xs
xsm
sm
md
lg

“โอฬาร กุลวิจิตร” ยันเลื่อนเลือกตั้ง “สภาทนายฯ” ไม่กระทบการช่วยทำคดีประชาชน-เหยื่อไฟใต้ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โอฬาร กุลวิจิตร กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 9
 
คสช.เพิ่งมีคำสั่งให้เลื่อนการเลือกตั้งคณะผู้บริหาร “สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์” ชุดที่กำลังจะหมดวาระ 30 เม.ย.2559 นี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างว่า เพื่อความสงบเรียบร้อยในช่วงเวลาที่บ้านเมืองยังอยู่ในภาวะไม่ปกติ ส่งผลให้เกิดความวิตกตามมาว่า จะกระทบต่อความช่วยเหลือประชาชนในการเข้าสู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วยหรือไม่
 
โดยเฉพาะกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ “ไฟใต้” ยังไม่หยุดโชนเปลว เนื่องเพราะองค์กรนี้มี “ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนใต้” รวมถึงเครือข่ายในระดับจังหวัด อันถือเป็น 1 ในกลไกสำคัญที่ผู้คนจำนวนมากมายที่ต้องตกเป็น “เหยื่อ” สถานการณ์ความรุนแรงจะโดยตั้งใจ หรือไม่ก็ตาม ต่างเคยได้พึ่งพาอาศัยต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมมาแล้ว
 
เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ MGR Online ภาคใต้” จึงได้จับเข่าพูดคุยกับ “โอฬาร กุลวิจิตร” กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 9 ผู้ที่ยังนั่งเป็นประธานศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนใต้อีกด้วย
 
----------------------------------------------
 
 
   

 
MGR Online ภาคใต้”  :  วันนี้ “MGR Online ภาคใต้” คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษจะมานั่งพูดคุยแบบจับเขาคุยกับกรรมการบริหารสภาทนายความภาค 9 คุณโอฬาร กุลวิจิตร วันนี้เราคงจะคุยกันในหลายแง่มุม ทั้งเรื่องของการช่วยเหลือสังคม ภารกิจของสภาทนายความภาค 9 รวมถึงสถานการณ์บ้านเมือง อยากให้พูดถึงภารกิจของสภาทนายความภาค 9 หรือว่าภาพรวมของสภาทนายความเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร แล้วก็ทำอะไรบ้าง
 
“โอฬาร กุลวิจิตร”  :  สภาทนายความภาค 9 เป็นส่วนหนึ่งของ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาทนายความเป็นองค์เอกชนที่เป็นวิชาชีพของนักกฎหมาย ที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชนในทางกฎหมาย ซึ่งโดยปกติแล้วทุกคนจะทราบว่า ทนายความคือใคร มีอาชีพอะไร ทำงานเกี่ยวกับกฎหมายอย่างไร
 
แต่ในแง่ของสภาทนายความ นอกจากเราจะเป็นวิชาชีพที่รับว่าความโดยทั่วไป มีค่าใช่จ่าย แต่สภาทนายความยังมีวัตถุประสงค์ในการที่จะช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมาย สำหรับผู้ที่ยากไร้ และไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมก็เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารสภาทนายความภาค ซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาเมื่อปี 2556 ซึ่งจะครบวาระในปี 2559 นี้ ในวันที่ 30 เม.ย.นี้
 
: แต่ทราบว่าตอนนี้การเลือกตั้งยังคงเลื่อนไปใช่ไหม
 
ครับ ก่อนที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งของนายกฯ และกรรมการสภาทนายความได้ประกาศให้มีการลงรับสมัครการเลือกตั้ง ก็ได้มีหนังสื่อสอบถามไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า เราจะเลือกตั้งได้หรือไม่ เพราะว่าในการเลือกตั้งของเราจะต้องมีการเลือกตั้งตามเขตอำนาจของศาลทั่วประเทศ ก็ประมาณ 100 กว่าศาล ก็จะมีหน่วยเลือกตั้ง 100 กว่าหน่อยเลือกตั้ง และมีทนายความทั้งหมดที่มีรายชื่ออยู่ 81,600 กว่าคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก ทางผู้อำนวยการการเลือกตั้งก็เกรงว่า หากจัดให้มีการเลือกตั้งดังกล่าวจะไปขัดต่อคำสั่งของ คสช. จึงได้มีการส่งหนังสือดังกล่าวไป
 
