โดย...เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์
จากการที่ได้ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559 ได้มีกลุ่มกองกำลังไม่ทราบฝ่ายเข้ายึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง ที่จังหวัดนราธิวาส แม้ว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิตจากการกระทำดังกล่าว แต่ถือได้ว่าเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้ป่วย และชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง
นอกจากนี้ ยังมีความเสียหายในทางทรัพย์สินเกิดขึ้นอีกด้วย ซึ่งได้แก่ความเสียหายต่ออาคารและอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เป็นต้น
และจากการพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานพบว่า มีปลอกกระสุนชนิดต่างๆ เช่น M 60 หรืออาก้า ซึ่งพบมากกว่า 2,000 ปลอก โดยคาดว่าการกระทำดังกล่าวกระทำขึ้นเพื่อใช้โรงพยาบาลเป็นฐานโจมตีทหารพรานที่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาล
ถ้าหากพิจารณาการกระทำดังกล่าวในมุมมองกฎหมายของกฎหมายระหว่างประเทศ ถือว่าผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 2 หลักสำคัญ ดังนี้คือ 1.กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) และกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Law)
อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ คำสองคำที่มักจะมีการอ้างอิงถึงคือ Jus ad bellum and jus in bello. Jus ad bellum คือ ความชอบด้วยกฎหมายของการใช้กำลังทางทหาร ซึ่งปัจจุบันหลักนี้หมายถึงเรื่องของหลักการป้องกันตนเอง (the right to self-defence) โดยกำหนดไว้ในข้อ 51 “ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันจะรอนสิทธิประจำตัวในการป้องกันตนเองโดยลำพัง หรือโดยร่วมกัน หากการโจมตีด้วยกำลังอาวุธบังเกิดแก่สมาชิกของสหประชาชาติ จนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็น เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ มาตรการที่สมาชิกได้ดำเนินไปในการใช้สิทธิป้องกันตนเองนี้ จะต้องรายงานให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบโดยทันที และจะต้องไม่กระทบกระเทือนอำนาจ และความรับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคง ตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันแต่ประการใด ในอันที่จะดำเนินการเช่นที่จำเป็นไม่ว่าในเวลาใด เพื่อธำรงไว้ หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ” ของกฎบัตรสหประชาชาติ
โดยที่หลักการดังกล่าวกำหนดยกเว้นของหลักการห้ามใช้กำลังทางทหารตามข้อ 2 (4) ของกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดว่า “ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมาชิกทั้งปวงจะต้องละเว้นการคุกคาม หรือการใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขต หรือเอกราชทางการเมืองของรัฐใดๆ หรือการกระทำในลักษณะการอื่นใดที่ไม่สอดคล้องต่อความมุ่งหมายของสหประชาชาติ”
ส่วน Jus in bello คือ กฎหมายที่วางข้อบังคับในการทำสงคราม กล่าวคือเมื่อเกิดสงครามแล้วจะต้องดำเนินการอย่างไร และมีข้อจำกัดอย่างไร เช่น วิธีปฏิบัติต่อเชลยศึก ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นส่วนของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ คือ กฎหมายระหว่างประเทศที่ถูกออกแบบมาเพื่อคุ้มครองผู้เสียหาย และพลเรือนที่ได้รับผลกระทำจากการขัดกันทางอาวุธ (armed conflict) ทั้งนี้ ความคุ้มครองรวมถึงทหาร (hors de combat) ที่บาดเจ็บจากการต่อสู้ ป่วย หรือถูกจับคุม โดยที่หลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศส่วนมากได้ถูกนำมากำหนดเป็นความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม (war crimes)
จากวิวัฒนาการของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศสามารถแบ่งกฎหมายออกเป็น 2 กลุ่มคือ (1) กฎหมายกลุ่มเจนีวา (Geneva Law) โดยกฎหมายกลุ่มเจนีวาสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ฉบับดังนี้ ฉบับที่ 1 ว่าด้วยการคุ้มครองทหารที่บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยในการสงครามภาคพื้นดิน ฉบับที่ 2 คุ้มครองทหารที่บาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือเรืออับปางในภาวะสงครามทางน้ำ ฉบับที่ 3 เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อนักโทษสงคราม ฉบับที่ 4 เกี่ยวกับการคุ้มครองพลเรือนในภาวะสงคราม
