ศูนย์ข่าวภาคใต้ - นครศรีธรรมราช คณะศิษย์เก่า นักศึกษา ประชาชน และบุคลากรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีบวชต้นยางนา จำนวนกว่า 200 ต้น คัดค้านกรณีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยเตรียมโค่นเพื่อตัดถนนเข้าศูนย์การแพทย์
วันนี้ (19 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (18 พ.ค.) ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช คณะศิษย์เก่า นักศึกษา ประชาชน และบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ไม่เห็นด้วยต่อการตัดโค่น หรือเคลื่อนย้ายต้นยางนา อายุ 20 ปี จำนวนกว่า 200 ต้น เพื่อตัดถนนเข้าศูนย์การแพทย์ ได้ร่วมกันนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีบวชต้นยางนา
เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์คัดค้านแผนการดังกล่าวของฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย โดยผู้เข้าร่วมพิธีบวชต้นยางนาได้นำผ้าจีวรที่ใช้ห่มเจดีย์พระบรมธาตุ มาห่อพันต้นยางนาทั้งหมดไว้เป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องไม่ให้สวนป่าแห่งนี้ถูกทำลายไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นพ.บัญชา พงษ์พาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงที่มาที่ไปของสวนป่าต้นยางนาดังกล่าว ตอนหนึ่งว่า 1.แถวยางฝั่งตะวันออกที่ปลูกเป็นแนวขนานถนนทางเข้าสายหลักของมหาวิทยาลัยนั้นอยู่ในผังแม่บท รวมทั้งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุทยานพฤกษศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่มหาวิทยาลัยกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติที่มหาวิทยาลัยจัดทำเพื่อถวายเป็นการเฉลิมพระเกียรติ
2.การกำหนดเลือกปลูกยางนาตลอดแนวเป็นกำแพงหลายชั้นนั้น ด้วยพระราชปรารภ พระจริยาวัตร และแบบอย่างของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเคยให้หยุดรถพระที่นั่งระหว่างทางเสด็จกลับจากพระตำหนักไกลกังวล แล้วทรงเก็บลูกยางใต้ต้นนำไปเพาะ และปลูกเป็นป่าในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เติบโตเป็นป่ากลางวังมาถึงทุกวันนี้
3.ขณะกำลังทำแผนอยู่นั้นได้เกิดพายุลม และฝนฟอเรสต์ถล่มพื้นที่ภาคใต้ตลอดแนวชายฝั่งตะวันออก คณะกรรมการจึงหมายให้ป่ายางที่จะใหญ่ในอนาคตนี้เป็นเสมือนหนึ่งกำแพงธรรมชาติ เพื่อลดแรงลมปะทะต่อมหาวิทยาลัยในอนาคต
4.เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ นายชวน หลีกภัย ได้รับทราบ ถึงกับชื่นชมต่อมหาวิทยาลัยที่มีวิสัยทัศน์ และทำสิ่งนี้ไว้นำมาสู่การสนับสนุนส่งเสริมมหาวิทยาลัยตามควรแก่เหตุ
“หากมหาวิทยาลัยไม่ได้คิดที่จะโค่นตัด หรือทำอะไร ก็ขออภัย ถือเสียว่าผมขอโอกาสให้ข้อมูลก็แล้วกัน แต่หากคิดจริง ขอได้โปรดพิจารณาใคร่ครวญอย่างยิ่งว่าอะไรคืออะไร เพราะประดู่ก็เอาไม่อยู่ ยางนาก็จะไม่เอาอีก หรือว่าจะให้มีแต่ไม้พื้นถิ่นดั้งเดิมที่น่าจะยังมีเต็มไปทั้งทุ่งหญ้า และป่ากอเหลาะแหละที่ผมจำได้ติดหู ก็มี ต้นแซะ นิง นน และไข่เน่า? ในฐานะคนที่ร่วมปลูกสร้าง ยังจะวิงวอนขอไว้ชีวิตยางนาป่านี้ไว้ได้ไหมครับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังคงไม่มีท่าทีใดๆ ต่อการแสดงออกของผู้คัดค้านการตัดโค่น หรือเคลื่อนย้ายต้นยางนาดังกล่าว