ชาติ กอบจิตติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ.2547 และนักเขียน 2 รางวัลซีไรต์ และรางวัลช่อการะเกด ได้ฤกษ์พิมพ์หนังสือเล่มใหม่ “Facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่” โดยเปิดตัวเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ววานนี้ (24 มี.ค.) ที่ร้าน Phanmaba Siamgypsy กรุงเทพฯ
ชาติ กอบจิตติ กล่าวถึงที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้เอาไว้ในหน้าเพจ “โลกอันซ้อนกันอยู่ by Chart Korbjitti” ทางเฟชบุ๊ก ว่า “ขอยืนยันว่า นี่ไม่ใช่หนังสือรวมเล่ม facebook ที่รวบรวมว่าไปกินอะไรมา ไปเที่ยวที่ไหนมา ด่าพ่อล่อแม่ใคร อกหักรักคุดมาเพ้อเจ้อ แล้วรวมขยะไว้ในเล่ม
“แต่หนังสือเล่มนี้คือ นวนิยายเล่มหนึ่งที่มี “เหตุการณ์” เป็นตัวละคร มีพล็อต มีการพัฒนาพล็อตจนถึงจุดจบของเรื่อง มีอารมณ์ มีความขัดแย้ง มีซับพล็อต มีเวลา ตามองค์ประกอบของนวนิยายที่ควรมี แต่ยังไม่รู้ว่าจะเรียกว่านวนิยายได้ไหมเพราะไม่มีตัวละครที่เป็นคน ขณะนี้ยังนิยามหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ว่าจะเรียกอย่างไรดี ผู้เขียนขอเรียกงานชิ้นนี้ว่า “งานทดลองการใช้พื้นที่” ไปพลางๆ ก่อน”
“แต่ที่แน่ๆ คือ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มแรกของโลก ที่ใช้ผู้เขียน ถึง 500 กว่าคน (รายงานตามความเป็นจริง) ซึ่งยังไม่เคยมีหนังสือใดๆ ในโลกนี้เคยทำ”
หรือในบทส่งท้าย ระบุไว้ว่า “ถ้าหนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายเรื่องหนึ่ง ก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่นักเขียนจะต้องมาเขียนบทส่งท้ายของนวนิยายเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเพื่อให้ดูประเดิดอีก ด้วยว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่ปูไว้แต่ต้น ได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ อีกทั้งพล็อตย่อยที่สอดแทรกเข้ามาก็จบสมบูรณ์อยู่ในตัว ในตอนท้ายของเล่ม เหตุการณ์หลักๆ ในนวนิยายเรื่องนี้ที่ผู้เขียนวางโครงเรื่องไว้ ทุกอย่างได้รับการคลี่คลายมาจนถึงตอนจบของเรื่อง ที่เราเริ่มพอมองเห็นแสงรำไรจากปลายอุโมงค์ลอดออกมา ผู้อ่านสามารถคาดเดาจุดสิ้นสุดของนวนิยายเรื่องนี้ได้ด้วยจินตนาการเพียงลำพัง หน้าที่ของนักเขียนคือ ปล่อยให้ผู้อ่านของเขาเขียนตอนจบด้วยตนเอง
แต่หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่นวนิยาย หนังสือเล่มนี้เป็นข้อมูลเท็จจริงที่บันทึกด้วยวันเวลา เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในโลกของความจริง หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากนักเขียนเป็นคนกำหนดวาง หรือที่เราเรียกกันว่าการวางพล็อตเรื่อง ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยจินตนาการอันปราดเปรื่องของผู้มีอาชีพเป็นนักประพันธ์แต่อย่างใด
