xs
xsm
sm
md
lg

“พาคนกลับบ้าน” หรือ “พาโจรกลับบ้าน”?! คำตอบอยู่ที่การก่อวินาศกรรมของ “นักรบรุ่นใหม่” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
------------------------------------------------------------------------------------------------
 
 
สถานการณ์การโจมตีตำรวจที่ สภ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อปลายเดือน มี.ค.ของโจรใต้ ซึ่งทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 ศพ และบาดเจ็บอีก 4 ราย และตามติดมาด้วยการโจมตีจุดตรวจหน้าตลาดกรงปีนัง อ.กรงปีนัง จ.ยะลา อันเป็นการโจมตีเพื่อสร้างความสูญเสียให้แก่ “หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ” เป็นด้านหลัก
 
ทั้งนี้ โจรใต้ได้เลือกเป้าหมายที่ง่ายต่อการโจมตี เพราะที่ตั้งของโรงพัก และที่ตั้งของจุดตรวจทั้ง 2 แห่งดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่เป็น “จุดอับ เนื่องจากอยู่ติดกับบ้านเรือนของประชาชน จึงทำให้โจรใต้ได้เปรียบในการทำสงครามแบบ “อสมมาตร” ใช้กำลังน้อยเข้าโจมตี และล่าถอยอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียกว่าการรบแบบ “กองโจร เมื่อสร้างความสูญเสียให้แก่ฝ่ายตรงข้ามแล้วก็ล่าถอยในทันที
 
สำหรับการโจมตีจุดตรวจที่ตลาดกรงปีนัง ยังถือเป็นโชคดีที่นายตำรวจระดับ “สารวัตร สภ.กรงปีนัง ที่นำลูกน้อง 4 คน ขับรถหุ้มเกราะบุกตะลุยเข้าช่วยเหลือกองกำลังที่ถูกปิดล้อมอยู่ได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จุดตรวจ หรือฐานปฏิบัติการจะถูกโจรใต้ “ละลาย และเก็บอาวุธไปได้
 
การโจมตีเป้าหมายจุดตรวจ หรือฐานปฏิบัติการ และที่ทำการของราชการที่ผ่านมา แม้จะสร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นก็จริง แต่เป็นการสูญเสียที่เป็น “ปัจเจก กล่าวคือ ตำรวจตายก็เป็นความสูญเสียของตำรวจ ทหารตายก็เป็นความสูญเสียของทหาร ผลการโจมตีจึงไม่ได้กระทบเป็นวงกว้าง
 
ไม่เหมือนการโจมตีสิ่งสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ เช่น การระเบิดเส้นทางรถไฟ ที่ทำให้การคมนาคมหยุดชะงัก ประชาชนผู้อาศัยการเดินทางด้วยรถไฟได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง แต่ก็ยังมีทางเลือกที่จะใช้รถประจำทางในชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะลำบากขึ้น แต่ก็ยังสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้
 
แต่การก่อวินาศกรรม “เสาไฟฟ้าแรงสูง” ที่เกิดขึ้นเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 6 เม.ย.ต่อเนื่องถึงวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา นั่นเป็นการก่อวินาศกรรมสิ่งสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดความสูญเสียขึ้น ผลกระทบจะเกิดเป็น “วงกว้าง” โดยเดือดร้อนทั้งแต่คนระดับ “รากหญ้า” ไปจนถึงพวกที่อยู่บน “หอคอยงาช้าง” เพราะ “ระบบไฟฟ้า” คือสิ่งสำคัญทั้งต่อการดำรงชีวิตของผู้คน และวงการอุตสาหกรรม
 
“ไฟฟ้าดับทั้งเมือง” จึงเป็นเรื่องที่ต้องตื่นตกใจ และสร้างความโกลาหลให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน นอกจากนั้น ในการป้องกันหรือการแก้ไขสถานการณ์ รวมถึงการเคลื่อนกำลังเข้าต่อสู้ และช่วยเหลือประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐก็ยากลำบากมากขึ้นด้วย
 
อย่าแค่ไฟฟ้าดับจนกลายเป็นคืน “กาฬปักษ์เลย แม้แต่คืนที่ระบบไฟฟ้าไม่ได้ถูกก่อวินาศกรรม แต่มีเหตุโจมตีหน่วยงานต่างๆ เกิดขึ้น กำลังชุดต่างๆ ที่จะเข้าไปให้การสนับสนุน หรือช่วยเหลือก็ยังไม่กล้าที่จะเคลื่อนพลจากที่ตั้ง เพราะกุมสภาพของพื้นที่ไม่ได้ว่า โจรใต้จะมีการซุ่มโจมตี หรือวางระเบิดแสวงเครื่อง และโปรยตะปูเรือใบไว้ที่ไหนบ้าง
 