โดยทางด้าน คสช.ก็ได้ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 16 มี.ค.นี้ว่า คำสั่งของ คสช.ดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ให้ใช้กับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย และเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประเทศ ให้ชะลอการเลือกตั้งไปก่อนตามสั่งดังกล่าว และคณะกรรมการ หรือนายกฯ ที่หมดวาระก็ให้รักษาการไปก่อน จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น ตอนนี้ก็เลยยังชะลอกันอยู่ ยังไม่แน่ชัดว่าคำสั่งทางผู้อำนวยการการเลือกตั้งจะออกมาในลักษณะยังไง แต่สำหรับทางผมกับที่ทีมผู้สมัครอื่นๆ ก็ได้รับคำสั่งแจ้งว่า คสช.มีคำสั่งให้ชะลอไปแล้ว
 
: แต่ในฐานะที่เราเป็นกรรมการบริหารสภาทนายความภาค 9 ก็ยังคงต้องทำหน้าที่ต่อเนื่องอยู่
 
ใช่ครับ ก็จริงๆ แล้วทางภาค 9 เป็นส่วนหนึ่งของสภาทนายความ โดยสภาทนายความมีนายกฯ เป็นผู้บริหาร และก็กรรมการส่วนกลาง 14 คน และมีกรรมการภาค 1-9 อีกจำนวน 9 คน ตัวผมก็อยู่ภาค 9 ซึ่งดูแลตั้งแต่จังหวังตรัง พัทลุง สงขลา สตูล นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และอีก 2 ศาล คือ ศาลนาทวี และศาลเบตง
 
: แต่ละจังหวัดก็จะมีโครงสร้างของสภาทนายความในระดับจังหวัดก็มีด้วย
 
ครับ ในของผมนี้มาจากการเลือกตั้ง ถ้าเป็นผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด เขาก็จะมีผู้บริหารประจำจังหวัด ที่เรียกว่า ประธานสภาทนายความประจำจังหวัด เขาก็จะมาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน มีประธานจังหวัด กรรมการรวมอีก 12 คน ซึ่งของแต่ละจังหวัดก็จะบริหารในส่วนงานของจังหวัด ก็คือไม่ว่าจะในเรื่องของสวัสดิการทนายความในจังหวัด เรื่องการจัดสัมมนาการอบรมในเรื่องเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ซึ่งทางนโยบายจากส่วนกลางก็จะมอบให้ส่วนจังหวัดที่จะเป็นคนดู และบริหารงานดังกล่าวตามวัตถุประสงค์
 
: หลักๆ เราพูดอย่างนี้ได้ไหมครับว่า หนึ่งสภาทนายความมีหน้าที่ให้ความรู้ สองมีหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องของกฎหมาย
 
ครับ หน้าที่หลักจริงๆ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้บอกว่า ในกรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และยากไร้ในคดีอุกฉกรรจ์ต่างๆ จะต้องให้ทยานความเข้ามาช่วยเหลือ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากประชาชนเหล่านั้น ซึ่งในกฎหมายลูกก็รับมาเป็นอย่างนั้น ในกฎหมายของ พ.ร.บ.ทนายความก็มีวัตถุประสงค์แบบเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่ทนายความผู้ที่เป็นกรรมการ หรือทนายความอาสาก็ต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนหลักๆ โดยเฉพาะผู้ที่ยากจน และไม่ได้รับความเป็นธรรม
 
