xs
xsm
sm
md
lg

ปลูกป่าในนา “พคท.” รวม “สหาย” จับมืออนุรักษ์เขาบรรทัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
เรื่อง/ภาพ  :  ถนอม  ขุนเพ็ชร์ 
----------------------------------------------------------------------------------
 
จากชุมชนท่ายูง ม.5 ต.ตะแพน อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง ตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาบรรทัดราว 700 เมตร ถึงบริเวณที่ราบซึ่งครั้งหนึ่งเป็นที่ทำนาของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แหล่งเสบียงเพื่อการต่อสู้อันยาวนานครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ยังทิ้งร่องรอยหลายอย่างให้เห็น
 
มาถึงวันนี้ สหาย พคท.ที่กลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย ณ ภูมิลำเนาเดิม พวกเขาผู้ยังผูกพันลึกซึ้งกับผืนป่าเขาบรรทัด ได้กลายมาเป็นแกนนำสำคัญในโครงการคนท่ายูงปลูกป่าในนาสหาย ที่สนับสนุนโดย สสส.  พวกเขาคิดจะกลับไปปลูกป่าในผืนดินที่กลายเป็นที่โล่ง เพราะเคยถูกบุกเบิกแผ้วถางเป็นที่นาในครั้งนั้นให้กลับมาเป็นป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์อีกครั้ง
 
สมปอง เพิ่มแก้ว หรือ “อดีตสหายสำเริง” ผู้ใหญ่บ้านท่ายูง ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล่าว่า การต่อสู้ทางการเมืองในสมัยนั้นทำให้คนจำนวนหนึ่งต้องเข้าไปอยู่ในป่า สำหรับภาคใต้มีที่มั่นสำคัญคือ เทือกเขาบรรทัด
 
“พ่อแม่ผมถูกฆ่าตาย ผมเข้าป่าตั้งแต่  10 ขวบ รู้จักป่าที่ที่นี่แทบทุกตารางนิ้ว หลังจากออกจากป่าแล้วไปอยู่ที่อื่นช่วงหนึ่ง หลังจากนั้น กลับมาอยู่ถิ่นเดิม จนได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน”
 
เขาเล่าว่า กิจกรรมปลูกป่าได้ดำเนินมาก่อนระยะหนึ่ง และจะเพิ่มพื้นที่ป่าไปเรื่อยๆ เมื่อปลูกแล้วต้องมีการติดตามดูแลจนเติบโต ไม่ให้ใครมาตัดทำลาย ปัญหาที่พบมากสำหรับป่าผืนนี้ทุกวันนี้ยังมีการลักลอบตัดไม้กฤษณา ซึ่งเป็นคนที่มาจากถิ่นอื่น
 

 
สมปอง เล่าว่า กลุ่มอดีตสหายในหมู่บ้านยังมีความผูกพันกันดี ยังมาทำอะไรร่วมกัน คนเหล่านี้มาทำงานเป็นจิตอาสา ด้วยความรู้สึกรักป่า งานที่ยากก็คือ แม้จะเฝ้าระวังป่า แต่เมื่อมีเสียงปืนดังในกลางคืนก็ไม่รู้ทำอย่างไร เพราะชาวบ้านทำงานในนามกลุ่มอนุรักษ์กันลำพัง ในอนาคตก็คงจะได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของเขตอุทยาน
 
“เราวางแผนว่าต่อไปจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาที่นี่ มีการเตรียมพร้อมบางส่วน เช่น การทำอาคาร ห้องน้ำ เพื่อใช้รองรับในบริเวณที่เคยเป็นฐานปฏิบัติการเดิมของ พคท. รูปแบบการท่องเที่ยวนอกจากชมธรรมชาติที่สงบร่มเย็น อากาศดีแล้ว อาจมีลักษณะของการเดินป่า ถ้ำ น้ำตก และเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องต่อการสู้รบในอดีต”
 
