xs
xsm
sm
md
lg

ผงาดแชมป์! ม.เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สเตท ชนะเลิศเขียนโปรแกรมคอมพ์โลกที่ภูเก็ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

1
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ทีมจากมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สเตท ประเทศรัสเซีย ผงาดคว้ารางวัลชนะเลิศเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับโลก ครั้งที่ 40 (ACM-ICPC World Finals 2016) ที่ จ.ภูเก็ต ด้านทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนของประเทศไทย ได้รับรางวัล First to Solution ในการแข่งขันครั้งนี้

วันนี้ (19 พ.ค.) ที่สนามกีฬาเทศบาลนครภูเก็ต ศูนย์กีฬาสะพานหิน จ.ภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับโลก ครั้งที่ 40 (ACM-ICPC World Finals 2016) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-20 พฤษภาคม 2559 โดยในปีนี้มีตัวแทนมหาวิทยาลัยจาก 40 ประเทศ จำนวน 128 ทีม และในจำนวนนี้มีทีมจากประเทศไทยร่วมแข่งขัน 2 ทีมด้วยกัน คือ ทีม FEDEX จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทีม CUCP Meow Meow : 3 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยผลการแข่งขันในครั้งนี้ ทีมมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สเตท (St. Petersburg State University) จากประเทศรัสเซีย สามารถคว้าแชมป์รายการในปีที่ 40 นี้ไปครองได้สำเร็จ ซึ่งสามารถทำโจทย์ได้ 11 ข้อ จากทั้งหมด 13 ข้อ และอันดับ 2 คือ ทีมมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจียวทง (Shanghai Jiao Tong University) จากประเทศจีน ทำได้ 11 ข้อเท่ากัน แต่ได้อันดับ 2 เพราะใช้เวลารวมในการแก้โจทย์ที่นานกว่า
 
2
 
ส่วนลำดับ และรางวัลอื่นๆ นั้นมีดังนี้ ทีมมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, ทีมสถาบันฟิสิกส์และเทคโนโลยีมอสโก รั้งอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ โดยทั้งหมดตั้งแต่อันดับ 1-4 จะได้รับเหรียญทอง ขณะที่ทีมชนะเลิศระดับภูมิภาค ได้แก่

- มหาวิทยาลัยไคโร ทีมชนะเลิศภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง
- มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจียวทง ทีมชนะเลิศภูมิภาคเอเชีย
- มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สเตท ทีมชนะเลิศภูมิภาคยุโรป
- มหาวิทยาลัยแห่งชาติโรซาริโอ ทีมชนะเลิศภูมิภาคละตินอเมริกา
- มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทีมชนะเลิศภูมิภาคอเมริกาเหนือ
- มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ทีมชนะเลิศภูมิภาคแปซิฟิกใต้
 
3
 
ด้านทีมที่ทำคะแนนได้สูงสุด จำนวน 12 ทีม และได้รับเหรียญรางวัล มีดังนี้

- มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สเตท เหรียญทอง
- มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจียวทง เหรียญทอง
- มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เหรียญทอง
- สถาบันฟิสิกส์และเทคโนโลยีมอสโก เหรียญทอง
- มหาวิทยาลัยวอร์ซอว์ เหรียญเงิน
- สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เหรียญเงิน
- มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ไอทีเอ็มโอ เหรียญเงิน
- มหาวิทยาลัยยูรัล เฟเดอรัล เหรียญเงิน
- มหาวิทยาลัยวรอคลาว เหรียญทองแดง
- มหาวิทยาลัยนิชนีย์นอฟโกรอด สเตท เหรียญทองแดง
- มหาวิทยาลัยแห่งชาติลวิฟ เหรียญทองแดง
- มหาวิทยาลัยฟูตัน เหรียญทองแดง
 
4
 
ขณะที่ 2 ทีมตัวแทนของประเทศไทย ทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถคว้ารางวัลแรกของการแข่งขัน คือ สามารถแก้โจทย์ข้อแรกสำเร็จได้รวดเร็วที่สุด จากการใช้เวลาไปเพียง 11 นาที หลังจากเริ่มแข่งขัน จนได้รับรางวัล First to Solution ในการแข่งขันครั้งนี้ ด้านอีกหนึ่งทีมจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็สามารถแก้โจทย์ปัญหาได้ 1 ข้อ และได้รับเสียงปรบมือดังก้องไปทั่วสนามกีฬาเทศบาลนครภูเก็ตอีกด้วย ทางด้านเจ้าภาพการจัดการแข่งขันในปีถัดไป คือ ทีม South Dakota School of Mines and Technology, USA จากประเทศสหรัฐอเมริกา
 
5
6
7
8
9
10
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น