: แล้วเรามีงบประมาณจากทางไหนที่เข้ามาช่วยเหลืออุดหนุนอยู่บ้าง
 
งบประมาณของสภาทนายความมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกรับงบอุดหนุนจากรัฐบาล ในส่วนกลางก็จะไดรับงบประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี รายได้ส่วนที่สองนั้นก็มาจากสภาทนายความเอง ซึ่งได้รับรายได้มาจากการรับสมัครผู้ที่มาสมัครเป็นทนายความ ไปอบรมวิชาว่าความ ซึ่งจะเป็นทนายความก็ต้องมาสมัคร ก็จะเป็นรายได้ส่วนหนึ่ง รายได้จากการเปิดอบรมโรตารี่เซอร์วิส หมายถึงว่า ผู้รับรองการมีชื่อชื่อ ตอนนี้ผู้ที่มาสมัครก็จะเป็นรายได้ของสภาฯ อีกส่วนหนึ่ง และก็จะมีผู้บริจาคนี้ก็จะเป็นรายได้ของสภาฯ
 
: ในส่วนของการช่วยเหลือประชาชน ในฐานะที่เป็นกรรมการภาค 9 ได้ช่วยเหลือประชาชนไปแล้วอย่างไรบ้าง
 
ของผมนี่เหมือนกับถือเป็น ประธานศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนใต้ อีกหนึ่งตำแหน่ง เป็นประธานโดยตำแหน่ง เนื่องจากว่าเป็นกรรมการบริหารสภาจังหวัดภาคใต้ก็จะเป็นประธานศูนย์ยุติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนใต้ด้วยกัน ก็คือ ภาค 9 จะควบคุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย แต่จะแยกเป็นหน่วยงาน แต่การดำเนินการในส่วนนั้นของจังหวัดเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบค่อนข้างจะใช้ทนายความในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ในการดูแลให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน
 
งานหลักๆ ของสภาทนายความที่จะช่วยเหลือนั้น ในเรื่องของคดีอุกฉกรรจ์ คดีที่มีโทษตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป โดยทางพนักงานสอบก็จะแจ้งมายังสภาทนายความประจำจังหวัด ซึ่งเราก็จะมีการตั้งทนายความอาสาให้เข้าไปร่วมรับฟังการสอบสวนของพนักงานสอบสวนด้วย หรือในกรณีเด็กถูกจับในการสอบสวนคดีเด็กนั้นก็ได้เข้าไปดูแลด้วย เพราะเมื่อก่อนเรากลัวกันว่า ทางพนักงานสอบสอนอาจจะบังคับ ขู่เข็ญ ทำร้ายร่างกายให้รับสารภาพ ซึ่งปัจจุบันนี้กฎหมายก็ได้แก้ให้ทนายความเข้าไปช่วยดูแลในตรงนี้
 
: แสดงว่าภารกิจของเราเพิ่มมาก็คือ “ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนใต้” เป็นภารกิจที่เพิ่มพิเศษเข้ามา ภาคอื่นๆ ไม่มีใช่ไหม
 
ไม่มีครับ มีแต่ที่ภาคใต้ โดยศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนใต้นั้น ตั้งเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2548 ซึ่งตอนนั้นได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างที่จะรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการปล้นปืนในปี 2547 และมีการระเบิด มียิง มีการทำร้าย ซึ่งเกิดจากผู้ที่เห็นต่าง ไม่ว่าจะเห็นต่างในเรื่องอุดมการณ์ หรือเรื่องของความคิดเห็นในการรับรู้ข่าวสารต่างๆ ก็จะทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่สงบขึ้นมา
 
เพราะฉะนั้น ท่านอดีตนายกฯ นายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งมี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ และ สภาทนายความ ได้ร่วมกันก่อตั้งศูนย์ยุติธรรมขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนให้ได้เข้าถึงสิทธิเข้าถึงกฎหมาย และให้ความช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ว่าในเรื่องเกี่ยวกับอัตลักษณ์ ไม่ว่าในเรื่องความคิดเห็น ไม่ว่าในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ให้เราเข้าไปช่วยเหลือดูแล
 