“หากแต่เกิดขึ้นจากความจริงเป็นตัวกำหนด หลีกเลี่ยงหลบเลี่ยงไม่พ้น เปลี่ยนพล็อตไม่ได้ เปลี่ยนไม่ได้แม้กระทั่งอยากจะสลับเรื่อง จะวางเรื่องนั้นไว้ก่อนเรื่องนี้ ก็ทำไม่ได้ เพราะมีเวลาแห่งความจริงขีดเส้นไว้ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเพียงการบันทึกความจริงในช่วงหนึ่งของชีวิตของคนบันทึกเท่านั้นเอง ด้วยความจำเป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องมีบทส่งท้าย เพื่อให้เห็นการสิ้นสุดของเหตุการณ์ทั้งหมดในหนังสือ ตามความเป็นจริงที่ปรากฏในช่วงเวลาหนึ่ง โดยไม่ต้องพึ่งจินตนาการ”
“ผม - ในฐานะผู้ที่ทำหน้าที่บันทึกความจริงทั้งหมด หวังว่าบทส่งท้ายนี้ จะนำความหวัง ความอดทน ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคมาสู่คนหนุ่มสาวที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นข้อพิจารณาในการทำงานของชีวิต และอนาคตของตนเอง”
สำหรับหน้าเพจ “โลกอันซ้อนกันอยู่ by Chart Korbjitti” เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารอีกช่องทางหนึ่งสำหรับแฟนๆ หนังสือ ชาติ กอบจิตติ เปิดเพจนี้ขึ้นมาหลังจากที่รายชื่อในเฟรนด์ลิสต์ครบ 5,000 ตามโควตาของเฟชบุ๊ก
“เพจนี้เปิดขึ้นมาเพื่อเล่าถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้เป็นหลัก เริ่มตั้งแต่วิธีคิด ก่อนทำว่าคิดอะไร ขั้นตอนการทำ ทำอย่างไร มีปัญหาอะไร การตัดต่อสเตตัส การเลือกคอมเมนต์ ฯลฯ การตั้งชื่อหนังสือ การวางคอนเซ็ปต์ของปก จนกระทั่งหนังสืออกมาเป็นรูปเล่ม การทำแผนโฆษณา เหมือนกับเป็นเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เพียงแต่นี่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งเท่านั้นเอง”
“จุดประสงค์ของเพจนี้ต้องการที่จะบอกสิ่งต่างๆ ที่ผมประสบมาทุกอย่าง ให้แก่คนที่ยังไม่รู้ และต้องการจะรู้ถึงวิธีการทำงานของผม คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกับนักเขียนหนุ่มสาวที่อยากจะเรียนรู้หนทางลัด เป็นการเรียนจากประสบการณ์ของคนอื่น ไม่ต้องเสียเวลาไปเรียนผิดเรียนถูกเอง และยืนยันได้ด้วยเกียรติของผม (ถ้ามี) ว่า ผมจะบอกทุกอย่างโดยไม่ปิดบังอะไรไว้ เพราะตายไปผมก็คงไม่เป็นประโยชน์ต่อผม ดังนั้น จึงอยากจะบอกว่า ถ้าใครรู้จักนักเขียนหนุ่มสาว หรือคนที่สนใจทางด้านขีดเขียนก็ช่วยกรุณาแชร์เพจนี้บอกต่อไปถึงพวกเขาด้วย ถือว่าทำบุญร่วมชาติกัน จะให้ผมตามไปบอกใครก็คงเป็นเรื่องลำบาก เพราะผมห่างหายจากวงการนักเขียนมานาน ทุกวันนี้แทบไม่รู้จักนักเขียนรุ่นใหม่ๆ เลย ขอความกรุณาพวกเราช่วยทำหน้าที่นี้แทนผมด้วย”
“หลังจากที่ผมเล่าวิธีการทำงานจบแล้ว คาดว่าคงใช้เวลาพักใหญ่ ถึงเวลานั้นท่านผู้อ่านของผม หรือผู้ที่สนใจเรื่องที่ผมเล่า คงได้อ่านหนังสือเล่มนี้กันหมดแล้ว ถึงตอนนั้น เราจะเปิดประเด็นทั่วไปให้ผู้อ่านเข้ามาวิจารณ์หนังสือ พูดถึงจุดเด่น จุดด้อย ฯลฯ ของหนังสือ แลกเปลี่ยนมุมมองกัน ตามความเห็นของแต่ละคน”
“หลังจากจบขั้นตอนสุดท้ายนี้แล้ว เพจนี้จะปิดลงหรือไม่เรายังไม่พูดถึง เพราะเวลานี้ยังไม่ถึงเวลานั้น”