สมภา ใจกล้า คณะทำงานโครงการฯ เล่าว่า ชุมชนแห่งนี้มีองค์กรที่อนุรักษ์ป่ามาก่อนแล้วหลายปี ในนาม กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ต.ตะแพน การมาขับเคลื่อนกับ สสส.เพราะมองว่าจะต้องช่วยกันอนุรักษ์ป่ากันต่อไป โดยยังใช้กิจกรรมดังกล่าวมาเป็นจุดศูนย์รวมของหมู่บ้าน
 
“บทบาทของชาวบ้านในการอนุรักษ์ป่าที่ผ่านมาราว 8 ปี มีการบวชป่าเป็นกลวิธีในการอนุรักษ์ที่ทำมาต่อเนื่องหลายปี เมื่อมีการวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน รวมถึงการนั่งคุยกัน คิดว่าน่าจะเอาสิ่งที่ทำอยู่แล้วมาพัฒนาต่อ เพื่อให้เป็นกิจกรรมศูนย์รวมของหมู่บ้านที่ทุกคนจะได้ช่วยกันทำ จากกลุ่มเล็กๆ จะได้กว้างขึ้น”
 
สมภา กล่าวถึงความคาดหวังว่า อยากเห็นคนทั้งหมู่บ้านช่วยกันอนุรักษ์ และร่วมกันฟื้นฟูป่า
 
“เรามักได้ยินว่าคนที่ทำลายป่าคือ คนที่อยู่กับป่า แต่เราจะทำให้เห็นว่าเรื่องแบนนั้นมันไม่จริง คนที่อนุรักษ์ป่าได้ดีที่สุดก็คือ คนที่อยู่กับป่า ไม่ใช่คนที่อยู่ข้างนอก” เขาว่า
 

 
จากจุดเล็กๆ จึงขยายออกไปกว้างในระดับตำบล ขณะที่ระดับจังหวัดพัทลุงทุกวันนี้มองว่า ชาวบ้านท่ายูงเป็นกลุ่มอนุรักษ์ป่ากลุ่มหนึ่งที่มีความเข้มแข็ง
 
การขับเคลื่อนโครงการ สสส.มีส่วนสำคัญ เพราะทำให้เกิดสภาชาวบ้าน มีการดึงภาคส่วนของหมู่บ้าน ไม่ว่า อสม. ปราชญ์ชาวบ้าน และทุกกลุ่มมานั่งพูดคุยกัน มาวิเคราะห์ปัญหาของหมู่บ้านในทุกเรื่อง ขณะที่การปลูกป่าเริ่มมีการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นด้วย เช่น อบจ.
 
การปลูกป่าหลังจากขับเคลื่อนโครงการ สสส.มี 2 จุดใหญ่ คือ ในที่นาเดิมของ พคท. ซึ่งอยู่บนยอดเขา กับป่าอีกแห่งหนึ่งเพิ่งเริ่มปลูก เป้าหมายโครงการฯ ต้องการปลูกในพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 1,500 ต้น มีการทำฝายกักเก็บน้ำ ขณะที่เป้าหมายของชุมชนจะปลูกต่อไปเรื่อยๆ
 
ขณะเดียวกัน จะมีการสร้างแกนนำเยาวชนคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทำงานนี้ด้วย โดยการจัดกิจกรรมเยาวชนศึกษาพันธุ์ไม้ พืชพรรณอาหาร ยารักษาโรค แล้วให้เด็กมาซึมซับป่า และรักผืนป่า
 
“เด็กในชุมชนส่วนมากจะรู้ประวัติช่วงหนึ่งของป่า เพราะคนรุ่นก่อนจะเล่าให้ลูกหลานฟัง มีการพูดกันว่าป่าผืนนี้อยู่ได้เพราะมีคอมมิวนิสต์ เพราะสมัยหนึ่งเคยมีความคิดที่จะมีการสัมปทานป่า พอนายทุนที่สัมปทานได้แล้วก็ไม่กล้าเข้ามา เพราะมีคอมมิวนิสต์อยู่ ก็ถือว่าโชคดีที่มีคอมมิวนิสต์อยู่”
 

