xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ดี” บนผนังตึกชาร์เตอร์ด ชี้ชะตาศุกร์นี้ ศิลปินเดินหน้าวาดต่อให้ครบ 12 รูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ศุกร์ 22 เม.ย.นี้ นัดชี้ชะตา “น้องมาร์ดี” เด็กน้อยสามตาหน้าบึ้ง สองตัว บนผนังตึกเก่าธนาคาร ชาร์เตอร์ด ขณะที่กระแสต่อต้านในโลกโซเชียลเริ่มลด ส่วนการสร้างสรรค์ผลงาน Street Art จากศิลปินชั้นนำของไทยบนผนังอาคารในเขตเมืองเก่าภูเก็ต ภายใต้โครงการ F.A.T.Phuket (Food Art Old Town) 12 ผนัง 12 ภาพ 12 วิถีชาวภูเก็ต ศิลปินยังเดินหน้าวาดต่อ

จากกรณีมีการวาดภาพ “น้องมาร์ดี” เด็กน้อยสามตาหน้าบึ้ง สองตัว ที่ผนังตึกธนาคารชาร์เตอร์ด หรือพิพิธภัณฑ์บาบ๋า ภูเก็ต โดยฝีมือของ Alex Face หรือพัชรพล แตงรื่น เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางบนโลกโซเชียล ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย จนเป็นที่มาของการลาออกของนายแพทย์โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากัน เพื่อรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น เนื่องจากคนในสมาคมฯ ไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน

อย่างไรก็ตาม หลังมีกระแสต่างๆ เกิดขึ้นจำนวนมากมาก ทางกลุ่ม So Phuket รวมทั้งเทศบาลนครภูเก็ต อดีตนายกสมาคมเพอรานากัน ก็ได้จับมือกันออกมาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา ถึงการดำเนินโครงการดังกล่าวว่า เป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยกลุ่ม So Phuket ภายใต้โครงการ F.A.T.Phuket : Food Art Old Town เพื่อสนับสนุนที่ยูเนสโก ประกาศให้ภูเก็ตเป็น City of Gastronomy รวมทั้งทิศทางการดำเนินการต่อภาพน้องมาร์ดี ว่า จะเดินหน้าอย่างไร โดยในการแถลงข่าวครั้งนั้นมีมติออกมาว่า จะมีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 22 เม.ย.นี้ ที่ห้องประชุมเทศบาลนครภูเก็ต เวลา 10.00 น. ซึ่งจะเป็นการชี้ชะตาภาพน้องมาร์ดี บนฝาผนังตึกเก่าธนาคารชาร์เตอร์ดต่อไป

ขณะที่กระแสในโลกโซเชียลในระยะหลังพบว่า กระแสการต่อต้าน หรือไม่เห็นด้วยเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ความไม่เห็นด้วยถึงการวาดภาพบนผนังตึกที่ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่แรงเหมือนช่วงแรกๆ ขณะที่ประชาชน และนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย และชาวต่างชาติยังคงเดินทางไปถ่ายภาพน้องมาร์ดีที่ตึกธนาคารชาร์เตอร์ดอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นสถานที่ที่จะต้องไปเซลฟี่กันอีกแห่งหนึ่งของย่านเมืองเก่าภูเก็ต

ส่วนการดำเนินโครงการ F.A.T.Phuket : Food Art Old Town 12 ผนัง 12 ภาพ 12 วิถีชาวภูเก็ต เพื่อสนับสนุนที่ยูเนสโก ประกาศให้ภูเก็ตเป็น City of Gastronomy ไม่ได้หยุดชะงักแต่อย่างใด ทางโครงการยังเดินหน้าดำเนินการต่อด้วยการวาดภาพตามจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ เช่น ภาพ “น้องมาร์ดี” เด็กน้อยสามตาหน้าบึ้ง ผลงานของ Alex Face ที่วาดไว้ เป็นภาพมุมสูงบนผนังอาคารบริเวณปากซอยรมณีย์ (ซอยห่างอ่าหล่าย) ถนนถลาง ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจน ภาพดังกล่าวเป็นภาพน้องมาร์ดี ที่กลายเป็นขนมเต่าสีแดง เครื่องหมายแห่งการมีอายุยืน และสัญลักษณ์สำคัญของเทศกาลพ้อต่อ

นอกจากนั้น ที่บนผนังตึกบริเวณปากซอยรมณีย์ ยังมีอีกภาพที่วาดเสร็จแล้ว คือ ภาพนกพิราบ ผลงานของ รักกิจ ควรหาเวช เจ้าของเอกลักษณ์งานแบบ geometric ร่วมสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ ซึ่งได้แนวคิดจากขนมของเด็กวัยเรียน 12 อย่าง สะท้อนความสนุกสนาน และสีสันต่อความทรงจำในวัยซุกซน