นอกจากนี้ ในตัวกฎหมายกลุ่มเจนีวายังมีพิธีสารเพิ่มเติมอีก 3 ฉบับ กล่าวคือ พิธีสารฉบับที่ 1 มุ่งคุ้มครองเหยื่อของการขัดกันทางทหารระหว่างประเทศ ในขณะที่พิธีสารฉบับที่ 2 มุ่งคุ้มครองเหยื่อของการขัดกันทางทหารที่มิใช่ระหว่างประเทศ และพิธีสารฉบับที่ 3 ว่าด้วยเรื่องสัญลักษณ์และเครื่องหมายพิเศษต่างๆ เช่น เครื่องหมายกาชาด
(2) กฎหมายกลุ่มเฮก ( Hague law) ถูกสร้างขึ้นมากำหนดวิธีการทำสงครามเพื่อลดการทำลายล้าง และการบาดเจ็บที่ไม่จำเป็น โดยจะพูดถึงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้อาวุธและวิธีการสำหรับการใช้กำลังทางทหาร
อาจกล่าวได้ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้มีลักษณะเป็นการขัดแย้งทางอาวุธที่มิใช่ระดับระหว่างประเทศ ส่งผลให้มาตรา 3 ร่วม (Common article 3) ของอนุสัญญาเจนีวา 1949 ทั้ง 4 ฉบับถูกนำมาปรับใช้ ประกอบกับพิธีสารฉบับที่ 2 โดยกฎเกณฑ์ทั้ง 2 ตัวจะกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำที่ปฏิบัติต่อผู้เสียหาย ผู้บาดเจ็บ หรือผู้ป่วย ในกรณีที่มีการขัดกันทางกำลังอาวุธที่มีลักษณะมิใช่ระหว่างประเทศเกิดขึ้น
พิเคราะห์ถึงโรงพยาบาลในฐานะของสถานที่ที่ต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ จะเห็นได้ว่า อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 1 และ 4 ได้มีความพยายามกำหนดให้สถานพยาบาลให้มีลักษณะเป็นพื้นที่ปลอดภัย
นอกจากนี้ ข้อมติของสหประชาชาติในปี 1970 ในเรื่องของกฎเกณฑ์พื้นฐานสำหรับปกป้องพลเรือน ในกรณีมีการขัดกันทางอาวุธ ซึ่งสมัชชาสหประชาชาติ ได้เน้นย้ำว่า “สถานที่ หรือพื้นที่ที่กำหนดขึ้นเพื่อปกป้องพลเรือน เช่น โรงพยาบาล หรือค่ายผู้ลี้ภัยไม่ควรจะเป้าของการปฏิบัติการทางทหาร”
โดยหลักดังกล่าวได้รับการยอมรับสำหรับใช้ในเรื่องการขัดกันทางกำลังอาวุธ ทั้งในระดับระหว่างประเทศ และมิใช่ระดับระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้สถานพยาบาล ไม่ว่าจะมีลักษณะถาวร หรือเคลื่อนที่ รถพยาบาล เรือพยาบาล อากาศยานทางการแพทย์ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายพลเรือน หรือทหาร ต้องได้รับความคุ้มกันเป็นพิเศษจากการโจมตี
จากหลักดังกล่าว ส่งผลให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อโรงพยาบาลเจาะไอร้อง เป็นเรื่องที่นอกจากจะขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้งแล้ว ยังขัดต่อหลักการมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรงอีกด้วย
ในที่นี้ ผู้เขียนอยากจะให้ข้อสังเกตว่า ข้อกำหนดส่วนใหญ่ในอนุสัญญาเจนีวาทั้ง 4 ฉบับ รวมทั้งมาตรา 3 ร่วม ถือเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และรัฐ 192 รัฐได้เป็นภาคีของอนุสัญญาเจนีวาทั้ง 4 ฉบับ ส่งผลให้อนุสัญญาดังกล่าวผูกพันรัฐ ทั้งในฐานะที่เป็นสนธิสัญญา และจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้หลักดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไปกับรัฐทั้งปวง โดยได้รับการยืนยันจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีนิคารากัว ค.ศ.1986
ในส่วนที่เป็นพิธีสารเพิ่มเติมทั้งสามฉบับนั้น แม้ว่าจะยังไม่ได้ยอมรับอย่างเป็นสากล แต่กฎเกณฑ์ภายใต้พิธีสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีสารฉบับที่ 2 มีลักษณะเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ส่งผลให้รัฐต้องให้ความเคารพ และปฏิบัติตาม แม้ไม่ได้เข้าเป็นภาคีของพิธีสารฉบับดังกล่าว เช่น หลักการห้ามโจมตีพลเรือน พันธกรณีในการเคารพ และคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์และทางศาสนา หน่วยและยานพาหนะทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งการห้ามโจมตีวัตถุที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของพลเรือน
นอกจากนี้ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า เหตุการณ์ยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้องโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่ายนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความรับผิดฐานอาชญากรรมระหว่างประเทศอีกด้วย
ซึ่งมีฐานความผิดมาจากกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้อธิบายถึงฐานความผิดอาญาระหว่างประเทศร้ายแรงไว้ 4 ฐาน ประกอบด้วย 1.การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 2.อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ 3.อาชญากรรมสงคราม และ 4.อาชญากรรมต่อการรุกราน