คือ ในส่วนหนึ่งรัฐดูแล รัฐจับกุม แต่ของเรานี้เข้าไปดูแลช่วยเหลือว่า 1.ข้อเท็จจริงที่ทางเจ้าหน้าที่รัฐกำลังทำถูกต้องไหม 2.ใช้กฎหมายกันถูกต้องไหม ซึ่งถ้าหากว่าเรามาดูแล้วว่าข้อเท็จจริงไม่ถูกต้อง เราก็อาจจะต้องสู้คดีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อชาวบ้าน
 
: พูดต่อยังนี้ได้ไหม คือ จริงๆ แล้วจังหวัดชายแดนใต้เขาโหยหาในเรื่องของความยุติธรรมกันมาก การที่สภาทนายความมีองค์กรอย่างศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนใต้ จึงถือว่าเป็นการเติมเต็มตรงนั้นด้วย
 
ครับถ้าจะพูดในแง่ของจังหวัดชายแดนใต้ ศูนย์ยุติธรรมฯ ก็น่าจะเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ประชาชน ให้เขามีสิ่งที่ยึดเกาะได้ว่า ถ้าเขาถูกจับแล้วเขาไม่รู้จะไปหาใครที่ไหน ไปจ้างทนายความก็อาจมีค่าใช้จ่ายสูง มาที่ศูนย์เราก็จะได้รับการช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เขาก็เหมือนกับมีที่พึ่งพิง จะได้ไม่ต้องทำผิด สามารถมาปรึกษาทางเราว่า เหตุการณ์ตรงนี้ ทางเจ้าหน้าที่รัฐรังแก เจ้าหน้าที่ไม่ให้ความเป็นธรรม หรือว่าเจ้าหน้าที่เข้าใจผิดก็มาหาทางเรา ทางเราก็จะช่วยดูแลต่อสู้คดี
 
: กรณีที่เด่นๆ ที่เราเข้าไปช่วยประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอะไรบ้าง
 
ผมเพิ่งได้รับการเลือกตั้งมาเป็นสมัยแรก ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งศูนย์ยุติธรรมฯ ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ทนายความซึ่งเป็นประธานศูนย์ชุดก่อนก็ได้ช่วยดูแล รวมทั้งทนายความของศูนย์แต่ละจังหวัดก็ได้ช่วยดูแลในเรื่องของผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรณีกรือเซะ ใน กรณีสะบ้าย้อย หรือใน กรณีตากใบ นอกจากจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากภาครัฐ ฟ้องให้ทางเจ้าหน้าที่ที่กระทำความ หรือมีการกระทำละเมิดความผิด ซึ่งเขาก็ทำเป็นคดี ซึ่งตอนผมเข้าไปคดีก็เสร็จ ซึ่งทางประชาชนก็พอใจในระดับหนึ่ง
 
: ชัดเจนที่สุดคือ กรณีตากใบ ได้เข้าไปช่วยให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมเพิ่มขึ้น
 
ผมยกตัวอย่างบางเรื่อง เช่น ทางรัฐอาจจะเข้าใจผิด อาจจะมีการปะทะกัน หรืออาจจะบุกค้นแล้วมีบ้างคนที่เขาต่อสู้ เกิดการเข้าใจผิด จนมีการยิง การทำร้ายร่างกาย เขาก็จะมาหาเรา ทางเราก็นอกจากจะฟ้องเป็นคดีอาญาว่าเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบแล้ว ยังฟ้องเรียกค่าเสียหายด้วย ซึ่งในระดับหนึ่งที่ทางรัฐได้ให้การช่วยเหลือมา แต่ว่าชาวบ้านบอกว่าน้อย ในบางกรณีก็ต้องเรียกร้องค่าเสียหายไป ซึ่งทางชาวบ้านได้รับมาก่อนที่ผมได้เข้ามา ก็ศึกษาย้อนหลัง ก็เป็นที่พอใจในระดับหนึ่งของชาวบ้านโดยทั่วไป
 
