ชุมพร - หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงตรวจสอบพื้นที่เตรียมก่อสร้างโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน หลังชาวบ้านทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ หวั่นเกิดมลพิษกระทบแหล่งต้นน้ำ และโครงการพระราชดำริ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (19 เม.ย.) ที่ห้องประชุม อบต.นากระตาม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร นายนักรบ ณ ถลาง นายอำเภอท่าแซะ นายประทีป แสงจันทร์ นายก อบต.นากระตาม นายวสันต์ ศาลติธรรม อุตสาหกรรม จ.ชุมพร นายขจรศักดิ์ ละอองเทพ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) ชุมพร น.ส.อวยพร ชิตดุษฎี ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม ทสจ.ชุมพร พ.ท.ณรรคพล เขียนเค้ามูล ผบ.หน่วยฝึก นศท.มทบ.44 ชุมพร นายศักดา ทองรวง กรรมการผู้จัดการบริษัท สมอทองปาล์ม 3 จำกัด เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.ชุมพร และแกนนำชาวบ้านที่คัดค้านการก่อสร้างโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วย นายเกรียงไกร จันทศรี นายคงศักดิ์ นวลลำภู นายปรารภ ทองภูเบศร์ นางประยูร ช่วยดำรงค์ ได้ร่วมประชุมถึงกรณีปัญหาที่ชาวบ้านร้องเรียนถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่ และส่วนกลาง และได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือกรณีที่บริษัท สมอทองปาล์ม 3 จำกัด เข้ามากว้านซื้อที่ดินกว่า 200 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ในพื้นที่หมู่ 10 ตำบลนากระตาม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร และได้ขออนุญาตก่อสร้างโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ซึ่งอยู่ระหว่างการทำประชาคมชาวบ้าน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แต่ได้ถูกชาวบ้านคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค และทำการเกษตรร่วมกันในหลายตำบลของ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าแซะ อ.ปะทิว และ อ.เมืองชุมพร
หลังจากมีการประชุมร่วมกันแล้ว ทั้งหมดได้เดินทางลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ก่อสร้างโรงงานดังกล่าว โดยมีชาวบ้านที่คัดค้านมารอให้ข้อมูลกว่า 100 คน โดยแกนนำ และชาวบ้านได้นำเจ้าหน้าที่หน่วยงานเกี่ยวข้องเดินดูพื้นที่รอบๆ บริเวณที่จะก่อสร้างโรงงาน ซึ่งมีแหล่งต้นน้ำอยู่ 3 สาย ได้แก่ คลองห้วยหลุง คลองกรูด คลองกรอแห้ง และฝายน้ำล้น ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ชาวบ้านใช้ร่วมกันมานาน โดยหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่จริงทั้งหมดเพื่อนำไปสรุป และหาข้อยุติกรณีปัญหาดังกล่าวต่อไป
นายศักดา ทองรวง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมอทองปาล์ม 3 จำกัด กล่าวว่า ตนพร้อมรับฟังข้อกังวลของชาวบ้านตามที่ร้องเรียน และยินดีที่จะทำตาม ซึ่งที่ผ่านมา ได้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ และพร้อมที่จะให้มีไตรภาคีเข้าตรวจสอบทุกขั้นตอนให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เพียงแต่ต้องรับฟังเหตุและผลซึ่งกันและกัน ตนมีโรงงานปาล์มน้ำมันอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ก็ได้รับรางวัลโรงงานดีเด่น 2 ปีซ้อน และที่ผ่านมา ได้ไปซื้อโรงงานเก่าที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถูกชาวบ้านร้องเรียนเรื่องมลพิษ และถูกอุตสาหกรรมจังหวัดสั่งปิด แล้วนำมาปรับปรุงสร้างใหม่จนได้มาตรฐานเปิดทำกิจการอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งสามารถอยู่ร่วมกันได้ดีกับชุมชนไม่มีต่อด้านคัดค้าน หรือร้องเรียนแต่อย่างใด
ด้าน นายคงศักดิ์ นวลลำภู หนึ่งในแกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า พวกเราได้คัดค้านมาตั้งแต่นายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อจะสร้างโรงงานในพื้นที่หมู่ 10 ตำบลนากระตาม อ.ท่าแซะ แล้ว เพราะอยู่เขตติดต่อกับตำบลสะพลี อ.ปะทิว ซึ่งมีคลองหลุง อยู่ทางทิศตะวันออก ติดกับของที่ตั้งโรงงานกั้นเขตแดน ส่วนทิศตะวันตกของโรงงาน จะมีคลองกกรอแห้ง และฝายน้ำล้น ซึ่งคลองทั้ง 2 สายจะไหลไปรวมกับคลองกรูด ที่อยู่ทางทิศใต้ของพื้นที่ก่อสร้างโรงงาน ห่างออกทางตอนใต้ประมาณ 10 กม. จะเป็นตำบลนาชะอัง อ.เมืองชุมพร และโครงการพระราชดำริแก้มลิงหนองใหญ่ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อสร้างแก้ปัญหาน้ำท่วมให้พสกนิกรในตัวเมืองชุมพร ปัจจุบัน เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.ชุมพร ซึ่งน้ำจากคลองกรูด ไหลลงไปสู่โครงการพระราชดำริดังกล่าวด้วย หากมีการก่อสร้างโรงงานผลกระทบจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เรื่องดังกล่าวชาวบ้านจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ อีกทั้งปัจจุบันโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันใน จ.ชุมพร มีทั้งโรงงานขนาดใหญ่ และโรงงานขนาดเล็กมากถึง 41 โรงงาน ควรจะพอได้แล้ว เพราะผลผลิตปาล์มได้ขึ้นกับโรงงานมีจำนวนมากหรือน้อย แต่ขึ้นอยู่กับกลไกทางตลาด ส่วนมลพิษย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งชาวบ้านจะคัดค้านจนถึงที่สุด