ยะลา - ชาวตำบลยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ร่วมสืบสานประเพณีท้องถิ่น จัดกิจกรรม “รักษ์วิถีถิ่น สืบสานวิถีไทย ร่วมใจประชารัฐ” ร่วมสรงน้ำพระ รดน้ำผู้สูงอายุ รวมทั้งจัดกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่วัดยูปาราม ต.ยุโป อ.เมืองยะลา จ.ยะลา นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เดินทางร่วมกิจกรรม และเป็นประธานเปิดงานของชาวบ้านใน ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา โดยมีการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ “รักษ์วิถีถิ่น สืบสานวิถีไทย ร่วมใจประชารัฐ” โดยมีประชาชน ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานราชการร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้น
นายวิสุทธิ์ หัวเพชร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ได้กล่าวรายงานว่า ต.ยุโป ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในพื้นที่ของ อ.เมือง จ.ยะลา ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน มีประชากรอาศัยอยู่รวมกว่า 1,481 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำสวนยางพารา สวนผลไม้ ประมง มีทั้งชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ และชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ร่วมกัน และดำเนินชีวิตแบบพหุวัฒนธรรม อีกทั้งยังดำเนินกิจกรรมของทั้ง 2 ศาสนาตามแบบฉบับของประเพณี และวัฒนธรรมร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรม “รักษ์วิถีถิ่น สืบสานวิถีไทย ร่วมใจประชารัฐ” ถือเป็นการสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั่งเดิม อีกทั้งสืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การสรงน้ำพระพุทธรูปในเทศกาลสงกรานต์ ที่ชาวบ้านยึดถือปฏิบัติมาทุกปี เป็นการสร้างความสามัคคีในชุมชน และการสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ ก็ยังมีกิจกรรมที่ชาวบ้านได้ทำร่วมกัน คือ การเปิดซุ้มนิทรรศการขนมไทย ขนมพื้นบ้านหลากหลายชนิดที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมแรงร่วมใจ และลงมือช่วยกันจัดทำขึ้น พร้อมทั้งให้บริการประทานฟรีตลอดงาน ไม่ว่าจะเป็น ขนมจาก ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมเจาะหู ขนมขี้มอด
ซึ่งภายในงานยังมีกิจกรรมการแสดงพื้นบ้านที่มีการนำมาแสดงให้ประชาชน และคนรุ่นหลังได้ดู เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ไว้ ก็จะมีการแสดงลิเกฮูรู การแสดงมโนราห์ของกลุ่มเยาวชน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปรองดองของทั้ง 2 ศาสนาร่วมกัน มีสมานฉันท์ที่ดีต่อกันทางสังคม โดยใช้มิติทางวัฒนธรรม และประเพณีพื้นบ้าน
โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา องค์การบริหารส่วนตำบลยุโป ต.ตาเซะ และเทศบาลนครยะลา พร้อมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ทั้งไทยพุทธและมุสลิม ที่ร่วมกิจกรรมเพื่อสืบสานประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่สืบทอดต่อไป