แต่อย่างไรก็ดี ในที่นี้ผู้เขียนขออธิบายในส่วนของฐานความผิดอาชญากรรมสงคราม เนื่องจากการกระทำเข้ายึดโรงพยาบาลเพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นนั้น ถือว่าเป็นความผิดทางอาญาของบุคคลที่ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง อันนำไปสู่ความผิดฐานดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การละเมิดหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ในส่วนของ jus in bello ไม่ใช่ทุกกรณีจะมีลักษณะเป็นอาชญากรรมสงครามเสมอไป เช่น ในอนุสัญญากรุงเจนีวา ข้อ 28 และ 60 กำหนดให้ต้องมีโรงอาหารสำหรับนักโทษเพื่อซื้อหาสิ่งของเครื่องใช้ในราคาตลาด การไม่จัดให้มีโรงอาหาร แม้ว่าจะถือว่าผิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดความผิดฐานอาชญากรรมสงครามแก่ผู้กระทำผิดแต่ประการใด
เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนจึงขออธิบายลักษณะฐานความผิดของอาชญากรรมระหว่างประเทศประกอบด้วยความผิด 4 ลักษณะดังต่อไปนี้ กล่าวคือ (i) การละเมิดอย่างร้ายแรงต่ออนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 1 (ii) การละเมิดอย่างร้ายแรงอื่นๆ ต่อกฎหมายและจารีตประเพณีที่ใช้บังคับในการขัดกันด้วยอาวุธระหว่างประเทศ ภายในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ (iii) ในกรณีขัดกันทางอาวุธที่มิใช่มีลักษณะระหว่างประเทศ โดยมีการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อมาตรา 3 ร่วมของอนุสัญญาเจนีวาทั้งสี่ฉบับ (V) การละเมิดอย่างร้ายแรงอื่นๆ ต่อกฎหมายและจารีตประเพณีที่ใช้บังคับต่อการขัดกันด้วยอาวุธ ที่มิใช่มีลักษณะระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้ว
ทั้งนี้ อาชญากรรมดังกล่าวอาจกระทำโดยทหาร หรือพลเรือนก็ได้ โดยผู้กระทำความผิดดังกล่าวถือว่าเป็นอาชญากรสงคราม ตามนัยนี้การโจมตีโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จึงเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม ซึ่งอยู่ภายใต้เขตอำนาจการพิจารณาคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนขอประณามการกระทำของกลุ่มกองกำลังไม่ทราบฝ่ายดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำที่ละเมิด มุ่งทำลาย และก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถานพยาบาล ซึ่งถือเป็นพื้นที่ปลอดภัย ปราศจากการใช้กำลัง อีกทั้งการเข้ายึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นเพื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถือว่าขัดต่อหลักของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง
โดยข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐรีบดำเนินการเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ภายใต้หลักปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับในระดับระหว่างประเทศ เช่น หลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักการห้ามซ้อมทรมาน หลักสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว
--------------------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
1.หนังสือภาษาไทย
- จาตุรนต์ ถิระวัฒน์, กฎหมายระหว่างประเทศ, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2555.
- ปกป้อง ศรีสนิท, คำอธิบายกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2556.
- ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศ, กรุงเทพฯ : โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555.
- พรชัย ด่านวิวัฒน์ และสมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร, กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ,กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2555
2.หนังสือต่างประเทศ
- HILAIRE McCOUBREY, International Humanitarian Law: The Regulation of Armed Conflicts,USA : Dartmouth Publishing Company Limited,1990.
- INGRID DETTER, The law of War, 2nd edition, Cambridge: Cambridge University Press,2000.
- Rene Provost, International Human Rights and Humanitarian Law, Cambridge: Cambridge University Press, 2002.
3.รายงาน
- คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ, ‘กฎหมายจารีตประเพณี Customary law’ International Review of the Red Cross. Vol 87 No.857 March 2005.
4.ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
- Rule 35. Hospital and Safety Zones and Neutralized Zones, available athttps://www.icrc.org/customary-ihl/eng/docs/v1_rul_rule35
- Human Rights Watch. Thailand : Insurgents Seize Hospital in South : attack latest in Campaign Against Medical Facilities, available athttps://www.hrw.org/news/2016/03/15/thailand-insurgents-seize-hospital-south
- Crime of War: Immunity from attack, available at http://www.crimesofwar.org/a-z-guide/immunity-from-attack