xs
xsm
sm
md
lg

หวังแก้ไขอดีต! ทายาท “เจ้าสัวซีพี” ลุยใต้หนุนฟื้นฟูทะเลไทย “บรรจง” เห็นด้วยถ้าตั้งใจทำจริงๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ทายาทคนเล็ก พร้อมทีมผู้บริหารเครือซีพี ลงพื้นที่ดูงานการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งของเครือข่ายประมงพื้นบ้านภาคใต้ เผยจะนำไปเป็นแนวทางในการทำงานตามนโยบายที่ต้องการการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทะเลไทยให้ยั่งยืน ด้านนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ชี้ซีพีมีส่วนทำให้ทะเลไทยเสื่อมโทรม ถือเป็นการไถ่บาปหากคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจแก้ปัญหา มากกว่าทำพีอาร์เป็นครั้งคราว
 

 
วันนี้ (12 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (11 พ.ค.) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ทายาทคนเล็กของนายธนินท์ เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรูคอร์เปอร์เรชั่น จำกัด และทีมบริหารของบริษัทในเครือ เช่น ทรู, ซีพีเอฟ ได้เดินทางลงพื้นที่ดูงานการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งของเครือข่ายประมงพื้นบ้านภาคใต้พื้นที่อ่าวท่าศาลา เยี่ยมชมธนาคารปู การทำบ้านปลา และการทำธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำ “ร้านคนจับปลา” ของสมาคมเครือข่ายประมงอ่าวท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

สืบเนื่องจากเครื่องข่ายประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้รณรงค์เพื่ออนุรักษ์ และฟื้นฟูทะเลไทยมายาวนาน หนึ่งในปัญหาก็คือ ธุรกิจอาหารสัตว์ โดยเฉพาะปลาป่นซึ่งซีพีคือ บริษัทใหญ่ที่เป็นผู้ใช้ปลาป่นในธุรกิจอาหารสัตว์ของบริษัท
 

 
ซึ่งปลาป่นส่วนใหญ่จับขึ้นมาโดยเครื่องมือทำการประมงแบบทำลายล้าง เช่น จากเรืออวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ทำให้กระทบต่ออาชีพของประมงพื้นบ้านในพื้นที่ชายฝั่ง 22 จังหวัด 4.5 แสนครอบครัว และหลายๆ ชุมชนต้องล่มสลาย ซึ่งที่ผ่านมา เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนหันมาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีส่วนในการรับซื้อวัตถุดิบปลาป่นสำหรับทำอาหารสัตว์
 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่รับรู้ปัญหานี้มาระยะหนึ่ง ได้ประกาศต่อสาธารณะเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมาว่า ทางเครือฯ ได้ปรับองค์กรให้สอดคล้องต่อการแก้ไขปัญหา และร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่ากรณีข้าวโพด หรือปลาป่น ที่มีส่วนส่งผลกระทบต่อเกษตรกร หรือคนยากคนจน
 

 
ในส่วนของอาชีพประมงพื้นบ้าน เครือซีพี ได้ออกนโยบายลดการใช้ปลาป่น by catch ลง 75% ในปี 2559 และจะลดลง 0% ในปี 2560 โดยต่อไปจะไปใช้ปลาป่น by product หรือนำเข้าเป็นหลัก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดการทำร้ายทำลายทะเลไทย และอาชีพพี่น้องประมงชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นประชากรอาชีพประมงส่วนใหญ่ของประเทศ คือ 85% ของอาชีพประมง และได้วางนโยบายว่าจะร่วมฟื้นฟูทะเลไทยให้ยั่งยืน แต่อาจจะใช้ระยะเวลาระยะหนึ่ง และพบว่า ชุมชนประมงคือ องค์ประกอบสำคัญในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทะเลให้ยั่งยืน
 

 
นอกจากนี้ เครือซีพีได้ติดตามการทำงานของสมาคมรักษ์ทะเลไทย และเครือข่ายประมงพื้นบ้านมายาวนานพอสมควร วันนี้เลยขอลงมาดูรูปธรรมจริงในพื้นที่ และระบุว่า ต้องขอบคุณทางสมาคมรักษ์ทะเลไทย และเครือข่ายประมงพื้นบ้านที่ให้โอกาสบุคลากรของทางเครือซีพีให้ได้มีโอกาสได้มาเรียนรู้ความสำเร็จที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้นำไปเป็นแนวทางในการทำงานตามนโยบายที่ต้องการการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทะเลไทยให้ยั่งยืนต่อไป
 

 
ด้าน นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ทางบริษัทธุรกิจใหญ่ๆ ได้หันมาสนใจแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมที่มากไปกว่าการทำพีอาร์เป็นครั้งคราว เรามีปัญหามากเกินที่จะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการหยาบๆ ลวกๆ อีกต่อไปแล้ว

“ต้องยอมรับว่า ธุรกิจของซีพีมีส่วนสร้างผลกระทบต่อชุมชน และอาชีพของเกษตรทั้งทางตรง และทางอ้อมที่ยากจะปฏิเสธ การยอมรับความจริงของคนรุ่นใหม่ที่จะต้องสานต่อธุรกิจอย่าง ดร.ศุภชัย เจียรวนนท์ ผมถือว่าท่านเป็นนักเลงพอ ที่น่าติดตามก็คือ ท่านจะทำตามที่ท่านแถลงไว้อย่างไร โดยเฉพาะการจะร่วมอนุรักษ์ และฟื้นฟูทะเลไทยให้ยั่งยืน เพราะปัญหามีหลายระดับตั้งแต่ในระดับชุมชน ระดับนโยบาย รวมถึงความซับซ้อนของปัญหาที่หมักหมมมายาวนาน”
 

 
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวและว่า แต่การที่ท่านกล้าเปิดตัว กล้ายอมรับความจริงของปัญหาที่เกิดขึ้นก็ถือว่าเป็นมิติใหม่ ซึ่งที่จริงก็อยากฟังนักธุรกิจใหญ่ๆ ที่ธุรกิจของพวกท่านส่งผลกระทบต่อสังคม ไม่ว่าพวกขายเบียร์ ขายเหล้า บุหรี่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ฯลฯ อยากฟังข้อเสนอบ้างว่าจะร่วมกันรับผิดชอบ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างไรที่มากไปกว่างานพีอาร์

“ก็ต้องให้เครดิตคุณศุภชัย ถือว่าให้โอกาสเครือซีพีได้ไถ่บาปในสิ่งที่ได้ทำไว้ต่อทะเลไทย และคาดหวังว่าจะมีธุรกิจอื่นๆ จะเอาเป็นแบบอย่างบ้าง” นายบรรจง กล่าว
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น