 
สมภา เล่าว่า จากโครงการฯ ที่ขับเคลื่อนโดย สสส.นี้มีแผนพัฒนาไปพร้อมกับให้พื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ของชุมชน ซึ่งเริ่มดำเนินการไปแล้ว สิ่งที่คาดหวังไม่เฉพาะการท่องเที่ยว แต่เป็นความสามัคคีของคนในชุมชน นำคนมาหลอมรวมกัน สามารถมาเกิดเวทีของการแลกเปลี่ยน นำเสนอปัญหาสำหรับการจัดการ แล้วขยายแนวคิดที่มักใช้วิธีการตั้งวงคุยอย่างไม่เป็นทางการ จนเกิดการตอบรับที่ดี โดยมีภาคีเครือข่ายมาร่วม เช่น อบจ. โรงเรียน เขตอุทยานฯ ที่ช่วยปลูกป่า ให้ความร่วมมือ สนับสนุนพันธุ์ไม้ สำรวจป่า เป็นต้น
 
“เราได้สหายเก่ามาเป็นแกนหลักสำคัญเป็นคนที่รู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี และผูกพันกับผืนป่า ทำงานเป็นจิตอาสาด้วยความรู้สึกรักป่า เพื่อแสดงให้เห็นว่า ถ้าอยากให้ป่า หรือสัตว์ป่ารอด จะต้องเริ่มที่ชาวบ้านมากกว่าหน่วยงานใด” เขาเล่า และเสริมว่า
 
กับคนรุ่นใหม่มีการปลูกฝังแนวคิดโดยดำเนินการต่อกลุ่มเด็กตั้งแต่ 4-14 ปีในหมู่บ้านเป็นหลัก เน้นกิจกรรมในช่วงวันหยุด
 
แผ้ว เขียวดำ หรือ “อดีตสหายโก้” ปัจจุบันคือ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ต.ตะแพน เล่าว่า เดิมทีชาวบ้านที่นี่ต่อสู้เรื่องที่ดินทำกิน และทรัพยากรมาก่อน เพราะที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ทั้งที่ได้รับสืบทอดมรดกมา 3 ชั่วคนแล้ว ชาวบ้านอยู่มาก่อน แต่ต่อมาได้มีการประกาศเขตอุทยาน เขตที่ดินสาธารณะ และเขตป่าสงวนมาทับที่ทำกินชาวบ้าน
 
ตอนนี้การต่อสู้มาถึงหนังสือรับรองให้ทำกินในที่ดินเดิม อาศัยผู้นำท้องถิ่น และผู้นำสภาองค์กรชุมชนเป็นคนเซ็นรับรอง มีการออกหนังสือไปแล้ว 60 แปลง ในเนื้อที่เป็นหมื่นไร่ เป้าหมายให้ชาวบ้านยังสามารถทำกินในที่เหล่านี้ได้ คนอยู่กับป่า การขับเคลื่อนเชิงทรัพยากรมีการปลูกป่าร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งชุมชน ราชการ อปท. มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยภูมปัญญา
 
“การปลูกป่าในนาสหาย  เพราะเห็นว่ามีโครงการ สสส. เราเห็นว่าจะมาต่อยอดเพิ่มความเข้าใจให้คนมารักป่า รักธรรมชาติ การจัดการทรัพยากร ไม่ใช่ทำลาย แต่สร้างพืชอาหารที่เก็บกินได้ เราคาดหวังเห็นชุมชนที่เข้มแข็งการรวมตัวกัน แล้วเข้าถึงทรัพยากรที่เท่าเทียม”
 