: กรณีตากใบ คือ การชุมนุมของพี่น้องประชาชนที่หน้า สภ.ตากใบ กรณีสะบ้าย้อย ก็คือกรณีเดียวกับกรณีกรือเซะ เหตุการณ์เดียวกัน
 
ครับ ก็คืออาจจะย้อนหลังประวัติสักนิดหนึ่ง ได้รับข่าวมาว่า อาจจะมีผู้ก่อการร้ายบุกเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นอำเภอ โรงพัก เจ้าหน้าที่มีการตั้งรับ บังเอิญอาจจะเป็นกลุ่มของวัยรุ่นจะเข้ามา ซึ่งบางคนอาจจะมีอาวุธ บางคนอาจจะมากับพวกกับเพื่อนสนุกสนาน ทางเจ้าหน้าที่ได้รู้ข่าวแล้ว เขาตั้งรับ บางคนมาก็ไม่มีอาวุธอะไร แต่ว่าเจ้าหน้าที่เขาก็จะล้อมจับ บังเอิญว่าเข้าไปในร้านอาหาร แล้วเขาก็บอกให้มอบตัว มีการยิงเสียชีวิตไป 16 ศพ
 
: คือเรื่องนี้ผมก็ตามอย่างใกล้ชิด ในฐานะของคนที่เฝ้ามองสถานการณ์ อย่างกรณีสะบ้าย้อย นี่ทีมฟุตบอล 1 ทีมเลยของอำเภอสะบ้าย้อย กรณีกรือเซะเหตุการณ์เดียวกัน แต่ว่าจบในช่วงบ่าย เราก็สามารถที่จะทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมเพิ่มขึ้น ได้รับความพอใจ ได้รับความเยียวยาที่เป็นที่พอใจอย่างนั้นใช่ไหม
 
ครับ ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าในปัจจุบันอาจจะมีคดีที่นอกเหนือจากนั้น แต่ลักษณะคล้ายๆ กัน รัฐบาลยุคก่อนอาจจะมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจะสูงหน่อย แต่ในระยะเปลี่ยนผ่านรัฐบาลต่อมาก็มีการจ่ายไม่มาก อีกทั้งมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เปลี่ยนรัฐบาลคุณก็จ่ายผมน้อย ชาวบ้านก็ไม่พอใจ เขาก็มาหาเรา เราก็มีการยื่นเรื่อง ยื่นอะไรต่างๆ และมีการฟ้องร้อง
 
: อาจจะหลักแสน หลักล้าน หรือสูงสุดนั่นก็คือ เจ็ดล้านห้า
 
ครับ เจ็ดล้านห้า ชาวบ้านในยุคหลังๆ มีเหตุการณ์คล้ายการเมือง เขาอาจจะได้ประมาณสักล้านกว่าบาท หรือสองล้าน เราก็มีความรู้สึกว่าชุดก่อนเขาได้ตั้งเจ็ดล้านห้า ก็มาหาทางเรา ทางเราก็บอกว่า รัฐเขาให้มาแค่นี้นะ แต่ถ้าไม่พอใจก็ต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งไป
 
นอกจากจะนั่งฟังการสอบสวน ช่วยเหลือทางด้านคดีแก่ชาวบ้านแล้ว ทางผมมองดูว่าสมัยก่อนเหตุการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างจะมาก เดือนหนึ่งประมาณ 300 คดี ก็ลดลงมาเรื่อยๆ จาก 300 เหลือ 200 เหลือ 100 ปัจจุบันประมาณ 70 คดีต่อเดือน ซึ่งทางเราเองก็ประเมินในสถานการณ์ว่า ในการดูแลช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเดียวไม่พอ ในเรื่องคดีคงจะลดลง
 
ก็จะช่วยเหลือในการออกโครงการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายทุกจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส เบตง หรือแม้แต่กระทั่งว่าทาง อ.นาทวี จ.สงขลา ก็มีโครงการกระจายกฎหมายให้ประชาชนทราบ และเข้าใจถึงว่ากฎหมายเขาบัญญัติเอาไว้อย่างนี้ เราก็ต้องดูแลป้องกันตัว และหากเจ้าหน้าที่รัฐรังแก จะต่อสู้ในเรื่องของกฎหมายอย่างไรบ้าง ไม่ว่าในเรื่องของกฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือแม้แต่กฎอัยการศึก
 
: ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ยุติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ มองสถานการณ์ชายแดนใต้อย่างไร มันดีขึ้นหรือไม่ตามที่พูดคุยกันไว้
 
ผมมองว่าตั้งแต่ผมเข้ามายังค่อนข้างรุนแรงอยู่ แต่ในช่วงระยะที่เราเข้ามา ไม่ว่าในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เข้าทำการสอบสวน ออกบรรยายกฎหมายต่างๆ ผมว่าเท่าที่เราสัมผัสคดีลดลง อาจจะเป็นในเรื่องของนโยบายรัฐบาลที่จะช่วยเหลือในเรื่องของเจรจากับฝ่ายของผู้ที่เห็นต่าง และเราก็สัมผัสในเรื่องของผู้ที่มีอุดมการณ์ที่ไม่เหมือนกับเราทั่วๆ ไป เช่น ของเขาอาจจะมองว่าใน 3 จังหวัดของเขาเป็นเอกเทศ ไม่ได้ขึ้นกับประเทศไทย เขาก็มองอย่างนั้น ในความเห็นต่างของเขา ซึ่งเขาก็จะมีอุดมการณ์ในลักษณะดังกล่าว
 
แต่ว่าเราก็พยายามชี้แจงว่า รัฐที่คุณอยู่ไม่มีปัญหา แต่ว่ารัฐก็คือ รัฐไทยทั้งหมด พอมีการแบ่งแยกไปแล้ว ตอนนี้ก็ต้องให้ผู้เห็นต่างเข้าใจว่า อย่างไรก็ตาม อตอนนี้เราก็เป็นคนไทย อยู่ในสัญชาติไทย แต่ว่าคุณก็สามารถที่จะประกอบกิจการต่างๆ ได้ตามอัตลักษณ์ ตามประเพณีขนบธรรมเนียม ตามศาสนา
 
: แสดงว่าเราต้องมีหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย
 
ผมว่าแม้ว่าเราอาจจะเป็นองค์กรใน 3 จังหวัด เป็นองค์กรเล็กๆ มีงบประมาณไม่มาก แต่ผมก็ช่วยได้เยอะ อย่างน้อยก็ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่า ทางทนายความ ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เราก็ช่วยเหลือทางคุณไม่จำกัดศาสนา อาชีพ พยายามต่อสู้ในเรื่องของความยุติธรรม
 
: นอกจากกรณี 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลาแล้ว 7 จังหวัดทั้งหมดของเรามีงานอื่นๆ ที่เราเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือด้านความยุติธรรมอย่างไรบ้าง
 
มีลักษณะเหมือนกันทั้ง 7 จังหวัดในภาค 9 ที่ผมดูแล มีลักษณะคล้ายกันก็คือว่า ทนายความจะนั่งฟังการสอบสวน ให้คำปรึกษาฟรี แล้วก็มีช่วยเหลือทางด้านคดี และโครงการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย ทุกจังหวัดเขาก็จะมีก็ช่วยเหลือ แต่โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างจะเข้มข้นสักหน่อย เพราะว่ามันก็กระทบเกี่ยวกับเรื่องของผู้ก่อการร้าย หรือผู้เห็นต่าง
 
: ในส่วนของฐานะที่ประกอบอาชีพทนายความ อยู่กับกระบวนการยุติธรรม มองสถานการณ์บ้านเมืองอย่างไรบ้าง อย่างน้อยสังคมตอนนี้ก็กำลังถกเถียงกันในเรื่องของกฎหมายอย่างมาก
 
