ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) จับมือ PMAT พัฒนาอาชีพงาน HR สู่มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้เป็นวิชาชีพเหมือนทนายความ มีใบอนุญาต เพราะหากบริหารผิดพลาดจะมีผลกระทบต่อองค์กรอย่างมาก
วันนี้ (11 มี.ค.) ที่โรงแรมเพิร์ล ภูเก็ต นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี รอง ผวจ.ภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนาสร้างศักยภาพการแข่งขันขององค์องกรด้วยระบบคุณวุฒวิชาชีพ และมาตรฐานอาชีพ Building Competitive Advantage by Professional Qualification ภูเก็ต เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร สร้างความเข้าใจต่อนักบริหารทรัพยากรบุคคล และผู้บริหารขององค์กรในพื้นที่ภาคใต้ โดยมี นายวีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นายนเรศ ศรีนาค ประธานชมรมนักบริหารงานบุคคลจังหวัดภูเก็ต นักบริหารทรัพยากรบุคคล และผู้บริหารขององค์กรในพื้นที่ภาคใต้ หน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายวีรระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า งานสัมมนาครั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลความสำคัญของระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันขององค์กรด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ภายหลังจากสถาบันซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของรัฐ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภครัฐบาล และเอกชน ในการยกระดับการประเมินทักษะความรู้ ความสามารถกำลังของชาติ ให้สอดคล้องต่อความต้องการของสถานประกอบการ ที่เน้นสมรรถนะในการทำงาน เพื่อปรับตัวสู่การแข่งขันที่เสรีที่จะเกิดขึ้น ในการจัดทำกรอบ และหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดคุณวุฒิวิชาชีพระดับต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานในระดับสากล
“ปัจจุบันมาตรฐานอาชีพเป็นสิ่งสำคัญในการก้าวไปข้างหน้า ปัจจุบันเรามีการรับรองมาตรฐานอาชีพแล้ว 36 มาตรฐานอาชีพ มีคุณวุฒิวิชาชีพ 483 คุณวุฒิ ซึ่งเกิดมาจากความร่วมมือของคนในสาขาอาชีพ เพื่อนำมาใช้ในการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพให้ได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งคุณวุฒิวิชาชีพถือเป็นอีกเกณฑ์มาตรฐานหนึ่งที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศไทยในอนาคต เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน มีความชำนาญในวิชาชีพ และพัฒนาไปตามเส้นทางอาชีพได้อย่างเหมาะสม พร้อมรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป” นายวีระชัย กล่าว
ด้าน นายนเรศ ศรีนาค ประธานชมรมนักบริหารงานบุคคล จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้ทางชมรมได้ร่วมกันกระจายข่าวเพื่อให้สมาชิกในพื้นที่กว่า 200 องค์กรเข้าร่วมพัฒนาศักยภาพแล้ว เนื่องจากเห็นถึงความจำเป็นในการแข่งขันเสรี ถ้า HR ยังไม่มีมาตรฐานสากล แล้วจะเข้าสู่ AEC ได้อย่างไร ผลที่ตามมาจะกระทบต่อองค์กร และสถานประกอบการชัดเจน ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้เฉพาะสถานประกอบการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีจำนวน 2,000-3,000 แห่ง และปัญหาใหญ่ขณะนี้คือ โรงแรม สถานประกอบการทุกแห่งขาดคนทั้งฤดูกาลท่องเที่ยว และไม่ใช้ฤดูกาลท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดการศึกษาสายอาชีพ และอาชีวศึกษาล้มเหลว คนเรียนสายอาชีพมุ่งเรียนเพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาตรี และระดับที่สูงกว่า ทำให้เป้าหมายในการจัดการศึกษาเพื่อผลิตคนเข้าสถานประกอบการของอาชีวศึกษาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