 
แผ้ว เล่าว่า เขาเป็นคนพื้นเพที่นี่ตั้งแต่ยุคท่ายูงเป็นพื้นที่สีแดง เขาตัดสินเข้าป่าร่วมงานกับ พคท.ในปี 2521 เพราะครอบครัวเข้าป่ากันทั้งบ้าน ชีวิตช่วงนั้นเป็นชีวิตที่สนุกดี แต่เป็นไปท่ามกลางความยากลำบาก
 
ครั้งอยู่ในป่าใช้ชีวิตร่วมกับพี่น้องสหายที่รักกันมาก กินข้าวหม้อเดียวกันเมื่อ 30-40 ปีก่อนผูกพันกันต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นเป็นจุดแข็งของชุมชนที่สามารถมาร่วมทำงานเป็นสังคมเดียวกันจนทุกวันนี้  เพราะคุยกันได้ จากบทบาทใน 30-40 ปีก่อน จึงเอาหลักคิดสมัยอยู่ป่ามาบริหารชุมชนได้
 
ประคอง ราษฎร์แก้ว หรือ “อดีตสหายเชษ” เขาเป็นนักรบป่า เคยอยู่แนวรบ และผ่านการปะทะมากว่า 30 ครั้ง เขาเล่าว่าชีวิตตอนนั้นมีทั้งสุข และทุกข์ อย่างเวลาถูกทางการปิดล้อม กินแต่ข้าวต้ม อดบ้างตอนเดินทางไกล เพราะไม่กล้าก่อไฟ มีอะไรก็กินอันนั้น
 
“บางทีต้องล่าสัตว์ป่ามากินบ้าง จนกระทั่งตั้งฐานได้แล้วจึงหันมาปลูกพืช ผัก มัน ทำนา ก่อนทำก็ต้องแผ้วป่า อย่างที่นาที่ปลูกป่า ซึ่งผู้ใหญ่บ้านเคยอยู่ที่นั่น แต่ผมอยู่สูงไปอยู่อีกที่” สหายเชษเล่าและว่า
 
สำหรับชุมชนท่ายูงถิ่นเกิดน่าจะมีอายุ 300 ปีขึ้นไป สมัยก่อนชาวบ้านเข้ามาทำการเกษตรแบบพอเพียง พวกสวนทุเรียนพื้นเมือง เนียง สะตอ หมาก เป็นต้น
 
“ราวปี 2508-2509 ครอบครัวผมเหมือนกับคนอื่นในหมู่บ้านท่ายูง หรือบ้านเขาแก้ว เข้าป่าเกือบหมดตั้งแต่ปี 2509-2524 เมื่อออกจากป่าแล้วก็มาทำมาหากินแบบเดิม แต่ตอนหลังมีการประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกินเดิม ก็เป็นปัญหาต่อชาวบ้าน”
 

 
เขาเล่าว่า การเข้าป่าทำให้ได้หลักคิดประชาธิปไตยว่า ทุกอย่างเกิดจากความร่วมมือของทุกคน จุดได้เปรียบคือ มีเครือข่ายสหายที่อยู่ในเมืองมาช่วยงานพัฒนา สหายที่ไปอยู่ที่อื่นอยากให้รักษาชุมชนดั้งเดิม และรักษาธรรมชาตินี้เอาไว้ให้ได้
 
“สำหรับเด็กรุ่นใหม่ เราก็ถ่ายทอดให้เด็กฟัง เขาก็เข้าใจ โดยเฉพาะการดูแลรักษาป่า ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อชุมชน” เขาเล่าและว่า
 
การได้ร่วมโครงการ สสส.ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในการพัฒนา คิดว่าจะมีสิ่งดีๆ ตามมา ทุกวันนี้ใช้เทคนิคกระบวนการของ พคท.มาปรับใช้ในงานพัฒนาหลายอย่าง เช่น การหาเครือข่าย ความร่วมมือต่างๆ โดยประยุกต์มาใช้ได้ตามความเหมาะสม
 