ผมมองว่าถ้ากฎหมายในระดับกลางถึงระดับล่างยังปกติอยู่ แต่ว่าสำหรับกฎหมายในระดับสูง เช่น รัฐธรรมนูญก็ดี กฎหมายเลือกตั้งต่างๆ อาจจะพูดได้ว่าไม่เป็นไปตามสภาวะปกติ
 
: แนวโน้มดีขึ้นไหม การนำกฎหมายมาใช้บังคับอย่างเท่าเทียมในสังคมไทย
 
ผมมองในแง่ของกฎหมายระดับกลาง กับระดับที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป ผมว่าก็ให้ความเป็นธรรมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ยุติธรรม มันขึ้นอยู่กับคนใช้ ในส่วนระดับบนจากนี้ก็ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ปัจจุบันไม่ปกติ เป็นเรื่องที่เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ก็ต้องยอมรับตรงนี้ เพราะว่าเราไม่มีอำนาจในการที่จะไปคัดค้าน ก็ต้องให้เกิดความสงบเรียบร้อย อาจจะใช้ระยะเวลา ผมก็มองดูว่าน่าจะไม่นาน
 
: มองในเรื่องของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมามีการปฏิรูปอะไร หรือว่ามันมีแนวโน้มจะเป็นไปอย่างไร
 
ในฐานะกรรมการของสภาฯ ก็ได้ร่วมประชุมในเรื่องของการพูดคุย เรื่องของกฎหมายต่างๆ ซึ่งจะเป็นในเรื่องของ 3 จังหวัด ในเรื่องของการที่จะแก้ไขกฎหมาย ไม่ว่าในเรื่องของการจะให้ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงภายในประเทศ กฎหมายเกี่ยวกับพระราชกำหนด กฎหมายเกี่ยวกับกฎอัยการศึกที่ใช้บังคับใน 3 จังหวัด ก็พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องของการใช้กฎหมายดังกล่าว อาจจะมีการคิด มีการปฏิรูปว่าจะให้ใช้อย่างไรให้มันนุ่มนวลขึ้น ลักษณะของที่ฟังแล้วไม่ตกใจ
 
: แล้วมองอย่างไรที่พูดถึงเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมกันมากในช่วงเวลานี้ จริงๆ แล้วกระบวนการยุติธรรมก็จะมีตำรวจ อัยการ ทนาย ศาล มีอะไรอย่างนี้
 
คือ ถ้าพูดถึงตัวกฎหมาย ผมว่าก็อาจจะปรับแก้ไม่น่าจะมาก เพราะว่าของเก่าจะใช้ได้อยู่ แต่พวกกฎหมายล้าหลังอาจจะมาปรับปรุง โดยที่สำคัญที่สุดเป็นเรื่องของความมีวินัยของคนที่จะใช้กฎหมายในลักษณะของเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็ต้องยอมรับว่า ถ้าเรามีปัญหาด้านกฎหมาย เราก็ต้องการทำเพื่อประโยชน์เรา เราไม่ได้คิดที่จะทำกฎหมายเพื่อคนส่วนรวม ตรงนี้ผมว่าต้องแก้
 
: แสดงว่าต้องปรับรื้อวิธีคิดของคนคงจะเป็นคำถามสุดท้าย คุณโอฬาร แม้จะไม่มีการเลือกตั้ง แต่ใกล้หมดวาระแล้ว จะลงต่อไหมครับสำหรับกรรมการสภาทนายความภาค 9
 
โดยสิทธิของผม ตามระเบียบข้อบังคับของสภาทนายความ ทางนายกสภาทนายความก็ดี กรรมการก็ดี จะสามารถดำรงตำแหน่งได้อยู่ 2 วาระ รวมวาระละ 3 ปี ซึ่งผมก็ได้วาระแรก ถ้าหากว่ามีการให้ชะลอการเลือกตั้งไปไม่นาน ก็คิดว่าจะลงอีกครั้ง ครบวาระในวันที่ 30 เม.ย.2559 ถ้าหลังจากนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นอย่างอื่น ถ้าให้ปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช. ก็คือ ให้รักษาการณ์ต่อไปจนกว่าจะมีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง
 