การออกมาช่วยเหลือ หรือสนับสนุนฐานปฏิบัติการที่ถูกโจมตี ถ้าทำแบบ “สุ่มสี่สุ่มห้า” เมื่อไหร่ นั่นหมายถึงความสุ่มเสี่ยงในการสูญเสียแบบ “ยกกำลัง 2” เพราะฉะนั้นในหลายครั้งจะเห็นว่าหน่วยงานความมั่นคงยอมที่จะถูก “ละลายฐาน ที่ถูกโจมตี ดีกว่าการส่งกำลังออกไปสนับสนุนแล้วสูญเสียซ้ำสอง
 
การโจมตีสิ่งสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ คือ การก่อวินาศกรรม “เสาไฟฟ้าแรงสูง” ครั้งนี้ของโจรใต้ จึงเป็นการทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบของ “สงครามประชาชน” ที่หมายมุ่งในการสร้างความสูญเสียให้แก่ธุรกิจการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทุกหย่อมย่าน ที่ต้องผจญต่อการเกิดไฟฟ้าดับ
 
แม้ว่าการโจมตีในครั้งนี้จะไม่มีการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน แต่มีแต่ความสูญเสียของรัฐคือ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ” ที่จะต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมให้สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้ากลับคืนมาได้
 
ดังนั้น เมื่อโจรใต้มีเป้าหมายในการก่อวินาศกรรมระบบไฟฟ้าแรงสูงได้ ในอนาคตโจรใต้ก็อาจจะก่อวินาศกรรมสิ่งสาธารณูปโภค-สาธารณูปการอื่นๆ ได้เช่นกัน เพื่อที่จะได้สร้างความเดือดร้อนให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ และแสดงถึง “ศักยภาพ” ของการทำ “สงครามกองโจร” เพื่อทำลายความเชื่อมั่นของผู้คนในพื้นที่ ต่อ “อำนาจรัฐ” และเป็นการข่มขวัญ “มวลชน” ที่ไม่ใช่แนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
 
หลังการก่อวินาศกรรมเสาไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในครั้งนี้ แม้ทางหนึ่งประชาชนจะ “ก่นด่า และอาจจะ “สาปแช่ง(ในใจ )” ต่อโจรใต้ที่สร้างความเสียหาย และความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นก็จริงอยู่ แต่เสียงเหล่านั้นบางส่วนก็ทำให้ทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. ต้องรับฟังไว้ให้ดี และฟังแล้วก็ต้อง “สำเหนียก ด้วย
 
อย่างไรก็ตาม มีเสียงก่นด่า “หน่วยงานความมั่นคง” ที่ไม่สามารถป้องกันเหตุมิให้เกิดขึ้น แถมหลังเกิดเหตุก็ไม่สามารถที่จะตอบโต้เพื่อสร้างความสูญเสียให้แก่โจรใต้ได้ด้วย
 
โดยเชื่อว่ากำลังของโจรใต้ที่ก่อเหตุในครั้งนี้ต้องมีกว่า 100 คน ซึ่งการเคลื่อนไหวของคนจำนวนนี้ในกว่า 20 อำเภอ ของพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย และจะนะ นั้น ต้องถามว่า “งานการข่าว” ในพื้นที่ไม่มีที่จะรู้เรื่องแม้แต่ “สักแอะเดียว” เลยละหรือ
 
และมีคำถามที่ติดตามมาว่า ที่ว่าสถานการณ์พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ “ดีขึ้น” โดยฝ่ายการข่าวได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่มากขึ้นนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่?!
 
รวมทั้งที่บรรดา “นายพล” บางคนเคยให้สัมภาษณ์ว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนอ่อนแอลง ทั้งในเรื่องอุดมการณ์ และกองกำลัง เรื่องราวเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่?!
 
