xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อโจรใต้ยึด “โรงพยาบาล” ปฏิบัติการใหม่ที่มองข้ามไม่ได้ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
-----------------------------------------------------------------------------------------
 
สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม 2559 แม้จะไม่มีคนเจ็บ และตายเป็นจำนวนมาก แต่การโจมตีสถานที่ราชการทั้งใน จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส รวมแล้วหลายอำเภอกว่า 10 เหตุการณ์นับว่าไม่ธรรมดายิ่ง
 
เป็นการก่อเหตุร้ายที่รุนแรงอีกครั้งหนึ่งของขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยมี “บีอาร์เอ็น คอโอดิเนต เป็นแกนนำ ซึ่งถือเอาวันที่ 13 มีนาคม อันเป็นวันครบรอบการก่อตั้ง 56 ปี ของบีอาร์เอ็นฯ วันแห่งสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนของ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา นำไปตั้งเป็น “ประเทศปัตตานีดารุสลาม เป็นฤกษ์ปฏิบัติการ
 
การก่อการร้ายครั้งนี้ “แนวร่วม” หวังผลเพียงต้องการความสูญเสียให้แก่เจ้าหน้าที่ทหาร โดยไม่ได้คำถึงการสูญเสีย “มวลชน ด้วยการบุกเข้ายึดโรงพยาบาลประจำ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส แล้วจับเจ้าหน้าที่พยาบาล และคนป่วยเป็นตัวประกัน จากนั้นใช้ชั้น 2 ของตึกโรงพยาบาลตั้งป้อมปืนยิงถล่มฐานปฏิบัติการ ร้อย ทพ.4816 กรมทหารพรานที่ 48 ซึ่งตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ใกล้กัน
 
ถือเป็นปฏิบัติการครั้งแรกที่มีการใช้ “โรงพยาบาล” เป็นที่มั่นปฏิบัติการโจมตีฐานทหาร?!
 
ทั้งนี้ ก็เพื่อมิให้กองกำลังทหารตอบโต้ด้วยอาวุธที่เหนือกว่า เพราะอาจพลาดไปโดนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และคนป่วยได้ หลังจากที่โจมตีเพื่อสร้างสถานการณ์แล้ว แนวร่วมเหล่านี้ก็สลายกำลังหลบหนีตามยุทธวิธีของ “สงครามกองโจร ซึ่งแนวร่วมในพื้นที่มีความช่ำชองเป็นอย่างยิ่ง
 
ส่วนเหตุการณ์อื่นๆ เช่น การวางระเบิดแสวงเครื่องโดยมีเหยื่อคือ เจ้าหน้าที่รัฐ การยิงโรงพัก และบ้านพักของตำรวจ และโจมตีชุดคุ้มครองครู ถือเป็นเหตุการณ์เดิมๆ ที่ถือว่าไม่มีอะไรใหม่ในทางยุทธวิธี เพียงแต่หน่วยงานในพื้นที่ก็กลับไม่มีอะไรที่ “ใหม่กว่า ในการรับมือต่อแนวร่วมดังกล่าวเท่านั้น
 
สำหรับสาเหตุที่ไฟใต้รุนแรงขึ้นอีกระลอกนั้น มีปัจจัยจากหลายๆ สาเหตุที่ขบวนการเห็นว่ามีความ “สุกงอมของสถานการณ์เพียงพอในการเปิดเกมรุกเข้าใส่เจ้าหน้าที่รัฐ
 
ประเด็นที่หนึ่ง เป็นการตอบโต้การรุกคืบต่อเป้าหมายในพื้นที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งหากพื้นที่เหล่านี้ถูกปิดล้อมก็จะทำให้ขบวนการไม่มีอิสระในการเคลื่อนไหว จะไม่สามารถก่อเหตุร้ายได้ ซึ่ง “ยุทธศาสตร์” ของบีอาร์เอ็นฯ คือ ต้องให้แนวร่วม “ก่อเหตุรายวัน” ให้ได้อย่างน้อย 1-3 เหตุการณ์ เพื่อรักษาสภาพของขบวนการให้เห็นว่า มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแบ่งแยกดินแดน และยังเป็นขวัญกำลังใจให้แก่สมาชิก ทั้งที่เป็น “คนเก่าและ “เซลล์ใหม่ ที่ถูกบ่มเพาะเข้าสู่ขบวนการ
 
รวมทั้งขบวนการได้นำเอาปัจจัยเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมได้ยึด “โรงเรียนฮีญาดวิทยา” ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ในการบ่มเพาะ และฝึกอาวุธให้แก่นักเรียนเพื่อให้เป็น “อาร์เคเคและปัจจัยการออกมาเปิดเผยของ “มูลนิธิผสานวัฒนธรรม”  เรื่องยังมีการ “ซ้อมทารุณ” ผู้ต้องหา และผู้ต้องสงสัยของหน่วยงานความมั่นคง
 
อันเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่เข้าใจในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ก็จะเข้าใจไปได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ความไม่ยุติธรรมที่ “คนมลายู ได้รับจากการกระทำของรัฐ
 
และสุดท้ายก่อนที่จะเกิดเหตุความรุนแรงในวันที่ 13-14 มีนาคม ได้มีการให้ “สัมภาษณ์ของหน่วยงานความมั่นคงถึงการเตรียมนัดหมายกับฝ่ายความมั่นคงของประเทศมาเลเซีย ที่ทำหน้าที่ “ผู้อำนวยความสะดวก ในการ “พูดคุยสันติสุข เพราะเปิดการพูดคุยอย่างเป็นทางการกับกลุ่ม “มาราปาตานี ซึ่งเป็นการร่วมตัวของขบวนการแบ่งแยกดินแดน 6 กลุ่มที่จะเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยสันติสุขกับตัวแทนรัฐบาลไทย
 
