xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อผลกระทบน้ำเสียโรงงานผลิตยางฯ เมืองตรังเดือดร้อนหนัก ยังไร้หน่วยงานเหลียวแล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ร้องสื่อ! เหยื่อผลกระทบน้ำเสียโรงงานผลิตยางฯ ใน ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง เดือดร้อนหนัก ยังไร้หน่วยงานเหลียวแล วอนผู้เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว

หลังจากที่บ่อบำบัดน้ำเสียของบริษัท กว๋างเขิ่น รับเบอร์ (ตรัง) จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง แตกชำรุด ทำให้น้ำเสียไหลลงสู่คลองสาธารณะ ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 300 ครัวเรือนในพื้นที่ 3 ตำบล 3 อำเภอ ประกอบด้วย ต.นาโต๊ะหมิง อ.เมือง ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา และ ต.โคกยาง อ.กันตัง จ.ตรัง เดือดร้อนอย่างหนัก สัตว์น้ำสูญพันธุ์ ลำคลองส่งกลิ่นเหม็น และมีชาวบ้านเจ็บป่วย

โดยชาวบ้านได้มีการรวมกลุ่มกันเรียกร้อง และยื่นหนังสือถึงหลายหน่วยงานเพื่อขอให้มีการเยียวยาช่วยเหลือ และให้โรงงานฯ แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นับเป็นเวลากว่า 4 เดือน ที่ชาวบ้านต้องดิ้นรนต่อสู้เพียงลำพัง แต่เรื่องก็กลับเงียบหาย ไม่มีหน่วยงานใดเหลียวแล
 

 
ล่าสุด วันนี้ (21 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวพร้อมกับกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกัน และเรียกตัวเองว่า “กลุ่มคนรักษ์สายน้ำ ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง” ซึ่งมีแกนนำอยู่ประมาณ 20 คน และมี 5 ตัวแทนแกนนำ ประกอบด้วย นายสาโรจน์ ขำณรงค์ ด.ต.สุริยา จิประจง นายสุบินมาลย์ ชูบุญส่ง นายสมปอง ช่วยธานี และนายชาญณรงค์ ไกรเทพ ได้เดินทางลงตรวจสอบพื้นที่ปัญหาที่บ้านทุ่งทวย ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง อีกครั้ง พบสายคลองอ่างทอง ต.นาเมืองเพชร ซึ่งอยู่ใกล้เคียงที่ตั้งโรงงานฯ เดิมเคยอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์น้ำชุกชุม และเป็นที่อาศัยทำกินของชาวบ้าน บางจุดตื้นเขิน ถูกทับถมด้วยดินที่มองด้วยตาเปล่าคล้ายมีความพยายามจะปกปิดกลบเกลื่อนสภาพพื้นคลองที่มีปัญหา และส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง

นายสาโรจน์ ขำรณงค์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนรักษ์สายน้ำฯ กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อลำคลองอ่างทอง และคลองสายเขาสว่าง ลงสู่แม่น้ำตรัง รวมเป็นระยะทางประมาณ 20-30 กิโลเมตร ช่วงหน้าแล้งทุกปีชาวบ้านที่หยุดกรีดยางก็อาศัยสายคลองแห่งนี้เป็นแหล่งอาหาร จับสัตว์น้ำประทังชีวิต และเป็นเช่นนี้มานับร้อยๆ ปี แต่ที่น่าเสียดาย และเสียใจที่เมื่อ 4 เดือนก่อนหน้านี้ บ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานฯ ที่ตั้งอยู่ในชุมชนเกิดชำรุดน้ำเสียหลายหมื่นลูกบาศก์ลิตร ทะลักลงลำคลองที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ทำให้ปลาหลากชนิด รวมถึงสัตว์น้ำลอยตายเป็นเบือนับ 100 ตัน และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีวีแววว่าลำคลองจะฟื้นคืนสภาพเป็นเหมือนเดิม น้ำยังคงเสีย มีสารเคมีปะปน และส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรงตลอดเวลา
 

 
ด้าน นายสมปอง ช่วยธานี แกนนำกล่าวเพิ่มว่า ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านได้มีการเรียกร้อง และส่งหนังสือไปถึงหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเรื่องก็กลับเงียบหาย มีข่าวลือว่า โรงงานฯ ได้มีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่สภาสิ่งแวดล้อมฯ โดยผ่านเทศบาลตำบลนาเมืองเพชร แล้ว จำนวน 1 ล้านกว่าบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่เล็กน้อยมากหากเทียบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาชี้แจง หรือแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่า จะมีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมจริงจังอย่างไร

อีกทั้งลูกของตนคือ ด.ญ.น้ำหนึ่ง ช่วยธานี อายุ 5 ขวบ ก็ตกเป็นเหยื่อได้รับผลกระทบจากอากาศเป็นพิษ ทำให้เป็นโรคหอบหืดทางเดินหายใจ ตนและภรรยาต้องนำตัวไปพบแพทย์เพื่อพ่นยาทุกอาทิตย์ โดยแพทย์วินิจฉัยว่า ในปอดมีการปนเปื้อนของสารเคมีแอมโมเนีย และมีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 7 ราย เป็นเด็ก 4 ราย และผู้สูงอายุ 3 ราย โดยทั้งหมดเคยมีการเรียกร้องขอชดเชยค่าเสียหายคนละ 100,000 บาท และมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกับโรงงาน จึงยอมจ่ายที่คนละ 3,000 บาท ทั้งนี้ พวกตนเดือดร้อนอย่างหนัก จึงได้วอนขอให้สื่อมวลชนช่วยแจ้งไปยังหน่วยงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหานี้โดยเร็วที่สุดด้วย
 

 
ขณะที่ นายเสถียร แก้วงาม นายกเทศบาลตำบลนาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทางอำเภอได้มีการตั้งคณะกรรมขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการแก้ไขไป 4 เรื่องหลักๆ แล้ว คือ 1.การล้างลำคลองโดยการดึงน้ำจากขุมน้ำเหมือง ปัญหาเรื่องกลิ่นก็หมดไป 2.การจ่ายเงินเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สายน้ำ โดยโรงงานจ่ายเฉลี่ยตามความเดือนร้อนมากน้อยไม่เท่ากันอยู่ที่ 2,000-80,000 บาทต่อราย 3.ทางโรงงานฯ ได้มีการจ่ายเงิน จำนวน 1.5 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ต.นาเมืองเพชร แล้ว เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ และ 4.คณะกรรมการฯ ได้มีการกำหนดให้โรงงานปรับปรุงระบบบ่อบำบัดน้ำเสียให้ตรงตามแบบที่ขออนุญาตจัดตั้งโรงงานจากอุตสาหกรรม ซึ่งทางโรงงานก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย โดยคณะกรรมได้มีการเข้าไปตรวจสอบแล้วช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องฯ อยู่ขณะนี้เป็นกลุ่มที่มาทีหลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาไปแล้ว และบางรายมีการเรียกร้องให้ชดเชยในอัตราที่สูงเกินไป ซึ่งตนก็ลำบากใจที่จะช่วยเจรจากับโรงงาน ทั้งนี้ หากยังมีชาวบ้านเดือดร้อน หรือได้รับผลกระทบตกค้างก็ขอให้ไปเจรจากับโรงงานด้วยตนเอง โดยทางเทศบาลฯ และคณะกรรมการจะช่วยเป็นที่ปรึกษาให้ต่อไป
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น