: คือเราก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป
 
ครับ ผมทำงาน 3 ปี ผมว่าผมทำงานให้แก่องค์กรของสภาทนายความ เพื่อประชาชน เพื่อทนายความก็เยอะ ในระยะเวลา 3 ปี ได้ประสบการณ์ไม่ว่าในเรื่องของการประชุม ในเรื่องของความรู้ที่ได้มา และก็จะเป็นเรื่องในการที่เราเอามาใช้ให้กับประชาชน ให้แก่เพื่อนทนายความได้มาก ซึ่งผมมองดูว่าในปัจจุบันองค์กรต่างๆ เริ่มรู้จักกับวิชาชีพทนายความมากขึ้น เชื่อถือมากขึ้น ให้เกียรติมากขึ้น ไม่ว่าในเรื่องของการเชิญไปประชุม การสัมมนาต่างๆ ค่อนข้างจะมีมาก
 
: จะฝากถึงประชาชนอย่างไรในกระบวนการยุติธรรม ถ้าติดขัด ขัดข้องอะไร สภาทนายความภาค 9 ของเราสามารถที่จะไปช่วยเหลืออะไรได้บ้าง
 
ในเรื่องของสภาทนายความ ไม่เฉพาะภาค 9 ทุกภาค และในส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ถ้าหากว่าท่านได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม และก็อาจจะยากไร้ด้วย ทางสภาฯ ช่วยทุกกรณีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ไม่คิดมูลค่า จะช่วยจนกว่าให้คดีจบ ซึ่งทนายความก็ต้องยอมรับว่า เราทำคดีอาจจะไม่ชนะทุกครั้งในการช่วยเหลือประชาชนดังกล่าว แต่ก็เชื่อได้ว่าให้ความพอใจแก่ประชาชนให้มากที่สุด
 
: ถ้าจะขอความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่ไหน
 
สำนักงานของผมก็จะเขียนอยู่ด้านหน้าสำนักงานเลยครับว่า สภาทนายความภาค 9 ซึ่งอยู่ 281/2 ถ.ธรรมนูญวิถี ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เบอร์โทรศัพท์ 0-7446-2149, 0-7423-0408 นอกจากที่ผมแล้ว ทางจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ เขาก็จะมีประธานจังหวัด และก็กรรมการให้ความช่วยเหลือประชาชนอยู่ทุกๆ ที่ ทุกจังหวัดอยู่แล้ว ท่านเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม และยากไร้ เดินไปหาได้เลย เขาจะช่วยเหลือท่าน
 
: ถ้าเราจะติดต่อผ่านโซเชียลมีเดีย กดเข้าไปตรงไหนง่ายที่สุด
 
แต่ละจังหวัดเขาก็จะมีประธานศูนย์จังหวัดอยู่ หรือจะกดเข้ามาที่ของสำนักงานทนายความโอฬารก็ได้ หากท่านอยู่ต่างจังหวัด ผมก็จะแจ้งไปให้ว่าให้ไปติดต่อที่ไหน อย่างไร
 
: สุดท้ายนี้ ถ้ามีการเลือกตั้งจะลงกับทีมไหน
 
กับทีมเดิมครับของคณะ เดชอุดม ไกรฤทธิ์ ซึ่งคราวที่แล้วเราก็สมัครได้นายกฯ เบอร์ 1 กรรมการเบอร์ 1-22 ก็คิดว่าจะลงสมัครเมื่อมีการเลือกตั้งวันที่ 24 เม.ย.นี้ แต่บังเอิญว่าทาง คสช.มีคำสั่งมาเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ให้ชะลอไปก่อน ตรงนี้ก็เลยสับสนว่าจะต้องชะลอกันไปถึงไหน ก็ต้องติดตามกันต่อไป แต่เรื่องการช่วยเหลือประชาชนเราก็ต้องเดินหน้าช่วยเหลือต่อไป
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น