xs
xsm
sm
md
lg

สืบทอดกันมากว่า 400 ปี! ประเพณี “แห่ต้นดอกไม้” ที่บ้านแสงภานาแห้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เลย - ตระการตา! ขบวนแห่ต้นดอกไม้ใหญ่ที่สุดในโลกที่บ้านแสงภา อ.นาแห้ว ประเพณีเก่าแก่สืบทอดกันมานานกว่า 400 ปีเพื่อบูชาพระรัตนไตรในเทศกาลสงกรานต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อหัวค่ำคืนที่ผ่านมา ที่วัดศรีโพธิ์ชัย ต.แสงภา อ.นาแห้ว อบต.แสงภา องค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย ได้ร่วมกันจัดงานประเพณีแห่ต้นดอกไม้ ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกปี

นายสมบัติ ชิดทิด กำนันตำบลแสงภา และประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอนาแห้ว บอกว่า การแห่ต้นดอกไม้เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานถึง 400 ปี เริ่มแห่ในวันสรงน้ำพระพุทธรูป ระหว่างเดือนเมษายน จะแห่ตอนกลางคืน เริ่มแห่ตั้งแต่วันที่ 14-15-16 เมษายนของทุกปี และจะมีการแห่ต้นดอกไม้ทุกคืนวันพระตลอดเดือนเมษายน โดยแห่รอบพระอุโบสถให้ครบสามรอบ เพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

เมื่อแห่ครบสามรอบแล้วต้องวางต้นดอกไม้ทุกต้นไว้รอบพระอุโบสถ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยตลอดทั้งคืน รุ่งเช้าชาวบ้านจะช่วยกันนำต้นดอกไม้ออกจากวัด

ซึ่งการแห่ต้นดอกไม้นั้นผู้หามต้องโยกประกอบจังหวะให้ต้นดอกไม้หมุนซ้าย ขวา ตามจังหวะเสียงกลอง ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ ที่บรรเลงประกอบ และภายในต้นดอกไม้จะต้องติดเทียนไข และจุดไฟเพื่อให้เกิดแสงสว่างทุกต้น โดยต้นดอกไม้ของตำบลแสงภาจะมีลักษณะเด่นกว่าทุกวัดคือมีขนาดใหญ่และสูง มีความกว้าง 3 เมตร สูง 15 เมตร และต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว ทำจากไม้ไผ่มาผูกเป็นโครง อุปกรณ์ที่ใช้ยึดจะมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น

ส่วนผู้หญิงจะทำหน้าที่หาดอกไม้มามัดรวมเป็นช่อๆ เพื่อการตกแต่ง ถือเป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความศรัทธา และความสามัคคีของชาวชุมชน ในระหว่างนี้ชาวบ้านจะมีการสาดน้ำเล่นสงกรานต์กันไปด้วยเป็นที่สนุกสนานของทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กๆ คนหนุ่มสาว ผู้หลักผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ผู้อาวุโสของหมู่บ้าน

“เป็นภาพที่งดงามที่เกิดขึ้นจากความร่วมแรงรวมใจกันเพื่องานประเพณีอันดีงาม พอถึงตอนเย็นก็จะนำต้นดอกไม้มาตั้งไว้ข้างๆ โบสถ์ที่วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภาให้ชาวบ้านและผู้ศรัทธาจุดเทียนประดับบริเวณคาน การจุดเทียนที่คานต้นดอกไม้มีความเชื่อว่าจะช่วยให้ประสบความสำเร็จสมปรารถนาในสิ่งที่ทำ”

เมื่อได้เวลาชายหนุ่มของแต่ละหมู่บ้านก็จะช่วยกันยกต้นดอกไม้ขึ้นแห่วนรอบพระอุโบสถให้ครบ 3 รอบ แต่เดิมจะใช้เสียงกลองและฉิ่งฉาบ ปัจจุบันได้มีการประยุกต์นำเอาเครื่องเสียงสมัยใหม่มาใช้ร่วมด้วยเพื่อสร้างความสนุกสนานในการแห่ โดยต้นดอกไม้ 1 ต้นจะต้องใช้ผู้แห่ประมาณ 4 คนเป็นอย่างน้อย ซึ่งถ้าบ้านไหนทำต้นดอกไม้ใหญ่มากก็ต้องใช้คนแห่มากตามไปด้วย

ในแต่ละก้าวเดินของผู้แห่จะทำให้ต้นดอกไม้แกว่งหมุนไปมาพลิ้วไหวดั่งต้นไม้ที่ถูกลมพัด สร้างความตื่นตาให้แก่ขบวนแห่ได้ไม่น้อย




กำลังโหลดความคิดเห็น