อันเป็นการพูดคุยที่แม้ว่าจะมีแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ร่วมเป็น 1 ใน 6 กลุ่มดังกล่าว แถมยังทำหน้าที่เป็นหัวหน้าการพูดคุยด้วย แต่ก็เป็นที่รับรู้กันมาโดยตลอดว่า ตัวแทนบีอาร์เอ็นฯ ที่เป็นผู้กุมกำลังฝ่ายทหาร และฝ่ายเยาวชนอย่าง “อับดุลเลาะ แวมะนอ” รวมถึง “มะแซ อุเซ็ง” และเลขาธิการขบวนการบีอาร์เอ็นฯ อย่าง “สะแปอิง บาซอ” ไม่เห็นด้วย และไม่เคยร่วมในกระบวนการพูดคุย นับตั้งแต่ยังเป็นการ “พูดคุยสันติภาพ” ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนถึงรัฐบาลของ คสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
 
การทำ “สงครามกองโจร” ของแนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ในวันที่ 13-14 มีนาคม จึงเป็นการประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการ “พูดคุยสันติสุข” ของกลุ่ม “มาราปาตานี” กับตัวแทนรัฐบาลไทย และเป็นการประกาศให้ประชาชนในพื้นที่เห็นว่า ขบวนการยังมีความพร้อมในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวเพื่อก่อเหตุร้ายได้อย่างเสรี
 
นอกจากจะเป็นการ “ดิสเครดิต หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่แล้ว ยังเป็นปฏิบัติการเพื่อ “กดหัว ประชาชนในพื้นที่ให้อยู่ใต้ “ความหวาดกลัว เพื่อมิให้ไปเป็น “มวลชนของรัฐ” และเพื่อ “ข่มขวัญ มิให้สนับสนุนงานด้าน “มวลชน” หรืองาน “การเมือง ของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งการกระทำของแนวร่วม แม้จะเป็นวิธีการที่ป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม แต่ก็ได้ผลในทาง “จิตวิทยา ในการควบคุมพื้นที่ และควบคุมมวลชน
 
ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงซึ่งจะต้องนำเอา “บทเรียนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มาประเมินสถานการณ์คือ ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า นับแต่นี้ต่อไป “โรงพยาบาล” คือ “จุดอ่อน ที่หน่วยงานความมั่นคงจะต้องมี “การบริหารจัดการ ในการให้ความคุ้มครอง แพทย์ พยาบาล บุคลากรและคนไข้ เพราะวันหนึ่งอาจจะตกเป็น “ตัวประกันเพื่อการ “ต่อรอง กับหน่วยงานของรัฐ
 
ต้องประเมินต่อไปว่า การที่ฐานปฏิบัติการทั้งของทหาร ตำรวจ และพลเรือนซึ่งอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการ เช่น โรงพยาบาล วัด โรงเรียน เขตชุมชนที่มีบ้านเรือนของประชาชนอยู่รายรอบ มีส่วนดีหรือส่วนเสียอย่างไร เพราะส่วนเสียที่เห็นชัดเจนคือ สถานที่ราชการ วัด มัสยิด รวมถึงบ้านเรือนของประชาชนจะได้รับผลกระทบ อีกทั้งประชาชนอาจจะถูกลูกหลง และมีทรัพย์สินเสียหาย หากแนวร่วมบุกเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการ ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็ได้เกิดขึ้นกับฐานปฏิบัติการ มว.นปพ.จ.ปัตตานี มาแล้วเมื่อ 32 สัปดาห์ที่ผ่านมา
 
หากการตั้งฐานปฏิบัติการใกล้สถานที่ราชการ บ้านเรือน ตลาด ร้านค้า โดยหวังเพียงมีความสะดวกสบายในการใช้ระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ เช่น การต่อน้ำ ต่อไฟฟ้ามาใช้ในฐาน และอยู่ใกล้แหล่งอาหารการกิน หรืออาจจะเห็นว่าการได้อยู่ใกล้ชิดประชาชน แล้วประชาชนในพื้นที่จะเป็น “เกราะกำบัง” หรือเป็น “รั้วคนให้ เกี่ยวกับเรื่องนี้เห็นทีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ต้องมีการประเมินกันใหม่อีกครั้ง
 
สิ่งสำคัญที่ต้องมีการ “ยกเครื่อง” กันอย่างจริงจังคือ เรื่องของ “การข่าวในพื้นที่” ซึ่งเมื่อมีการตั้งฐานปฏิบัติการ ย่อมต้องมีการ “ทำการข่าว” ให้มีประสิทธิภาพ เพราะจะสังเกตว่าก่อนเกิดเหตุในวันที่ 13-14 มีนาคมที่ผ่านมา “หน่วยข่าว” มีการแจ้งเตือนอย่างถี่ยิบ แต่ “หน่วยงานในพื้นที่” กลับไม่มีข่าวของฝ่ายตรงข้ามแม้แต่แอะเดียว
 
ถ้าการทำหน้าที่ของ “ฐานปฏิบัติการในพื้นที่” ยังคงเป็นอย่างนี้ สถานการณ์แบบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเมื่อวันที่ 13-14  มีนาคม ก็คงไม่ใช่เป็นแค่เหตุการณ์แรก ซึ่งยังจะมีเกิดขึ้นติดตามมาอีกมากมาย อีกทั้งคำพูดที่ว่า “ไฟใต้กำลังจะมอดดับ” หรือ “สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว” สิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นได้แค่คำพูดเพื่อปลอบใจกันเองเท่านั้น
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น