นอกจากนั้น ยังมีอีก 1 ภาพ ที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการโดย Alex Face ศิลปินชื่อดัง คือ ภาพน้องมาร์ดี เด็กน้อยสามตาหน้าบึ้งสวมใส่ชุดย่าหยา เข็นรถเข็น ซึ่งบนรถเข็นมีเข่งใส่เงินจนเต็ม โดยภาพดังกล่าวถูกวาดไว้ที่บริเวณผนังตึกเก่าๆ ทางออกจากตลาดดาวน์ทาวน์ ซึ่งภาพนี้สื่อให้เห็นถึงรถเข็น แผงลอย อาหารอร่อยหลายเมนู สะท้อนความเป็นอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันที่เรียบง่าย และอร่อยล้ำ ปรากฏว่า ภาพวาดต่างๆ ทั้ง 4 จุด ยังเป็นที่สนใจของประชาชน และนักท่องเที่ยว รวมทั้งช่างภาพอิสระที่เดินทางมาถ่ายภาพกันอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามนักท่องเที่ยว และชาวจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มาถ่ายรูปกับภาพต่างๆ ที่วาดไว้ ต่างก็กล่าวว่า ภาพที่วาดขึ้นมานั้นถือว่าเป็นการสร้างสรสันให้แก่เมืองเก่าภูเก็ตอีกทางหนึ่ง แม้ว่าบางภาพจะไม่เข้าใจความหมายของภาพที่วาดก็ตาม ซึ่งพวกตนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีการคัดค้านภาพวาดบนผนังตึกชาร์เตอร์ด

สำหรับรายละเอียดของภาพวาดตามโครงการ F.A.T.Phuket (Food Art Old Town) 12 ผนัง 12 ภาพ 12 วิถีชาวภูเก็ต ประกอบด้วย 1.วิวาห์บาบ๋า งานมงคลที่มีอาหารคาวหวานหลากหลายแทนคำอวยพร 2.อาหารเช้าภูเก็ต เบ้าหลอมทางวัฒนธรรมผ่านรสชาติของอาหารจากเสี่ยวโบ่ยแบบจีน จนถึงขนมจีนแบบไทย และโรตีแกงแบบมุสลิมที่ทุกคนต้องตื่นเช้ามาชิม 3.กาแฟยามบ่ายกับวัฒนธรรม “กินโก้ปี้” ที่สื่อถึงความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของเพื่อนฝูงผ่านขนมคาวหวาน และชากาแฟถ้วยโปรด 4.การคลอดลูก กับการมอบเอี๋ยวปึ่ง ไข่ต้มย้อมสีแดง และขนมอังกู๊สีแดงสด ใส่เซี่ยนหนา เดินแจกจ่ายตามบ้านแสดงความขอบคุณญาติพี่น้องในวาระต้อนรับสมาชิกใหม่ในบ้าน 5.ขนมเด็กวัยเรียน สะท้อนความสนุกสนาน และสีสันกับความทรงจำในวัยซุกซน

6.พ้อต่อ ขนมเต่าสีแดง เครื่องหมายแห่งการมีอายุยืน และสัญลักษณ์สำคัญของเทศกาล 7.ตรุษจีน การก้าวย่างสู่ปีใหม่ ร่วมเฉลิมฉลอง และพบปะญาติพี่น้อง แจกอั่งเปาลูกหลาน นับเป็นเทศกาลที่เรียงร้อยอาหารกับวิถีชีวิตที่ชัดเจนมากที่สุด 8.กินผักงานบุญที่โด่งดังไปทั่วโลก กับอาหารบริสุทธิ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และดีต่อสุขภาพ 9.ไหว้เทวดาด้วยผลไม้ และขนมหวาน บนความตระการตาของสีสันกับการคารวะรู้คุณเทวดาที่อำนวยพรให้ก้าวเข้ามาสู่ปีใหม่ที่สดใส 10.รถเข็น แผงลอย อาหารอร่อยหลายเมนู สะท้อนความเป็นอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันที่เรียบง่าย และอร่อยล้ำ 11.ครัวในบ้าน รสชาติจากมือแม่ที่คุ้นลิ้น กับสูตรเฉพาะบ้านที่อร่อยมาแต่เกิด และ 12.ปิกนิกริมเล และงานเดินเต่า อาหารวันหยุดของคนภูเก็ตกับการพักผ่อนในอดีตที่ทำอาหารมาอร่อยริมทะเลกันพร้อมหน้าพร้อมตา
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น