เนื่องเพราะเท่าที่รู้ๆ กันนั้น เรารู้แต่เพียงว่าในขณะที่โครงการ “พาคนกลับบ้าน ได้ผลในระดับที่ “ผู้ใหญ่ในกองทัพพอใจ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่ “ล้มเหลว คือ การที่หน่วยงานความมั่นคงยังไม่สามารถสกัดกั้นมิให้คนรุ่นใหม่เข้าไปเป็นโจรใต้ได้
 
นั่นจึงยังไม่ใช้คำตอบที่ถูกต้องว่า เมื่อมีการ “พาโจรกลับบ้าน” ได้แล้ว เหตุการณ์จะ “ลดน้อย” เพราะจำนวนผู้ที่ถูกนำเข้าสู่ขบวนการเพื่อเป็น “โจรใต้” อาจจะมากกว่า “โจรที่ถูกพากลับบ้าน”
 
สังเกตได้จากการสอบถามชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์การเผายางรถยนต์ การวางเพลิง การวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งได้บอกรูปพรรณสัณฐานของคนร้ายว่าเป็น “คนอายุประมาณ 20-30 ปี” แต่งกายด้วยชุดดำทั้งชุด นั่นคือลักษณะของ “นักรบ ที่ถูกฝึกมาอย่างดีเพื่อให้เป็นโจรโดยเฉพาะ
 
และที่สำคัญคือ เป็นโจรที่ไม่กลัวตาย ไม่กลัวความสูญเสีย ไม่กลัวการถูกวิสามัญ และพร้อมที่จะเดินเข้าคุกเมื่อถูกจับกุม
 
แล้ววันนี้ก็เป็นอีกวันที่ “ผู้มีอำนาจ” ไม่กล้าบอกว่า สาเหตุของการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ใน 4 จังหวัดมาจากสาเหตุอะไร!!
 
เป็นสาเหตุมาจากเรื่อง “วิสามัญโจรใต้ 2 ศพ” ที่บ้านโคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส หรือเป็นการแสดงข้อเท็จจริงของสถานการณ์ให้ “อาคันตุกะ ที่เป็นมุสลิมจากประเทศอียิปต์ที่เดินทางมาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเป็นการสร้างสถานการณ์ในเดือนที่มี “วันสัญลักษณ์ ของรัฐไทย หรือเป็นการแสดง “อารมณ์ร่วม ในเรื่อง ม.44 ที่สั่งห้ามนั่งในแค็บรถยนต์กระบะ และนั่งท้ายกระบะ
 
หรือแท้จริงแล้วเป็นเพราะ “คำตอบ” ของ “โจทย์ นี้อาจจะ “ถูกทุกข้อ” ก็ได้ และอาจจะ “ผิดทุกข้อ” ก็ได้ เนื่องจากสาเหตุการก่อการร้ายของจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่อง “กำปั้นทุบดินที่จะเอากำปั้นไปทุบลงตรงไหนก็เจอคำตอบตรงนั้น
 
แต่สิ่งที่อยากบอกคือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะ “เล็ก” หรือ “ใหญ่” อย่าวัดกันที่ “ไม่มีคนตาย และถือว่าเป็นเรื่องจิ๊บๆ แต่ต้องดูที่วิธีการของโจรใต้ ต้องดูที่ความเสียหายที่ได้รับ อย่างการก่อวินาศกรรมครั้งนี้ไม่มีคนตาย ทั้งเจ้าหน้าที่ และประชาชน และสรุปว่าโจรไต้แค่ต้องการเพียง “ก่อกวนหรือสร้างสถานการณ์เพื่อแสดง “ตัวตน เท่านั้น
 
เพราะโดยข้อเท็จจริง 13 ปีที่ผ่านมา โจรใต้ไม่เคยแสดงตัวตนมาก่อนว่าเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนไหนระหว่าง “พูโล” หรือ “บีอาร์เอ็น” หรือ “บีไอพีพี” ฯลฯ
 
สิ่งสำคัญที่สุดคือ หน่วยงานที่รับผิดชอบจะสร้างความมั่นใจให้คนในพื้นที่ได้อย่างไรว่า เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก ทั้งในส่วนของการก่อวินาศกรรม “เสาไฟฟ้า” และ “สิ่งสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ” อื่นๆ
 
วันนี้คนในพื้นที่ไม่ได้ต้องการขออะไรมากไปกว่า “ขอความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน”!!!!
 
ส่วนโครงการอื่นๆ เช่น “โครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง” หรืออะไรทำนองนี้ สิ่งเหล่านี้ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ดี เพราะถ้าชีวิตยังเอาตัวไม่รอด ประชาชนก็มองไม่เห็นว่าจะ “มั่นคง มั่งคั่ง” ได้อย่างไร?!?!
กำลังโหลดความคิดเห็น