เสณี จ่าวิสูตร พี่เลี้ยงติดตามโครงการฯ เล่าว่า แกนนำของท่ายูงคือ แผ้ว เขียวดำ เข้ากระบวนการภาคประชาชนของพัทลุงในนามของกลุ่มอนุรักษ์ป่าเทือกเขาบรรทัด มีการรวมคนในการจัดการป่า และเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ซึ่งในพื้นที่สามารถพัฒนาศักยภาพขึ้นเป็นแหล่งเรียนรู้ และการทำงานในการพัฒนาทรัพยากรของพัทลุงได้
 
ที่ผ่านมา ประชาชนมีความพร้อมจะเข้าร่วม ชาวบ้านมีการทำงานที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องการพัฒนา การฟื้นฟู เฝ้าระวัง เป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการทรัพยากร และกับพื้นที่เองมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สามารถต่อยอดไปในการจัดการท่องเที่ยวเพื่อชุมชน
 
“ถ้ากระบวนการทำงานนี้จะขยายการมีส่วนร่วมไปในวงกว้างของชุมชน ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ชาวบ้านรู้สึกมีความเป็นเจ้าของ และหวงแหนทรัพยากรของชุมชนได้”
 

 
จุรีย์ หนูผุด พี่เลี้ยงอีกคนของโครงการฯ เล่าว่า ชาวบ้านมีทีมงานที่ขับเคลื่อนเรื่องแบบนี้อยู่ก่อนแล้ว ก็เลยมามองว่าทำอะไรให้ชุมชนน่าอยู่ ที่เป็นกระบวนการของชุมชน มีการปลูกฝังเยาวชนให้อนุรักษ์ป่า ที่ทำไปแล้วจึงมีการจัดค่ายเยาวชนในการศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชน และมีการสำรวจป่า มีการปลูกป่าในวันสำคัญ โดยยึดวิถีชุมชนเป็นหลัก มีการชักชวนเด็กมาเข้าร่วม เป็นเด็กในชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนที่ห่างจากโรงเรียน
 
สำหรับกิจกรรมส่วนอื่นๆ ก็เป็นการเฝ้าระวังเป็นส่วนใหญ่หลังจากปลูกต้นไม้ไปแล้ว แต่เป้าหมายของชุมชนเท่าที่คุยกันในวันข้างหน้าคือ ต้นไม้ทุกต้นที่ปลูกแล้วจะไม่มีการโค่น หรือทำลาย เป็นการสร้างป่าสำหรับชุมชน ให้เป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร เพื่อให้ได้ป่าชุมชนเพิ่มขึ้นมา
 
ที่ผ่านมา ชาวบ้านสามารถไปเชื่อมโยงกับองค์กรที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านประมง เกษตร ป่าไม้ การอนุรักษ์ จุดแข็งที่นี่คือ มีทีมงาน หรือกลุ่มไม่กี่คน แต่มีแนวคิดที่ทำพื้นที่นี้สามารถให้คนรุ่นหลังได้หวงแหน สร้างเครือข่ายให้กว้างขึ้น
 
เธอมองว่า ชุมชนนี้ประกอบด้วยคน 4 กลุ่มวัย คือ 1.กลุ่มก่อตั้ง 2.กลุ่มบุกเบิก 3.กลุ่มดำเนินการ และ 4.กลุ่มเด็กและเยาวชน โดยทั้ง 4 กลุ่มนี้จะทำงานร่วมกัน หากมีการขับเคลื่อนโครงการอะไรก็แล้วแต่ น้ำหนักจะอยู่ในวัยขับเคลื่อน โดยกลุ่ม 1 และ 2 เป็นแรงหนุน และมีกลุ่ม 4 รับช่วงต่อ
 
“กิจกรรมของ สสส.ที่สำเร็จคือ คนในชุมชนได้มารวมตัวเป็นสภาที่ขยายวงความร่วมมือ มีวงพบปะสนทนาปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นหลักเบื้องต้นของชุมชนน่าอยู่ แล้วพัฒนาไปสู่เรื่องอื่นๆ ได้” จุรีย์ กล่าว
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น