พื้นที่ภาคใต้ ภูเก็ต และอันดามัน ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ มีความต้องการคนมาบริการความขาดแคลนในทุกสายทุกตำแหน่ง ทุกบริษัททุกโรงแรมยังคงประกาศรับตลอดเวลา ซึ่งการแก้ปัญหาของชมรมนักบริหารงานบุคคลเรา คือ ประสานความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการ แชร์ตำแหน่งที่มีผู้มายื่นประวัติไว้ในกลุ่มบริหารงานบุคคล ใครมีความต้องการตำแหน่งนั้นๆ ก็สามารถติดต่อประสานงานเรียกตัวมาสัมภาษณ์กับผู้หางานได้ทันที ฉะนั้นงานบริหารงานบุคคลปัจจุบันจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างมาก หลังจากที่ยุคหลัง เมื่อ HR มีการเติบโตในยุคขาดแคลน แต่ขาดประสบการณ์ ขาดความรู้ มืออ่อน ไม่เข้าใจศาสตร์ของ HR อย่างแท้จริง บางคนกฎหมายแรงงานยังไม่รู้เลย แต่ขึ้นไปอยู่ในระดับผู้จัดการ ถือว่ามือยังไม่ถึง
“นักบริหารทรัพยากรบุคคลมืออาชีพต้องมีประสบการณ์อย่างน้อย 10 ปี ถ้าไม่เก่งจริงจะทำให้องค์กรมีปัญหาล้าสมัย คนที่จะมาทำงาน HR ต้องรู้กฎหมายแรงงาน กฎหมายบุคคล กฎหมายแพ่งและพานิชย์ รวมทั้งมีการสอนงานกันเป็นทีมในการบริหารสวัสดิการให้เกิดประโยชน์ต่อพนักงานมากที่สุดตามสมควร ไม่ใช่ปล่อยให้บริษัทไม่มีสวัสดิการใดๆ ต่อพนักงาน เพื่อประหยัดงบประมาณ คนเป็น HR ต้องสร้างความสมดุลต่อทุกฝ่าย ตั้งแต่นายจ้าง ผู้จัดการ พนักงาน หรือสหภาพแรงงาน ซึ่งการนำสาขาอาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลเข้าสู่มาตรฐานวิชาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพนั้นจะช่วยให้รู้ว่าคุณอยู่ระดับไหนบ้าง ทุกคนจำเป็นต้องเข้ามาประเมิน ตั้งแต่พนักงานฝ่ายบุคคล ผู้จัดการฝ่ายบุคคล หรือผู้บริหารระดับสูงเพื่อเป็นมาตรฐานที่ถูกต้อง เพราะคนทำงาน HR ในโรงแรม 5 ดาวไม่ได้หมายความว่าเก่ง และมีมาตรฐานสูงกว่าคนอื่นๆ ฉะนั้น หลังจากนี้ตนเห็นควรให้มีการผลักดันให้ HR เป็นวิชาชีพเหมือนทนายความ มีใบอนุญาต เพราะถ้าบริหารผิดพลาดจะมีผลกระทบต่อองค์กรอย่างมาก” นายนเรศ กล่าว
ในส่วน ศ.ดร.จำเนียร จวงตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาวิชาชีพทรัพยากรบุคคล สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) กล่าวว่า ระยะเวลาเกือบ 50 ปี ที่สมาคมมีการพัฒนาให้งานบริหารงานบุคคลเป็นที่ยอมรับ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่เห็นภาพชัดเจนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสมาคมได้เข้ามาจัดการอบรม และกำหนดหลักเกณฑ์ให้คนทำงานด้านนี้ได้รับการยอมรับจากบริษัท ราชการ และลูกจ้าง จนมีการก่อตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และอาชีพนี้ก็ได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมในการพัฒนามาตรฐานอาชีพอย่างจริงจัง เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน จนสามารถทำมาตรฐานเสร็จแล้ว คาดว่าจะพร้อมเข้าสู่กระบวนการทดสอบ และประเมินผลได้ในช่วงกลางปีนี้
“จากตัวเลขของบริษัทที่ขึ้นทะเบียนไว้ต่อหน่วยงานรัฐกว่า 35,000 แห่ง ซึ่งบริษัททั่วไปที่มีพนักงาน 100 คนต่อ HR อย่างน้อย 1 คน จึงคาดการณ์ว่า จะมีคนทำงานในสาขาอาชีพบริหารงานบุคคลประมาณ 600,000-700,000 คน ที่ผ่านมาเราเคยนำคนเหล่านี้มาทดสอบตามมาตรฐานของ PMAT ซึ่งมีคนผ่านแค่ประมาณ 30% เท่านั้น ชี้ให้เห็นว่า คนที่ทำงานด้านนี้ไม่มีมาตรฐาน ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วละมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างองค์ความรู้ให้แก่คนในสาขาอาชีพนี้โดยการฝึกอบรม สัมมนา ยกระดับความรู้ เพื่อเข้าสู่ระบบการทดสอบและประเมินตามาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นมาตรฐานของประเทศที่ทัดเทียมกับต่างประเทศ” ศ.ดร.จำเนียร กล่าว
สำหรับโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ การบริหารทรัพยากรบุคคล ระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกับสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ในการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น เพื่อดำเนินการศึกษา การประเมินสมรรถนะวิชาชีพ (Competency - Based Assessment) ที่เหมาะสม ให้เป็นไปตามหลักการประเมินสมรรถนะวิชาชีพที่ดี อันประกอบด้วย ความเป็นธรรม ความเที่ยงตรง การมีความเชื่อมั่น และมีความสามารถที่จะปฏิบัติงานได้ โดยแบ่งขั้นคุณวุฒิวิชาชีพ เป็น 4 ขั้น ประกอบด้วย ชั้นคุณวุฒิวิชาชีพชั้น 3 ผู้ปฎิบัติงาน, ชั้น 4 ผู้เชี่ยวชาญ, ชั้น 5 ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส และชั้น6 ผู้ชำนาญการพิเศษ