรือหางยาว และการจอดเรือหางยาวทับแหล่งปะการัง ดังนั้น จุดดำน้ำแต่ละที่จึงมีการทำแนวเขตใหม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าสาเหตุนี้อาจมีส่วนทำให้ทางการเชื่อชาวเลทำความเสียหายแก่ปะการัง และทรัพยากร
“แต่ในความเป็นจริงชาวเลสามารถแยกแยะออกได้ว่า พื้นที่ใดมีหินงาม มีปะการังสวย มีปลาสวยงามอยู่ ก็จะเลี่ยงได้เองตามองค์ความรู้ที่มี โดยส่วนตัวมองว่า การจัดระเบียบเรืออาจมาจากกลุ่มทุนบางกลุ่มที่ไม่ต้องการให้บริเวณหน้าที่พักมีเรือมาจอดขวางภาพวิวทิวทัศน์มากกว่า ซึ่งเรื่องนี้เราเองในฐานะชาวเลที่อาศัยมานาน อยากให้ทางการคิดใหม่ และเห็นใจชาวบ้านที่อาศัยอยู่ก่อน ทำไมต้องเอาใจแต่นายทุนด้วย”