xs
xsm
sm
md
lg

แล้งจัด! กระทบเงาะโรงเรียนบ้านนาสาร คาดผลผลิตลดกว่า 40%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - สถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดสุราษฎร์ธานีขยายเป็นวงกว้าง หลังฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 4 เดือน ล่าสุด ส่งผลกระทบต่อผลผลิตเงาะโรงเรียนบ้านนาสารแล้ว ด้านเกษตรอำเภอระบุผลผลิตหายกว่า 40% ในขณะที่นายอำเภอเร่งนำเครื่องจักรกลขุดหาน้ำใต้ดินช่วยเหลือเกษตรกร ด้านผู้นำชุมชนระบุภัยแล้งรุนแรงในรอบกว่า 50 ปี

สถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขยายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะที่อำเภอบ้านนาสาร คลองลำพูน ที่มีความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร บางจุดแห้งสนิท ส่งผลกระทบให้ประชาชนที่อาศัยน้ำในลำคลองเป็นน้ำอุปโภคบริโภคได้รับความเดือดร้อนหนัก นอกจากนั้น พืชผลทางการเกษตรได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน โดยเฉพาะเงาะโรงเรียนบ้านนาสาร ที่เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของทางจังหวัดที่กำลังออกดอกติดผล ได้รับผลกระทบหนัก ต้นเงาะ และต้นมังคุดของเกษตรกรบางรายขาดน้ำต้องยืนต้นแห้งเฉาตายไปแล้วกว่า 10 ไร่

นายอำนวย รักชาติ กำนันตำบลควนสุบรรณ กล่าวว่า ภัยแล้งปีนี้รุนแรงในรอบกว่า 50 ปี น้ำในคลองลำพูน ที่มีต้นน้ำมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และรับน้ำจากน้ำตกดาดฟ้า เขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น แห้งสนิท เกษตรกร และชาวบ้านในพื้นที่รับผลกระทบหนัก บางรายที่เป็นหนี้สินนอกระบบไม่มีเงินส่งก็ต้องหลบหนีออกจากพื้นที่

ด้าน นายถาวร พรหมฉิม นายอำเภอบ้านนาสาร กล่าวว่า พื้นที่อำเภอบ้านนาสารได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง น้ำในลำคลองบางจุดได้แห้งลง แต่ก็โชคดีได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการ 5 ล้านบาท สามารถขุดลอกได้ 17 จุด แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากอำเภอบ้านนาสาร มีพื้นที่สวนยางพาราประมาณ 187,000 ไร่เศษ และมีพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันประมาณ 20,000 ไร่ และที่สำคัญอำเภอบ้านนาสาร เป็นเมืองผลิตไม้ผล เช่น เงาะโรงเรียน ทุเรียน มังคุด ส้ม และสละ ประมาณ 31,223 ไร่ จากข้อมมูลสำรวจทางทางเกษตรอำเภอบ้านนาสาร รายงานว่า หากฝนทิ้งช่วงต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน จะมีพื้นที่ปลูกผลไม้ได้รับกระทบจากภัยแล้งในครั้งนี้ จำนวน 690 ไร่ โดยเฉพาะผลผลิตเงาะโรงเรียน ในฤดูกาลนี้ผลผลิตจะหายไปจากตลาดประมาณร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 40 ซึ่งทางราช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนได้พยายามช่วยเหลือ

โดยในวันนี้ ทางเอกชนได้นำรถแบ็กโฮมาช่วยดำเนินทำการขุดลอกลำคลองลำพูน เพื่อหาน้ำที่อยู่ใต้ดินมาช่วยเหลือเกษตรกรในการนำไปรดต้นไม้ แต่หากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องต่อไปอีก 15-30 วัน น้ำที่อยู่ใต้ก็จะแห้งเหือด ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อไปอีก
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น