เอเอฟพี - นักโต้คลื่นรายหนึ่งในออสเตรเลียถูกฉลามกัดต้นขาเกือบขาดทั้งท่อน แต่เคราะห์ดีที่นักท่องเที่ยวแถวนั้นรุดเข้าไปช่วยชีวิตไว้ได้ทัน และเขากำลังฟื้นตัวอยู่ในวันนี้ (31)
เบร็ตต์ คอนเนลแลน วัย 22 ปี กำลังอยู่ในน้ำที่ชายหาดบอมโบ ทางตอนใต้ของนครซิดนีย์ เมื่อเย็นวันพุธ (30) ในตอนที่เขาถูกฉลามโจมตี
“เมื่อคืนนี้ เบร็ตต์ ลูกชายของเราได้รับบาดเจ็บหนักมาก เขาอยู่ในอาการสาหัสแต่คงที่” มัลคอล์ม พ่อของเขากล่าวในถ้อยแถลงสั้น ๆ
ซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ รายงานว่า ชายคนนี้เสียต้นขาไป 3 ใน 4 ส่วน และมือได้รับบาดเจ็บในขณะที่ต่อสู้กับฉลามตัวนี้ เสียงร้องของเขาได้เตือนนักโต้คลื่นคนอื่น ๆ และผู้คนละแวกนั้น
เขาถูกช่วยขึ้นมาบนฝั่ง โดย โจเอล ทริสต์ เพื่อนของเขา และพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในหน้าที่ 2 คน บนชายหาด ด้วยการใช้เชือกเชื่อมข้อเท้าของกระดานโต้คลื่นเป็นสายรัดห้ามเลือดบริเวณต้นขาของเขาซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยเขารอดชีวิตมาได้
ทริสต์ ซึ่งเป็นนักโต้คลื่นเหมือนกัน กล่าวว่า เขาอยู่ห่างออกไป 50 เมตร ตอนที่เขาได้ยินเสียงร้องและเขาเห็นฉลามตัวดังกล่าวสะบัดตัวอย่างรุนแรงอยู่ในน้ำ
“ตอนนั้นผมเห็นฉลามตัวนั้นสะบัดตัวไปรอบ ๆ แต่ในเวลานั้นผมไม่แน่ใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ผมเพียงแค่ทำไปตามสัญชาตญาณ” เขาบอกกับผู้สื่อข่าว
“ผมว่ายน้ำเข้าไปหาเขาอย่างสุดกำลัง โชคดีที่ตอนนั้นฉลามตัวนั้นว่ายจากไปจากที่ที่เขาอยู่พอดี”
“ผมว่ายเข้าไปหาเขาและผมรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น และผมถามเขาว่า ‘เป็นยังไงบ้าง’ เขาตอบว่า ‘แย่’ และตอนนั้นเอง ผมรู้ว่ามีบางสิ่งผิดปกติอย่างร้ายแรง”
ทริสต์ดึงคอนเนลแลนขึ้นบนกระดานโต้คลื่นของเขาและพยายามพาเขาขึ้นฝั่ง
เทอร์รี มอร์โรว จากหน่วยรถฉุกเฉินนิวเซาท์เวลส์ระบุว่า “เขาสูญเสียต้นขาข้างซ้ายไปเกือบทั้งท่อน และกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าถูกฉีกออกจนถึงกระดูก”
“เขาอาจเสียเลือดจนตายได้ก่อนเราไปถึงที่เกิดเหตุ เขาโชคดีมากที่มีคนอยู่แถวนั้นและทำอย่างที่พวกเขาทำ พวกเขาช่วยชีวิตเขา”
ไมเคิล บราวน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านฉลามจากกลุ่มเซิร์ฟวอทช์ออสเตรเลีย (Surf Watch Australia) กล่าวว่า ฉลามตัวดังกล่าวน่าจะเป็นฉลามขาว หรือฉลามครีบด่าง
จำนวนการโจมตีในรัฐนิวเซาท์เวลส์เมื่อปีที่แล้ว ทำให้ทางการต้องบังคับใช้มาตรการป้องกันฉลามต่าง ๆ เพื่อลดการเผชิญหน้า รวมถึงการทดลองใช้โดรนติดตามความเคลื่อนไหวของฉลาม แต่พวกเขาประกาศว่าจะไม่กำจัดพวกมัน
เมื่อปีที่แล้วมีการโจมตีเกิดขึ้น 14 ครั้ง ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ รวมถึงการเสียชีวิตของนักโต้คลื่นชาวญี่ปุ่นรายหนึ่ง เทียบกับ 3 ครั้ง ในปี 2014 ทั้งนี้อ้างจากข้อมูลที่รวบรวมโดยสวนสัตว์ทารองกาของซิดนีย์
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การโจมตีเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ เนื่องจากกีฬาทางน้ำเป็นที่นิยมมากขึ้นและปลาที่เป็นเหยื่อเข้ามาใกล้ชายฝั่งมากขึ้น แต่กรณีที่ถึงแก่ชีวิตยังคงหาได้ยาก